โรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากมีอัตราการเกิดโรคได้สูงและมีผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิต การทำความเข้าใจว่าโรคหลอดเลือดสมองหรืออาการ stroke คืออะไร? มีสาเหตุ อาการ และวิธีป้องกันอย่างไร? จะเป็นกุญแจสำคัญในการลดความเสี่ยงและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้ ดังนั้นในบทความนี้เราจะพาคุณไปสำรวจข้อมูลเหล่านี้กัน เพื่อเป็นคำแนะนำในการดูแลผู้สูงอายุให้สามารถป้องกันและรักษาได้อย่างทันท่วงที
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คืออะไร?
โรคหลอดเลือดสมองหรือที่เรียกกันว่าอาการสโตรก (stroke) คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดหรือมีเลือดออกที่สมอง ทำให้เซลล์สมองขาดออกซิเจน และส่งผลให้สมองบางส่วนหรือทั้งหมดมีอาการผิดปกติได้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกันคือ
1.โรคหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic Stroke)
โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือเส้นเลือดในสมองตีบตัน เกิดขึ้นจากเส้นเลือดในสมองเกิดการอุดตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ อาจเกิดขึ้นได้ทั้ง หลอดเลือดตีบจากการสะสมของไขมัน หรือการอุดตันของลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นจากหัวใจไปอุดตันหลอดเลือดสมอง
2.โรคหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke)
ส่วนโรคหลอดเลือดสมองแตกหรือโรคเส้นเลือดแตกในสมอง เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางจากภาวะความดันเลือดสูง หรือเสียความยืดหยุ่นจากการสะสมของไขมันในเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดในสมองแตก ส่งผลให้สมองในบริเวณนั้นเกิดความเสียหาย
เนื่องจากผู้สูงอายุมีเส้นเลือดที่เปราะบางจากการเสื่อมของร่างกายไปตามวัย ทำให้โรคหลอดเลือดสมองหรืออาการ stroke มีความสำคัญเป็นอย่างมากในกลุ่มผู้สูงอายุ และอาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือ การเสียชีวิตได้ในกลุ่มผู้สูงอายุ การเข้าใจและป้องกันโรคหลอดเลือดสมองจึงมีความสำคัญมากในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและยืนยาว
โรคหลอดเลือดสมองเกิดจากอะไร?
โรคหลอดเลือดสมองเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมอง ที่มีอาการตีบหรืออุดตัน อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก แบ่งออกเป็นปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยส่งเสริมได้ดังนี้
4 โรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
- โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) โรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สุดของโรคหลอดเลือดสมองหรือ Stroke เพราความดันโลหิตสูง จะทำให้หลอดเลือดทำงานหนัก ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดหนาตัวขึ้นและรูของหลอดเลือดแดงจะแคบลง จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่ทำให้หลอดเลือดเสื่อมและแตกได้ง่าย
- โรคเบาหวาน (Diabetes) ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดที่ไม่มีสมดุล ทำให้เกิดการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดตามมา
- โรคอ้วน (Obesity) ในกลุ่มผู้ป่วยโรคอ้วนหรือคนที่มีภาวะน้ำหนักตัวมากจะมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งในปกติอินซูลินจะมีผลให้หลอดเลือดขยาย ทำให้เมื่อผู้ป่วยโรคอ้วนเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ก็จะส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงตามมาเช่นกัน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง
- โรคหัวใจ (Heart Disease) โรคหัวใจเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองที่สำคัญ เพราะภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจะทำให้เกิดลิ่มเลือดไหลไปอุดตันที่หลอดเลือดสมองได้ นอกจากนี้ ความดันโลหิตสูงจากโรคหัวใจจะทำให้เส้นเลือดเสื่อมสภาพและเพิ่มความเสี่ยงต่อการแตกหรืออุดตันของหลอดเลือดสมองได้เช่นกัน
ปัจจัยที่ส่งเสริมโรคหลอดเลือดสมอง
- การสูบบุหรี่ (Smoking) การสูบบุหรี่จะทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองตีบและเสื่อมสภาพ เพราะในบุหรี่มีสารเคมีที่ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวและเสี่ยงให้เกิดการอุดตันได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มความดันโลหิต ทำให้หลอดเลือดมีโอกาสแตกหรือเกิดลิ่มเลือดได้ง่ายมากขึ้น
- การดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol) การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูงขึ้น ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สุดของโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้การดื่มสุราในปริมาณมากๆ นั้นส่งผลให้เกิดเลือด “อ่อนตัว” หรือเลือดออกง่าย ประกอบกับความดันโลหิตสูง จะทำให้อาการของโรคยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น
- พันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน จะมีความเสี่ยงเกิดโรคนี้สูงขึ้น เนื่องจากอาจจะได้รับการถ่ายทอดพันธุกรรมเส้นเลือดเปราะบางหรือมีปัญหาในการควบคุมความดันโลหิตได้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงนี้ ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ
- ไลฟ์สไตล์ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวันที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น การกินอาหารที่มีไขมันสูง การไม่ออกกำลังกายเป็นประจำ การนอนหลับที่ไม่เพียงพอ ความเครียด ส่งผลให้ร่างกายมีโอกาสเป็นโรคอ้วนและความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองหรืออาการ stroke ได้
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ร่างกายจะเสื่อมสภาพไปตามธรรมชาติ เช่น ผนังหลอดเลือดที่เปราะบางมากขึ้น ทำให้เกิดรอยแผล หรือเลือดออกได้ง่าย หรือหัวใจที่สูบฉีดเลือดได้ไม่แรงเท่าคนหนุ่มสาว ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ดังนั้นโรคหลอดเลือดสมองหรืออาการ stroke จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในกลุ่มผู้สูงอายุ
อาการของโรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องการการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อลดความเสียหายที่อาจส่งผลให้เกิดความพิการหรือเสียเสียชีวิตลงได้ ดังนั้นการทำความเข้าใจอาการของโรคหลอดเลือดสมอง จะช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถหาหนทางการรักษาที่เหมาะสมได้ทัน
อาการทั่วไปของโรคหลอดเลือดสมอง (Common Symptoms)
เป็นอาการเตือนที่มักจะพบเห็นได้ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ถ้าพบเห็นผู้ป่วยมีอาการเตือนเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์ทันที
- อาการชาหรืออ่อนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการชาหรืออ่อนแรงแบบครึ่งซีก มักแสดงอาการที่ด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย อย่างเช่นใบหน้า แขน หรือขา อาการนี้อาจจะเป็นสัญญานเตือน จากการอุดตันหรือขาดเลือดไปเลี้ยงที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของสมอง
- ปัญหาในการพูดคุยสื่อสาร ผู้ป่วยอาจเกิดปัญหาในการพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นพูดคุยติดขัด พูดไม่ชัด หรือไม่สามารถพูดได้ รวมไปถึงไม่สามารถเข้าใจคำพูดของผู้อื่นได้
- ปัญหาการมองเห็น ผู้ป่วยจะมีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น เช่น การมองเห็นเบลอหรือไม่ชัดเจน มองเห็นเป็นสองภาพ หรือ สูญเสียการมองเห็นข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างไป
- อาการเวียนหัวและปัญหาการทรงตัว ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนหัว ทรงตัวได้ไม่ดี หรือถึงขั้นเดินไม่ได้ และเดินไม่ตรง
- อาการปวดหัวรุนแรงทันที ผู้ป่วยอาจจะเกิดอาการปวดหัวรุนแรงทันที แบบไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน และบางทีอาจจะมาพร้อมกับอาการอื่นๆ ข้างต้น
อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ในบางกรณีอาจเกิดเป็นอาการเตือนเกิดขึ้นชั่วขณะแล้วหายไปเอง หรือเกิดขึ้นหลายครั้ง ก่อนจะมีอาการสมองขาดเลือดแบบถาวร
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคสโตรก (Stroke) เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ การใช้หลักการ FAST ในการประเมินและสังเกตอาการจะช่วยลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้
อาการ Stroke FAST Track (FAST Symptoms)
อาการ Stroke FAST Track คือ แนวทางประเมินอาการของโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อให้ทันต่อการรักษาภายในระยะเวลา 4.5 ชั่วโมง นับตั้งแต่ผู้ป่วยมีอาการจนถึงเวลาที่ได้รับการรักษา เนื่องจากเนื้อสมองจะสามารถทนต่อการขาดเลือดได้นานเพียง 270 นาที หรือ 4.5 ชั่วโมงเท่านั้น หลังจากนั้นสมองจะตายและไม่ตอบสนองต่อการรักษา อาการ Stroke FAST Track แบ่งออกเป็น 4 หัวข้อตามตัวอักษรดังนี้
- F (Face drooping) – อาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการใบหน้าหย่อนคล้อยที่ข้างใดข้างหนึ่ง ส่งผลให้ใบหน้าข้างหนึ่งอาจจะยิ้มได้ไม่เต็มที่ หรือมีอาการปากเบี้ยว และหนังตาข้างใดข้างหนึ่งตกลง
- สามารถเช็กอาการเบื้องต้นได้ง่ายๆ โดยการขอให้ผู้ป่วยยิ้มหรือยักคิ้ว หากมีอาการจริงๆ จะไม่สามารถยกมุมขึ้นได้หรือไม่สามารถตอบสนองได้ตามปกติ
