อัลไซเมอร์ เป็นโรคที่สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ป่วยและครอบครัวเป็นอย่างมาก เพราะอาการของผู้ป่วยอัลไซเมอร์นั้นค่อนข้างซับซ้อนและต้องได้รับการใส่ใจดูแลอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยให้อาการดีและคงที่ได้ จึงต้องอาศัยความรู้เท่าทันในความเป็นไปของโรค ซึ่งในบทความนี้ Saijai.co ได้รวบรวมข้อมูลที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์มาให้แล้ว!
โรคอัลไซเมอร์ คืออะไร?
โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) หรือเรียกสั้นๆ ว่าอัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสมองในส่วนความทรงจำ ความคิด พฤติกรรม และภาษา ผู้ป่วยจะมีอาการที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะของโรค จนกระทั่งผู้ป่วยสูญเสียความเป็นตัวเอง สูญเสียความทรงจำ และเสียชีวิตจากสมองถูกทำลายในที่สุด
อ้างอิงจากข้อมูลของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH) อธิบายไว้ว่า “สมองของผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะเกิดจากการสะสมโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบตา-อะไมลอยด์ (Beta-amyloid) จนรวมตัวกันเป็นแผ่นและไปขัดขวางการทำงานระหว่างเซลล์ ทำให้เซลล์ประสาทไม่สามารถทำงาน เชื่อมต่อ สื่อสาร หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างถูกต้อง จนเซลล์ประสาทหยุดทำงาน”
ในช่วงแรกของการเป็นอัลไซเมอร์ สมองของผู้ป่วยจะทำงานลดลงเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับภาษา การใช้เหตุและผล การใช้ชีวิต พฤติกรรมทางสังคม และส่วนอื่นๆ ของสมอง แต่พื้นที่สมองส่วนแรกที่จำได้รับความเสียหายคือ ‘ส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับความทรงจำ’ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมสัญญาณแรกของผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะต้องหลงๆ ลืมๆ ก่อนเสมอ
สมองเสื่อมกับอัลไซเมอร์ ต่างกันอย่างไร?
อัลไซเมอร์ เป็นโรคประเภทหนึ่งของภาวะสมองเสื่อม ดังนั้นจะมีความหมายแตกต่างจากภาวะสมองเสื่อมอย่างสิ้นเชิง โดยภาวะสมองเสื่อมนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นพาร์กินสัน หลอดเลือดในสมองตีบ สมองเสื่อมลิววี่บอดี้ และภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุดคือ อัลไซเมอร์ ทำให้หลายคนมักเข้าใจผิดว่าโรคสมองเสื่อมกับอัลไซเมอร์เป็นโรคเดียวกันนั่นเอง
สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ เกิดจากอะไรบ้าง?
ปัจจุบันนี้ การวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ยังไม่สามารถทราบสาเหตุที่แท้จริง และยังไม่สามารถหาตัวกระตุ้นที่ถูกต้องได้ แต่ด้วยการค้นคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในวงการแพทย์สามารถรวบรวมปัจจัยกระตุ้นการเกิดโรคดังต่อไปนี้ขึ้นมาได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยเหล่านี้ร่วมกัน ได้แก่
- พันธุกรรมจากคนในครอบครัว โรคอัลไซเมอร์นับเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นอัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อม ก็มักจะมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคนี้มาหลายรุ่น และเป็นโรคตั้งแต่อายุยังน้อย ก็จะยิ่งเสี่ยงมาก
- อายุที่มากขึ้น โดยปกติแล้ว ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมักจะมีความเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์มากกว่าคนที่อายุยังน้อย แต่จริงๆ การทำงานของสมองที่ลดลงมักจะเกิดขึ้นเมื่อเราอายุเยอะอยู่แล้ว สาเหตุเกี่ยวกับอายุจึงไม่ใช่สาเหตุหลัก แต่เป็นความเสี่ยงที่มากกว่าเท่านั้น
- การใช้ชีวิตประจำวัน หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์อาจมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดีของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหารที่มีไขมันสูง การสูบบุหรี่เป็นประจำ การดื่มแอลกอฮอล์บ่อยครั้ง การใช้ชีวิตจำเจ ไม่ยอมเข้าสังคม ไม่ออกกำลังกาย ฯลฯ
