โรคมะเร็งเป็นหนึ่งในโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ และมักจะถูกตรวจพบเมื่อมีอาการของระยะที่ 4 ปรากฏขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นระยะที่การรักษามีความยากลำบากมากขึ้น ผลการวิจัยพบว่ากว่าร้อยละ 60%-70% ของผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งนั้นมีอายุมากกว่า 60 ปี สาเหตุสำคัญมาจากการใช้ชีวิต พฤติกรรมซ้ำเดิมเป็นเวลานาน ความเสื่อมของระบบภูมิคุ้มกัน และการได้รับสารก่อมะเร็งสะสมมาเป็นระยะเวลายาวนาน ด้วยเหตุนี้ จึงพบโรคมะเร็งในกลุ่มผู้สูงอายุได้มากกว่าช่วงวัยอื่น
วันนี้ Saijai.co จึงจะมาพูดถึง 5 โรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ พร้อมทั้งอธิบายถึงสาเหตุ อาการ และวิธีการป้องกัน เพื่อให้ผู้สูงอายุและครอบครัวได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพและการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งอย่างสม่ำเสมอ การรู้เท่าทันโรคและการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการรักษาหากพบความผิดปกติในระยะเริ่มต้น
5 โรคมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ
แม้ว่าการเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งจะเกิดขึ้นได้หลายส่วนของร่างกายก็ตาม แต่สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มักพบ 5 โรคมะเร็งในผู้สูงอายุต่อไปนี้ได้มากที่สุด
1. โรคมะเร็งตับ
โรคมะเร็งตับในผู้สูงอายุเป็นโรคที่พบมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของเพศชาย แต่ในเพศหญิงเองก็เกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะเป็นโรคที่อันตรายต่อชีวิต แต่ก็สามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบเร็ว หรือให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพประจำปี การให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพก็เป็นวิธีช่วยลดความเสี่ยงของการป่วยด้วยโรคมะเร็งตับได้
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
-
- ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ
- ผู้ที่รับประทานยาบางชนิดเป็นประจำ โดยเป็นยาที่มีผลต่อตับโดยตรง
- ผู้ป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี
- ผู้มีภาวะตับแข็ง
- ผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับ
อาการโรคมะเร็งตับ
-
- จุกแน่น มีอาการท้องผูก ท้องโต
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
- ตัวเหลือง ตาเหลือง
- ปัสสาวะมีสีเข้มผิดปกติ
- ปวดท้องบริเวณข้างขวาชายโครงส่วนบนบ่อยครั้ง
การป้องกันมะเร็งตับ
-
- งด หรือละเว้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
- เลี่ยงการใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น กรรไกรตัดเล็บ เข็มฉีดยา
2. โรคมะเร็งปอด
โรคมะเร็งในผู้สูงอายุอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยเกิดขึ้นได้กับทั้งเพศชาย และเพศหญิงโดยมะเร็งปอดเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะมาพร้อมอาการที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งมีระยะลุกลามที่รวดเร็ว หากกระจายไปยังอวัยวะอื่นจะทำให้การรักษาทำได้ยาก ดังนั้นผู้สูงอายุจึงต้องคอยให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันมะเร็งปอดให้มากที่สุด
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
-
- การสูบบุหรี่จัดเป็นระยะเวลานาน และต่อเนื่อง
- ควันบุหรี่มือสอง แม้ไม่ได้เป็นผู้สูบบุหรี่เอง แต่ผู้ที่ได้สูดดมควันบุหรี่เป็นประจำก็มีความเสี่ยง
- สูดดมสารก่อมะเร็งในระยะเวลานาน เช่น แร่เรดอน นิกเกิล โครเมียม เป็นต้น
- สภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ เช่น ฝุ่น PM2.5
- พันธุกรรม มีคนในครอบครัวเจ็บป่วยด้วยมะเร็งปอดตั้งแต่อายุยังน้อย
อาการโรคมะเร็งปอด
-
- ไอเรื้อรัง มีเสมหะปนเลือด
- หายใจลำบาก เหนื่อยหอบง่าย
- เจ็บหน้าอกตลอดเวลา
- หายใจมีเสียงหวีด หายใจได้สั้น
- ปอดติดเชื้อง่าย
- เสียงแหบ
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียแม้ทำกิจกรรมเล็กน้อย
- น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
การป้องกันมะเร็งปอด
-
- ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่
- ตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำ
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เช่น เดิน หรือปั่นจักรยาน
- หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษจากทั้งควันบุหรี่ และฝุ่นละออง หรือสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง
- ทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกัน
3. โรคมะเร็งเต้านม
โรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้สูงอายุเพศหญิง และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ของหญิงไทย การตรวจพบโรคมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้ อีกทั้งการทำความเข้าใจในการตรวจหาด้วยตัวเองแบบเบื้องต้น ยังช่วยลดความเสี่ยงของการลุกลามไปสู่ระยะที่มีอาการรุนแรงมากขึ้นได้
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
-
- ผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป
- พันธุกรรม ประวัติเคยมีคนในครอบครัวป่วยด้วยมะเร็งเต้านม
- ผู้ที่เคยมีประวัติพบเนื้องอกเต้านมบางชนิด