- A (Arm weakness) – อาการแขนขาอ่อนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงหรือชาที่บริเวณแขน ขา ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย และอาจส่งผลให้ทรงตัวไม่ได้
- สามารถเช็กอาการเบื้องต้นได้ง่ายๆ ให้ผู้ป่วยลองยกแขนขึ้น ผู้ป่วยจะไม่สามารถเกร็งแขนข้างนั้นขึ้นไว้ได้ หรือไม่สามารถยกขึ้นได้เลย
- S (Speech difficulties) – อาการพูดติดขัด ผู้ป่วยจะมีอาการพูดที่ติดขัด นึกคิดคำพูดไม่ออก พูดไม่ชัดเจน หรือไม่สามารถพูดได้เลย
- T (Time to call emergency) – รู้เวลาเกิดอาการและเรียกหน่วยฉุกเฉิน
เมื่อเช็กอาการต่างๆ ข้างต้นแล้ว ผู้ดูแลจะต้องระบุเวลาที่เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ข้างต้นนี้ให้แน่ชัดว่า ว่าเริ่มมีอาการตั้งแต่เมื่อไหร่ และนับตั้งแต่มีอาการควรได้รับการรักษาให้ทันภายในเวลา 4.5 ชั่วโมง
การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง
การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองจำเป็นต้องตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อที่จะระบุความผิดปกติได้ถูกจุดและรักษาได้ทันท่วงที การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
- การตรวจประเมินด้วยแพทย์เฉพาะทาง (Medical Evaluation) แพทย์จะทำการตรวจและวินิจฉัยสุขภาพเบื้องต้นของผู้ป่วย โดยที่แพทย์มักจะซักถามประวัติการรักษา อาการที่เกิดขึ้น รวมไปถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เอาไว้เป็นข้อมูลช่วยในการวินิจฉัยสาเหตุของโรค
- การตรวจด้วยภาพ (Imaging Tests) เป็นการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วยสร้างภาพแสดงรายละเอียดของสมองและหลอดเลือด เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการวินิฉัยของแพทย์
- การตรวจเอกซเรซ์สมองด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อดูภาวะการขาดเลือดจากหลอดเลือดสมองและภาวะเลือดออกในสมอง
- การตรวจเอกซเรย์สมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI Scan) เพื่อดูเนื้อสมองและหลอดเลือดสมอง
- การตรวจอัลตราซาวนด์หลอดเลือดบริเวณคอ (Carotid Doppler Ultrasound) เป็นการตรวจหลอดเลือดใหญ่บริเวรลำคอด้วยคลื่นความถี่ เพื่อดูขนาดและการไหลเวียนของหลอดเลือดใหญ่ ซึ่งเป็นหลอดเลือดที่ส่งเลือดจากหัวใจไปยังสมอง
- การตรวจด้วยเทคโนโลยีอื่นๆ (Other Diagnostic Tools) เป็นการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อการวินิจฉัยปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มเติม เช่น
- การตรวจเลือด เพื่อดูความเข้มข้นของเลือด, การแข็งตัวของเลือด ระดับน้ำตาลและระดับไขมันในเลือด
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อดูความผิดปกติการเต้นของหัวใจ
การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง
วิธีการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง จะขึ้นอยู่กับประเภทและความรุนแรงของอาการ สามารถแบ่งวิธีรักษาได้ดังนี้
- การรักษากรณีฉุกเฉิน (Emergency Treatment) เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแบบอาการ Stroke FAST Track จะมีการให้ยา Thrombolytics เพื่อสลายลิ่มเลือด
- การผ่าตัด (Surgery) เป็นการรักษาด้วยการผ่าตัดในกรณีที่เกิดการอุดตันหรือการแตกของหลอดเลือด เพื่อเพิ่มการรักษาที่เร็วกว่าการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว
- การผ่า Carotid Endarterectomy เป็นการผ่าตัดเอาคราบไขมันในเส้นเลือดออก เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดแดงตีบรุนแรง
- การทำบอลลูนขยายหลอดเลือด (Carotid Stenting) เป็นการรักษาโดยการสวนหลอดเลือดแดง และฉีดสารทึบรังสีและทำให้บอลลูนถ่างออก เพื่อขยายหลอดเลือดให้กว้างขึ้น หลังจากนั้นจะใส่ขดลวดขนาดเล็ก (Stent) เข้าไป เพื่อช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้สะดวกขึ้น
- การรักษาด้วยยา (Medications) เป็นการใช้ยาในการรักษา เพื่อบรรเทาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งผลต่อโรคหลอดเลือดสมอง อย่างเช่น ยาลดความดันเลือด ยาลดไขมันในเลือด และยาต้านเกล็ดเลือด เป็นต้น
- การฟื้นฟูสมรรถภาพหลังเกิดโรค (Rehabilitation) ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อาจจะมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงตามมาหลังเกิดอาการของโรค ทำให้ต้องทำกายภาพบำบัดต่างๆ เพื่อฟื้นฟูการทำงานส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น การฝึกการเนื้อส่วนต่างๆ การฝึกเคลื่อนไหว การฝึกพูดและฝึกหายใจ เป็นต้น
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองสำหรับผู้สูงอายุ
วิธีการป้องการโรคหลอดเลือดสมองในผู้สูงอายุ สามารถทำได้โดยการปรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรค เช่น