- ผลข้างเคียงจากดาวน์ซินโดรม สำหรับเคสผู้ป่วยที่เป็นดาวน์ซินโดรม มักจะมีความเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์สูงกว่าคนปกติ เนื่องมาจากการสะสมโปรตีนที่ผิดปกติในสมอง โดยส่วนใหญ่จะกลุ่มคนดาวน์ซินโดรมจะเริ่มเป็นโรคนี้ตั้งแต่ช่วง 40 ปีปลายๆ ขึ้นไป
- การได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ เรามักจะเห็นในสื่อบันเทิงต่างๆ กันบ่อยครั้งว่าผู้ที่ได้รับการกระทบกระเทือนบริเวณศีรษะมักจะสูญเสียความทรงจำ ซึ่งนั่นก็ค่อนข้างตรงกับความเป็นจริง เพราะผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงที่สมองจากอุบัติเหตุต่างๆ มักมีโอกาสสมองเสื่อมหรือเป็นอัลไซเมอร์ได้ แม้ปัจจัยนี้จะยังไม่ชัดเจน ต้องมีการค้นคว้าเพิ่มเติม แต่ก็มีโอกาสเช่นกัน
- ผลจากโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดมักจะกระตุ้นให้เกิดการสะสมเบต้า-อะไมลอยด์มากกว่าปกติ ทำให้ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน หลอดเลือดตีบ ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดแดงแข็ง มักจะเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้ง่ายไปในตัว
- ผลกระทบจากโรคซึมเศร้า หากโรคซึมเศร้าที่เป็นอยู่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและปล่อยให้อาการคงอยู่ไปเรื่อยๆ จะทำให้เสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์มากกว่าปกติ แต่บางครั้งก็จะมีกรณีกลับกันคือ ผู้ป่วยเองก็มีแนวโน้มเป็นซึมเศร้าได้ด้วย สาเหตุนี้จึงไม่ได้ชัดเจนเท่าใดนัก
เช็คสัญญาณ! โรคอัลไซเมอร์ อาการเบื้องต้นเป็นอย่างไร?
อาการของโรคโดยส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับอาการหลงลืมบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งมีผลมาจากการทำงานของสมองที่ลดลงเรื่อยๆ เราสามารถเช็คสัญญาณของโรคอัลไซเมอร์ด้วยอาการเบื้องต้นดังนี้
- ลืมว่ามีนัด มีสิ่งที่ต้องทำ หรือสิ่งสำคัญ ลืมตำแหน่งของที่เคยวางไว้เป็นที่
- ลืมคำศัพท์ที่คุ้นเคยมากๆ ทั้งแบบพูดหรือเขียน
- ลืมเนื้อหาที่พึ่งอ่านไป
- ต้องทวนคำถามที่ถูกถามซ้ำๆ
- จำชื่อคนที่เพิ่งรู้จักกันไม่ได้
- มีปัญหาในการวางแผน การทำงานเกี่ยวกับตัวเลข
- ไม่สามารถจัดการสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้
- จำเส้นทางที่เคยไปบ่อยหรือไปเป็นประจำไม่ได้
- สมาธิสั้น ใช้เวลานานผิดปกติในการทำสิ่งที่คุ้นเคยให้เสร็จ
- สับสนกับเวลาและฤดูกาล จำไม่ได้ว่าเป็นช่วงไหนแล้ว
- มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นเช่น สี แสง ทำให้มีปัญหาในการขับรถหรืออ่านหนังสือ
- มีปัญหาด้านการตัดสินใจและการดูแลตัวเอง
- อาการสมาธิสั้นและหลงลืม ทำให้รู้สึกไม่อยากเข้าสังคม เพราะสื่อสารกันยาก
- การแสดงออกทางอารมณ์เปลี่ยนไป และจะเป็นอารมณ์ด้านลบ
โรคอัลไซเมอร์ มีทั้งหมดกี่ระยะ? แล้วมีระยะอะไรบ้าง
อัลไซเมอร์เป็นโรคที่มีลำดับความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเสียชีวิต โดยจะแบ่งออกเป็นระยะเบื้องต้นทั้งหมด 3 ระยะด้วยกัน ได้แก่ ระยะแรก (Early-Stage), ระยะกลาง (Middle-Stage) และระยะสุดท้าย (Late-Stage) ซึ่งผู้ป่วยในระยะต่างๆ ดังกล่าวก็จะมีอาการแตกต่างกันไป ดังนี้
- อัลไซเมอร์ระยะแรก (Early-Stage) ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะแรกมักเริ่มด้วยอาการหลงๆ ลืมๆ มีพฤติกรรมที่แปลกไปจากปกติ ซึ่งระยะนี้จะใช้เวลา 2-7 ปี นับตั้งแต่เริ่มสะสมโปรตีนในสมอง ทั้งนี้ ในระยะแรกมักจะสังเกตอาการได้น้อยมาก เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้มีผลกระทบกับชีวิตประจำวันมากนักและส่วนใหญ่ก็อาจเกิดจากแค่อายุที่มากขึ้นก็ได้ โดยแนวทางที่จะช่วยให้เราทราบว่ากำลังเป็นอัลไซเมอร์ระยะแรกหรือไม่คือ การตรวจสแกนสมองโดยตรง ประกอบกับการซักประวัติเพิ่มเติมและทำแบบทดสอบโรคอัลไซเมอร์เล็กน้อย ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยจากสภาพของสมองได้ว่ามีลักษณะที่เข้าข่ายหรือไม่