- การกลายพันธุ์ของยีนที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- ผู้มีประจำเดือนมาก่อนอายุ 12 ปี หรือประจำเดือนหมดช้าหลังอายุ 55 ปี
- ผู้ที่ไม่มีลูกเมื่อเลยวัย 30 ปี
- ผู้ที่รับประทานฮอร์โมนเพศหญิง หรือยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน
อาการโรคมะเร็งเต้านม
-
- เมื่อคลำเจอก้อนเนื้อที่เต้านมหรือบริเวณรักแร้
- ผิวหนังเต้านมมีความผิดปกติ เช่น มีความหนา หรือมีความบางมากกว่าเดิม
- หัวนมแดง มีน้ำหนอง หรือเลือดไหลออกมา
- เจ็บบริเวณเต้านม
- มีรอยบุ๋มหรือแผลที่บริเวณเต้านม
- เกิดความเปลี่ยนแปลงของรูปร่างเต้านม
การป้องกันมะเร็งเต้านม
-
- ตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละครั้ง
- ตรวจคัดกรองด้วยแพทย์
- ตรวจสุขภาพประจำปี
- รักษาสุขภาพอยู่เสมอ หากิจกรรมผ่อนคลาย ลดความเครียด
4. โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
โรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้สูงอายุเพศชาย เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยที่ทำให้เซลล์ของต่อมลูกหมากมีความเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ เมื่อมีอาการมากขึ้นจะทำให้เกิดการปัสสาวะติดขัด และหากเซลล์เริ่มโตและแบ่งตัวอาจกระจายไปสู่อวัยวะส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ตับ ปอด กระดูก หรือไตได้ หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
-
- ผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
- คนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เนื้อแดง ปริมาณมากเป็นประจำ และทานต่อเนื่องหลายปี
- ผู้ที่ขาดการออกกำลังกายเป็นเวลานาน
- ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
อาการโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
-
- เวลาปัสสาวะแล้วรู้สึกติดขัดทำได้ลำบาก
- ปัสสาวะแล้วไม่พุ่ง บางรายอาจมีปัสสาวะราดเท้า
- มีเลือดปนในปัสสาวะ หรืออสุจิ
- เมื่อหลั่งอสุจิแล้วมีความรู้สึกปวดปัสสาวะร่วมด้วย
- ปวดปัสสาวะบ่อยเวลากลางคืน
การป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก
-
- ตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นประจำ
- ตรวจสุขภาพประจำปี
- ดูแลสุขภาพ ทั้งการออกกำลังกายเป็นประจำ ลดความเครียด ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- เลิกสูบบุหรี่
5. โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
สำหรับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้สูงอายุทั้งชายและหญิง และเกิดขึ้นจากพฤติกรรมของการรับประทานอาหาร รวมทั้งช่วงวัยที่มากกว่า 50 ปีขึ้นไปมักมีความเสี่ยงต่อโรคมากขึ้นด้วย ที่สำคัญคือโรคนี้ผู้ป่วยมักจะทราบเมื่อแสดงอาการที่รุนแรง ซึ่งตรวจพบเป็นระยะลุกลามแล้ว ทำให้โอกาสในการรักษาลดลง และอาจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
-
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
- มีคนในครอบครัวเจ็บป่วยเรื้อรังเกี่ยวกับโรคลำไส้ หรือมีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้มาก่อน
- ทานเนื้อสัตว์ปริมาณมากในแต่ละครั้ง
- ทานผักน้อย
- มีอาการท้องผูกอยู่เป็นประจำ
- ขาดการออกกำลังกายเป็นเวลานาน
- สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
อาการโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
-
- อุจจาระมีมูกปน หรือมีเลือดออกทางทวารหนัก
- ปวดท้องบริเวณท้องน้อย
- อุจจาระมีขนาดที่ลีบเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด
- มีความผิดปกติในการขับถ่ายเป็นประจำ เช่น ท้องผูกสลับท้องเสีย
- ท้องอืด อาเจียน ร่วมกับอาการปวดท้องเป็นประจำ
- คลำพบก้อนที่บริเวณท้องน้อยด้านขวา
- มีอาการซีด
- น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว เบื่ออาหาร
การป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่
-
- รับประทานอาหารให้หลากหลาย เพิ่มเติมการทานผัก ผลไม้ ที่มีกากใหญ่สูง อาหารที่มีไขมันต่ำ
- ตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำ
- ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ไม่ควรกลั้นเมื่อรู้สึกต้องการขับถ่าย
สรุป โรคมะเร็งในผู้สูงอายุ ป้องกันได้ถ้าใส่ใจสุขภาพ
จากข้อมูลที่กล่าวมานับว่าโรคมะเร็งในผู้สูงอายุล้วนเป็นโรคมะเร็งที่มีความน่ากังวลในเรื่องของอาการ และผลลัพธ์ที่มีอันตรายต่อชีวิต แต่ก็เห็นได้ว่าโรคมะเร็งสามารถรักษาและป้องกันได้ แค่ให้ความสำคัญในเรื่องของการตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจคัดกรองมะเร็งตามความเสี่ยง ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้นทั้งการกินและการใช้ชีวิต เพียงเท่านี้ก็สามารถมีชีวิตในวัยหลังเกษียณได้อย่างมีความสุข ด้วยสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงพร้อมต่อสู้กับความเจ็บป่วยได้อย่างแน่นอน
สำหรับผู้สูงอายุ หรือครอบครัวที่กำลังมองหาบ้านพักสำหรับคนวัยเกษียณ หรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ที่ Saijai.co เราได้รวบรวมมาให้คุณสามารถค้นหาได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเลือกได้ตรงใจกับความต้องการ บนทำเลใกล้บ้าน
หรือท่านที่สนใจในเรื่องราวของสุขภาพ การดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคร้าย เราได้รวบรวมบทความมาไว้เป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพเอาไว้ให้ที่นี่แล้ว เพราะทุกความต้องการของคุณคือเรื่องสำคัญที่เรา ‘ใส่ใจ’