- การดูแลอาหารการกิน (Healthy Diet) การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่างเช่น การกินผักและผลไม้ เพิ่มไฟเบอร์ เพื่อลดโอกาสเกิดท้องผุ ที่อาจจะทำให้เกิดการเบ่งส่งผลต่อความดันโลหิตสูงได้ หรือแม้แต่การกินอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพดี อย่างเช่น ไข่ หรือเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำและย่อยง่าย รวมไปถึงการลดการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและโซเดียมสูง เป็นต้น
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (Regular Exercise) การออกกำลังกายเบาๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยชะลอความเสื่อมของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น การเดิน การเต้นแอโรบิคสำหรับผู้อายุ หรือการทำโยคะ ทั้งนี้หากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะอาจเกิดโรคกำเริบได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงท่าที่มีการเกร็งและเบ่งมากเกินไป อาจจะทำให้ความดันขึ้นสูงได้
- การควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ (Managing Risk Factors) การควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง อย่างเช่น การพยายามควบคุมความดันเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอยู่เสมอ รวมไปถึงการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และการควบคุมน้ำหนักเช่นกัน
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ (Avoiding Smoking and Alcohol) อย่างที่เรารู้กันว่าการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ ดังนั้นควรเลิกสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการรับสารนิโคตินมือสอง อย่างเช่นการหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีคนสูบบุหรี่ด้วยเช่นกัน
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำ (Regular Check-ups) การตรวจสุขภาพเป็นประจำ เป็นกิจวัตรที่สำคัญในผู้สูงอายุ จะช่วยให้รักษาสุขภาพให้เเข็งแรง นอกจากนี้ยังเป็นการเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
การดูแลผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงหรือเคยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
สำหรับผู้สูงอายุที่เคยเป็นหรือมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง ต้องการการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็น
- การดูแลสุขภาพที่บ้าน (Home Care Tips) การดูแลการใช้ชีวิตประจำวันที่บ้าน ที่มีผลต่อสุขภาพและอาการของโรค ไม่ว่าจะเป็น การดูแลอาหารและโภชนาการ การจัดยา และการวางแผนออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
- การใช้บริการดูแลและระบบสนับสนุน (Support Systems) การเลือกใช้บริการและเข้าถึงระบบสนับสนุน อย่างเช่น การใช้บริการพยาบาลที่บ้าน หรือแม้แต่การพาผู้สูงอายุเข้าสู่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่มีความเป็นมืออาชีพ เพราะศูนย์ดูแลผู้สูงอายุจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง และมีความพร้อมในการจัดการเหตุฉุกเฉิน และประสานงานกับทางโรงพยาบาลได้รวดเร็ว
- เป็นที่พึ่งทางใจ (Emotional and Psychological Support)โดยปกติแล้วผู้สูงอายุต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ภาวะความเครียดและวิตกกังวล จากการเสื่อมถอยของร่างกาย หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เพราะรู้สึกสูญเสียความภาคภูมิใจในตัวเอง รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ดังนั้นผู้ดูแลหรือคนใกล้ชิดควรพูดคุยกับผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสังเกตสุขภาพจิตอย่างสม่ำเสมอ
สรุป
จะเห็นได้ว่า โรคหลอดเลือดสมองหรือโรค stroke เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในกลุ่มผู้สูงอายุ และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก ดังนั้นคนในครอบครัวควรมีความเข้าใจถึงสาเหตุ อาการ และวิธีป้องกันของโรค เพื่อเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที ทั้งนี้การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญทั้งตัวคุณผู้อ่านและผู้สูงอายุ เพราะโรคหลอดเลือดสมองอาจเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงอายุ
และหากคุณกำลังมองแหล่งความรู้ คำแนะนำ และเทคนิคเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุที่คุณรักในบ้าน รวมไปถึงการข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ Saijai.co จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ช่วยให้คุณดูแลผู้สูงอายุที่คุณรักได้อย่างเหมาะสม