- อัลไซเมอร์ระยะกลาง (Middle-Stage) ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะกลางจะเริ่มแสดงอาการของโรคออกมาชัดเจนมากขึ้น ซึ่งระยะนี้จะใช้เวลาราว 2-4 ปีขึ้นไป เริ่มต้นจากพฤติกรรมผิดปกติอันมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เข้าสังคม ทำงาน หรือแม้แต่ชีวิตในบ้าน ซึ่งระยะกลางเป็นระยะที่กินเวลานานหลายปี และจำเป็นต้องได้รับการดูแลตั้งแต่ช่วงนี้ โดยผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในระยะกลางจะมีพฤติกรรมดังนี้ :
-
- ลืมความทรงจำที่สำคัญมาก ๆ ในชีวิตไป
- ลืมความทรงจำเกี่ยวกับตัวเอง เช่น เลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ เลขที่บ้าน สิ่งที่แพ้ โรงเรียนที่เคยเรียน ลืมคนที่พึ่งรู้จัก เพื่อน หรือคนในครอบครัว
- เริ่มสูญเสียการควบคุมอารมณ์ สติ การใช้เหตุผล และประสาทสัมผัส
- มักรู้สึกหงุดหงิดตลอดเวลา เพราะอาการหลงลืมของตัวเอง
- หลงลืมวันเวลาในปัจจุบัน หรือลืมเส้นทางที่คุ้นเคย ทำให้มีโอกาสหลงทางได้ง่าย
- การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ นั้นเป็นไปได้ยาก
- มีอาการย้ำคิดย้ำทำ เครียด วิตกกังวล กระสับกระส่าย ทำอะไรหุนหันพลันแล่น
- มีอาการนอนไม่หลับ หรือเปลี่ยนแปลงเวลานอนจากเวลาเดิม
- ไม่สามารถรับมือกับกิจวัตรที่ซับซ้อนได้ เช่น การแต่งตัว การทำงานบ้าน การจัดการธุระต่าง ๆ หรือการรับมือกับสถานการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน
- ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการประสาทหลอน อาการหลงผิด มีอาการหวาดระแวงตลอดเวลา เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ปลอดภัย
- อัลไซเมอร์ระยะสุดท้าย (Late-Stage) ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะสุดท้ายเป็นช่วงที่เนื้อสมองถูกทำลายและหดเล็กลงมากแล้ว ผู้ป่วยจึงไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ ความสามารถในการจดจำถดถอย ไม่สามารถทานอาหารตามปกติได้ มีปัญหาทางร่างกายด้านอื่นๆ เช่น การกลืน การขับถ่าย หรือมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น โรคผิวหนัง โรคซึมเศร้า โรคปอด เป็นต้น
ในระยะนี้ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแลใกล้ชิดแบบ 100% เพราะเป็นระยะที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองและไม่สามารถสื่อสารได้ตามปกติ บางรายอาจจะใช้ชีวิตแบบผู้ป่วยติดเตียงจนกระทั่งร่างกายไม่สามารถทำงานได้ กินระยะเวลาราว 1-2.5 ปี ขึ้นอยู่กับคุณภาพในการดูแลผู้ป่วยด้วย
อัลไซเมอร์ป้องกันได้ ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงสมองเสื่อม
การป้องกันอัลไซเมอร์นั้นมีอยู่ด้วยกันหลากหลายวิธี แต่จะเน้นไปที่การใช้ชีวิตเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุได้แน่ชัด โดยเราสามารถปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ ดังนี้
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสมอง การทานอาหารที่ช่วยบำรุงสมองนั้นสำคัญมาก เนื่องจากสารอาหารที่ครบถ้วนจะช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดี สมองทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ อย่างวิตามินบี 12 ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาท
- เลิกสูบบุหรี่และเลิกดื่มแอลกอฮอล์ สารเคมีในบุหรี่และแอลกอฮอล์มีส่วนอย่างมากในการทำลายอวัยวะและเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งไม่ใช่แค่สมองเพียงอย่างเดียว นั่นเป็นเพราะว่าหากระบบส่วนอื่นๆ ของร่างกายทำงานได้ไม่ดี เช่น เป็นโรคปอด โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ก็อาจส่งผลให้เป็นอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอในทุกๆ วัน การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอจะช่วยลดความเครียดในร่างกายได้ และจะดีมากหากเราสามารถนอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็คือ การนอนหลับลึก หลับยาว ไม่ตื่นกลางดึก จะช่วยให้สมองได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ป้องกันการเกิดอัลไซเมอร์ได้
- ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ นอกจากสมองต้องการการพักผ่อนแล้ว การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สมองตื่นตัวก็จะช่วยป้องกันอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน อาจจะเป็นการวิ่ง การว่ายน้ำ การเล่นโยคะ-พิลาทิส เพื่อให้สมองฝึกสมาธิ
- กระตุ้นสมองด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ การทำกิจกรรมต่างที่ช่วยฝึกสมองาสามารถป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมฝึกสมอง การทำแบบทดสอบ การหาประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน จะช่วยบริหารสมองให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
- สร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การเข้าสังคมมีส่วนช่วยให้สมองมีการตื่นตัวเช่นกัน อาจเป็นการร่วมกิจกรรมในสังคม การเดินทางไปพบเจอผู้คนใหม่ๆ ในสภาพแวดล้อมใหม่จะช่วยให้สมองรู้สึกปลอดโปร่งและได้รับการกระตุ้นให้ทำงาน ลดความเสี่ยงการเกิดอัลไซเมอร์และซึมเศร้าได้
- หากเป็นโรคประจำตัว ต้องดูแลตัวเองให้ดี สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นความดัน ไขมันในเลือด หรือโรคอ้วน ควรจะต้องดูแลรักษาโรคประจำตัวของตัวเองให้ดี หากต้องทานยาก็ควรจะทานตามเวลาที่กำหนดเอาไว้อย่างสม่ำเสมอ พร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ประจำตัวอย่างเคร่งครัด
วิธีรักษาอัลไซเมอร์ รักษาหายไหม? ทำอย่างไรได้บ้าง?
จากที่ได้อธิบายไปว่าโรคอัลไซเมอร์ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีเพียงการดูแลให้อาการคงที่และให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานที่สุดเท่านั้น ซึ่งในระยะเวลาระหว่างการดูแลผู้ป่วยตั้งแต่เริ่มไปจนถึงเสียชีวิต ก็จะมีการประคองอาการด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้
- รักษาด้วยการให้ยา เมื่อร่างกายเกิดโรคแล้ว จะทำให้อาการต่างๆ เริ่มปรากฏขึ้นมาให้เห็น ซึ่งมักจะเป็นอาการเรื้อรัง เช่น ยาช่วยลดความวิตกกังวล ยาคลายเครียด ยาแก้ปวดศีรษะ เป็นต้น แพทย์ต้องสั่งยาบรรเทาอาการต่างๆ เหล่านี้ให้ผู้ป่วย รวมไปถึงยาที่จะช่วยชะลอโรคไม่ให้สมองเสื่อมเร็วขึ้นด้วย
- บำบัดสุขภาพในด้านต่างๆ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์นั้นได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ จึงต้องได้รับการบำบัดสุขภาพอย่างครอบคลุม เช่น การกายภาพบำบัด การบำบัดจิตหรือการช่วยเหลือทางสุขภาพจิต การจัดแผนกิจกรรมที่ช่วยฝึกสมอง การออกกำลังกายเพื่อให้สดชื่น เป็นต้น
- ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวัน การที่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มักหลงๆ ลืมๆ กับกิจวัตรของตัวเอง การจัดตารางเพื่อปรับรูปแบบการใช้ชีวิตให้ง่ายต่อการจดจำ จึงจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพมากขึ้นได้ อาจจะเป็นการกำหนดเวลาทานอาหาร การกำหนดเวลาทานยา การเลือกเมนูอาหารให้ครบตามโภชนาการ การแต่งตัว การเล่นกับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
- การดูแลจากคนในครอบครัว ข้อนี้สำคัญมากๆ กับการรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เพราะคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดคือการได้อยู่ท่ามกลางคนที่รัก ดังนั้น ผู้ดูแลที่เป็นคนในครอบครัวจะต้องให้ทำความเข้าใจอาการของผู้ป่วยและให้ความใส่ใจเป็นอย่างมาก เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกได้ถึงความรัก ความอบอุ่น และรู้สึกปลอดภัย
เคล็ดลับการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ดีต่อผู้ป่วยและคนรอบข้าง
นอกจากเราจะต้องทราบอาการของผู้ป่วยเป็นอย่างดีแล้ว ผู้ที่ดูแลหรือคนรอบข้างก็ต้องศึกษาและทำความเข้าใจกับวิธีดูแลผู้ป่วยโดยละเอียด เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่กับผู้ป่วยได้อย่างมีคุณภาพ โดย Saijai.co ได้รวบรวมเคล็ดลับดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์มาให้ลองนำไปปรับใช้กัน!
- ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมให้เข้าใจที่สุด
ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มักจะมีพฤติกรรมที่ค่อนข้างซับซ้อนอย่างมาก มีความสับสน กระสับกระส่าย รู้สึกไม่ปลอดภัย และมีความเครียดสูงมาก ผู้ที่ต้องรับผิดชอบดูแลผู้ป่วยจึงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียด และอาการของโรคอย่างถ่องแท้มากที่สุด เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับทั้งตัวผู้ป่วยเองและคนรอบข้างด้วย
- ช่วยกันจัดตารางสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน
การจัดตารางเวลาและสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน เช่น เวลาตื่นนอน เวลาทานข้าว เวลาอาบน้ำ-แต่งตัว จะช่วยให้ผู้ดูแลและผู้ป่วยสามารถปฏิบัติตามกิจวัตรได้เป็นเวลามากขึ้น โดยไม่รบกวนสมองมากนัก ผู้ป่วยจะพยายามจดจำตารางต่างๆ และทำตามได้ง่าย และเป็นการฝึกสมองสำหรับการจัดการชีวิตประจำวันไปในตัว
- หากิจกรรมทำร่วมกันบ่อยๆ
นอกจากการจัดตารางร่วมกันแล้ว ผู้ดูแลจำเป็นต้องหาเวลาเพื่อทำกิจกรรมร่วมกับผู้ป่วยด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทานข้าว การดูหนังฟังเพลง การเล่นเกมฝึกสมอง การพากันไปทำกิจกรรมนอกบ้านใหม่ๆ เช่น ออกกำลังกาย ไปร้านอาหารที่คุ้นเคย เป็นต้น แนะนำให้ทำกิจกรรมต่างๆ ในเวลาที่ใกล้เคียงกันในแต่ละวันให้มากที่สุด จะช่วยให้สมองตื่นตัวและทำให้ผู้ป่วยผ่อนคลายความเครียด
- พยายามสร้างระบบเวลาในการทานยา
สำหรับผู้ป่วยที่ต้องทานยาอย่างสม่ำเสมอ มักจะมีโอกาสหลงลืมเวลาที่ต้องทานยาบ่อยๆ ดังนั้น การสร้างระบบเวลาที่ถูกต้องจึงสำคัญอย่างมาก เบื้องต้นอาจจะเป็นการเตือนจากผู้ดูแลหรือผู้ใกล้ชิด แต่หากไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา แนะนำให้ผู้ป่วยพกเครื่องมือหรือนาฬิกาตั้งเวลาสำหรับแจ้งเตือนเวลาทานยาติดตัวเอาไว้ด้วยจะช่วยได้มาก
- อย่าพยายามช่วยเหลือผู้ป่วยมากจนน่าอึดอัด
ข้อนี้เป็นสิ่งที่ผู้ดูแลหลายคนมักจะมองข้าม เพราะคิดว่าผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และผู้ดูแลจำเป็นที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือทุกขั้นตอน แต่ในการดูแลรักษาจริงๆ แล้ว เราไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือผู้ป่วยทุกอย่าง เพราะบางครั้งความช่วยเหลือที่มากเกินไปอาจจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอึดอัด รู้สึกเป็นภาระ (โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ) และยังมีผลต่อการทำงานของสมองด้วย หากปล่อยให้ผู้ป่วยได้ลองจัดการตัวเองก็จะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองได้ดีกว่า
- สื่อสารกับผู้ป่วยอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ
การติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วย จะสร้างความรู้สึกสบายใจให้แก่ผู้ป่วยได้ดีมาก เพราะระหว่างที่กำลังป่วยและไม่รู้ว่าร่างกายของตัวเองกำลังเผชิญกับอะไรบ้าง กำลังใจจากคนที่รักนั้นสำคัญเสมอ หากไม่ได้อยู่ใกล้ชิดก็แนะนำให้ไปมาหาสู่กับผู้ป่วยบ่อยๆ แต่หากอยู่ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด แนะนำให้หากิจกรรมที่ผู้ป่วยชื่นชอบทำร่วมกัน พูดคุยด้วยอย่างอ่อนโยน เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าได้รับความเอาใจใส่อย่างเต็มที่
- ใส่ใจอาหารในแต่ละมื้อของผู้ป่วยอย่างเคร่งครัด
ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มักจะมีปัญหากับการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หรือบางรายก็มักจะลืมทานอาหารไปเสียดื้อๆ ดังนั้น ผู้ดูแลจึงต้องใส่ใจในอาหารแต่ละมื้อให้มาก เลือกมื้ออาหารที่ผู้ป่วยชื่นชอบ จัดสรรให้ครบ 5 หมู่ จัดการทานอาหารให้เป็นเวลาเดิมให้มากที่สุด จะช่วยให้ผู้ป่วยจดจำได้ดีและไม่สับสน
- ซื้อเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย
จากปัญหาในการจัดการชีวิตประจำวันของตัวเอง ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำอะไรที่ซับซ้อนอย่างการผูกเชือกรองเท้า การผูกโบว์ หรือแม้แต่การติดกระดุม ดังนั้น การเลือกเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์อื่นๆ ในชีวิตประจำวันให้ง่ายต่อการใช้งานมากกว่าจึงจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองและลดความเครียดได้ อาจจะเลือกเป็นเสื้อยืด รองเท้าแตะ รองเท้าแบบสวม กางเกงเอวยางยืด เป็นต้น
- จัดการงานเอกสารต่างๆ ให้สะดวกแก่ผู้ป่วยมากที่สุด
ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ส่วนใหญ่มักจะไม่สามารถจัดการกับงานเอกสารต่างๆ ที่มีความซับซ้อนได้ ตั้งแต่งานที่บริษัท การคำนวณค่าใช้จ่าย การจัดการบิลต่างๆ ภายในบ้าน ดังนั้น ผู้ดูแลที่ได้รับการไว้วางใจควรจะต้องเป็นผู้จัดการงานเอกสารต่างๆ เหล่านี้ให้แก่ผู้ป่วย (แต่ต้องได้รับสิทธิ์ตามกฎหมายแล้วเท่านั้น)
- อดทนกับอาการของผู้ป่วย เพราะมันไม่มีรูปแบบแน่นอน
เป็นที่ทราบกันแล้วว่าผู้ป่วยอัลไซเมอร์มักจะมีพฤติกรรมแปลกไปจากเดิม ย้ำคิดย้ำทำ ถามคำถามซ้ำๆ ใช้การตัดสินใจแบบหุนหันพลันแล่น บางครั้งก็กลายเป็นคนไม่มีเหตุผล มีความเครียดสะสมหนัก บางรายอาจถึงขั้นซึมเศร้า ซึ่งผู้ดูแลจำเป็นต้องรับมือกับสถานการณ์อันไม่แน่นอนเหล่านี้อยู่ตลอด ความอดทนจึงเป็นปัจจัยหลักในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมประเภทนี้
- ให้เกียรติ ให้กำลังใจ และให้ความสำคัญกับผู้ป่วย
ท้ายที่สุดแล้ว ผู้ป่วยอัลไซเมอร์นั้นต้องการการให้เกียรติ ต้องการกำลังใจ และต้องการความรู้สึกว่าตัวเองยังสำคัญ ดังนั้น การพบเจอ ทำกิจกรรม การพูดคุยสื่อสาร การรับฟัง ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่ดีขึ้น และช่วยบรรเทาความเครียด
- หมั่นสังเกตสุขภาพจิตของตนเองด้วย
นอกจากจะต้องใส่ใจกับสุขภาพจิตของผู้ป่วยอัลไซเมอร์แล้ว สุขภาพจิตของผู้ดูแลก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะการรับมือกับผู้ป่วยที่มีอาการไม่แน่นอนนั้นสร้างความเครียดแก่คนรอบข้างได้ง่ายมาก แม้แต่เจ้าหน้าที่ที่ต้องดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะบางราย ยังต้องได้รับการอบรมและบำบัด ดังนั้น ผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวควรหมั่นสังเกตสุขภาพจิตของตัวเอง หากรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว แนะนำให้ปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด
สิ่งที่ไม่ควรพูดกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ตามคำแนะนำของ Alzheimer’s Societyด้วยธรรมชาติของผู้ป่วยอัลไซเมอร์แล้ว ผู้ป่วยโรคนี้จะค่อนข้างมีความเครียดกับอาการหลงลืมเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นอาการปกติเมื่อมนุษย์นึกบางอย่างที่คุ้นเคยไม่ออก แต่สำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์แล้ว ระดับความรุนแรงมันมากกว่านั้นมาก คนรอบข้างจึงต้องระมัดระวังการถามคำถามหรือการพูดคุยกับผู้ป่วย เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกเครียด ต้องขุดค้นความจำขึ้นมา หรือรู้สึกว่ากำลังถูกทดสอบความจำ แล้วคำพูดแบบไหนที่ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยอัลไซเมอร์บ้าง?
จะเห็นได้ว่าคำพูดในรูปแบบบางอย่างไม่เหมาะใช้กับผู้ป่วยอัลไซเมอร์อย่างมาก โดยเฉพาะประโยคที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยพยายามนึกถึงเรื่องราวในอดีต ซึ่งจะสร้างความเครียด กดดัน และผิดหวังให้ผู้ป่วยที่จดจำความทรงจำนั้นไม่ได้อย่างมาก แนะนำให้เน้นพูดคุยเรื่องเกี่ยวกับอนาคตอันใกล้ ไม่พูดติดกันยาว ๆ สื่อสารด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนอย่างช้า ๆ และใจเย็นเสมอ |
หากสงสัยว่าผู้สูงอายุที่บ้านกำลังเป็นอัลไซเมอร์ และเราไม่สามารถดูแลได้ ต้องทำอย่างไร?
หากคนในครอบครัวของเรามีผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ผู้ดูแลจะต้องทำความเข้าใจกับอาการเหล่านี้อย่างมาก และต้องหาวิธีรับมือกับอารมณ์ของผู้ป่วยให้ดีที่สุด เพราะด้วยอาการหลงลืมต่างๆ และไม่สามารถทำสิ่งที่เคยทำได้อีกต่อไปนั้นเป็นห้วงอารมณ์ที่ทำให้ผู้ป่วยเครียดอย่างหนัก และอาจแสดงอารมณ์ด้านลบออกมาตลอดเวลา
ดังนั้น หากผู้ดูแลไม่สามารถรับมือกับความเครียดเหล่านี้ได้ Saijai แนะนำให้พาผู้ป่วยและคนอื่นๆ ในครอบครัวเข้าสู่ระบบการดูแลแบบประคับประคองหรือ Palliative Care ซึ่งเป็นระบบที่จะช่วยให้เราทราบแนวทางการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกต้อง โดยระบบจะดูแลครอบคลุมไปถึงตัวผู้ดูแล ผู้ใกล้ชิด และครอบครัว เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดให้แก่ทุกๆ ฝ่าย
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
โรคอัลไซเมอร์ คือหนึ่งในโรคร้ายแรงที่มีความซับซ้อนในตัวเองสูงมาก เพราะแพทย์ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัด ไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคได้แบบสมบูรณ์ และยังไม่มีแนวทางการรักษาให้หายขาด ดังนั้น หลายคนจึงมีคำถามมากมายเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมประเภทนี้ว่ามันมีความเป็นไปได้แบบไหนบ้าง Saijai จึงรวบรวมคำถามที่พบบ่อยมาฝากกัน!
- เป็นอัลไซเมอร์ เจ็บไหม?
ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะแรกมักจะไม่มีอาการเจ็บปวดที่สมอง แต่เมื่อร่างกายเข้าสู่ระยะกลางจนถึงระยะสุดท้าย มักจะมีอาการเจ็บปวดที่ศีรษะ ดังนั้น ระหว่างการรักษาดูแลจึงต้องมีการจ่ายยาเพื่อบรรเทาอาการปวดให้กับผู้ป่วยด้วย
- ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะรู้หรือไม่ว่าตัวเองกำลังป่วย?
โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยมักจะไม่ทราบหรือไม่ยอมรับว่าตนเองกำลังเป็นโรคสมองเสื่อม แต่ผู้ดูแลอาจจะต้องพิจารณาถึงความละเอียดอ่อนในการถามผู้ป่วยโดยตรง เพราะอาจเป็นการกระทบกระเทือนจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยเครียด วิตกกังวล หรือแสดงอาการก้าวร้าว หวาดระแวง
- เราสามารถวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์จากดวงตาได้ไหม?
เราไม่สามารถวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ได้จากการมองดวงตาผู้ป่วยโดยตรง แต่อาการเกี่ยวกับดวงตาที่บ่งบอกว่าอาจเป็นโรค มาจากการคุณภาพการมองเห็นที่ลดลงมากกว่า ผู้ป่วยอัลไซเมอร์อาจมีอาการอ่านหนังสือลำบาก การมองเห็นสีเปลี่ยนไป หรือบางรายอาจสูญเสียลานสายตา ทำให้เป็นต้อหิน ประสาทตาอักเสบ ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่นๆ จึงต้องพิจารณาร่วมกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วยด้วยว่ามีความเสี่ยงหรือไม่
- ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ อยู่ได้กี่ปี?
ผู้ป่วยอัลไซเมอร์สามารถอยู่ได้นาน 8-10 ปี และหากทราบว่าเป็นโรคและได้รับการดูแลตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะอยู่ได้ยาวนานขึ้นสูงสุด 15-20 ปี ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าได้รับการวินิฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมในช่วงอายุเท่าไหร่ เพราะโอกาสเสียชีวิตอย่างรวดเร็วในผู้ป่วยสูงอายุมักจะมากกว่าผู้ป่วยอายุน้อย
- รักษาอัลไซเมอร์แพงไหม?
ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยในการดูแลรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะอยู่ที่ 100,000-200,000 บาทต่อปี หรือบางสถานพยาบาลจะอยู่ที่ 20,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับกระบวนการและตัวเลือกที่ตัดสินใจ ซึ่ง Saijai.co ขอแนะนำว่าหากมีปัญหาด้านค่าใช้จ่าย ควรแจ้งรายละเอียดให้แพทย์หรือผู้เกี่ยวข้องทราบ เพื่อให้สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม
- โรคอัลไซเมอร์ อายุน้อยเป็นได้ไหม?
จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยแพทย์จอนส์ฮอปกินส์ พบว่า ผู้ที่มีอายุน้อยสามารถเป็นอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มวัย 30-40 ปีขึ้นไปอาจจะเริ่มมีอาการในระยะแรก หากสงสัยว่าตนเองเป็นโรคสมองเสื่อมหรือไม่ แนะนำให้รีบพบแพทย์และตรวจร่างกายโดยเร็วที่สุด
สรุป โรคอัลไซเมอร์ อันตรายจากสมองเสื่อมที่ห้ามชะล่าใจ
อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เป็นหนึ่งในภาวะสมองเสื่อมที่ค่อนข้างอันตรายกับตัวผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะกลางขึ้นไป เมื่อการทำงานของสมองไม่มีประสิทธิภาพ จะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมความรู้ความเข้าใจในโรคและความสามารถในการรับมือของผู้ดูแลจึงสำคัญต่อการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ดังนั้น เพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและคนรอบข้างดียิ่งขึ้น จึงต้องมีการอบรมการดูแลอย่างสม่ำเสมอ และยังมีการก่อตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยโรคร้ายแรงเหล่านี้แบบเฉพาะทางมากขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน ศูนย์ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในประเทศไทย มีทั้งในเครือของโรงพยาบาลรัฐฯ โรงพยาบาลเอกชน และศูนย์บริการดูแลผู้ป่วยโรคร้ายแรงโดยเฉพาะ ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไปผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยเราจะต้องเลือกศูนย์ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่มีบริการครอบคลุม สามารถดูแลผู้ป่วยได้ตลอด 24 ชั่วโมง และมีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการอบรมมาอย่างถูกต้อง
สำหรับใครที่กำลังมองหาศูนย์ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ สามารถลองค้นหาศูนย์บริการต่างๆ ในกรุงเทพฯ และพื้นที่ต่างจังหวัดได้ที่ Saijai.co เพื่อให้การหาศูนย์ดูแลที่มีคุณภาพและการันตีจากรีวิวจริงมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น!
แหล่งอ้างอิง