แผลขอบทวาร คืออะไร?
แผลขอบทวาร (Anal Fissure) คือรอยแผลเล็กๆ หรือรอยฉีกขาดที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังรอบทวารหนัก ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาท้องผูกหรือมีการระคายเคืองบริเวณทวารหนักบ่อยๆ โดยสาเหตุหลักๆ ของแผลขอบทวารมักมาจากการเบ่งหรือออกแรงขับถ่ายอย่างรุนแรง จนทำให้ผิวหนังบริเวณทวารเกิดการฉีกขาด ซึ่งอาจเป็นแผลขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความยากในการขับถ่าย หรือความถี่ในการระคายเคืองว่าบ่อยครั้งมากหรือไม่อาการของแผลขอบทวาร เป็นอย่างไร?
แผลขอบทวารมักทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบาย และทำให้รู้สึกลำบากต่อการขับถ่าย หรือถึงขั้นไม่สามารถขับถ่ายได้ตามปกติ หากไม่รักษาหรือไม่ระวังการระคายเคือง บาดแผลนี้อาจกลายเป็นแผลเรื้อรัง และควรได้รับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมักจะมีอาการร่วม ได้แก่- อาการเจ็บแสบหรือแสบบริเวณทวารหนัก โดยเฉพาะขณะขับถ่าย
- มีเลือดปนออกมาระหว่างหรือหลังการขับถ่าย ซึ่งมักเป็นเลือดสีแดงสด
- ความรู้สึกไม่สบายหรือระคายเคืองบริเวณทวารหนัก และอาจมีอาการปวดตึงต่อเนื่องได้
- ในบางกรณีที่แผลขอบทวารกลายเป็นเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจรู้สึกตึงหรือเจ็บปวดบริเวณทวารหนักอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงเวลาที่ไม่ได้ขับถ่าย
สาเหตุของการเกิดแผลขอบทวาร
จากที่ได้อธิบายไปเบื้องต้นว่า แผลขอบทวารมักจะเกิดจากการที่ทวารฉีดขาดจนทำให้เป็นแผลสด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยดังนี้- การเบ่งอุจจาระอย่างรุนแรง เนื่องจากท้องผูกเรื้อรัง
- อาการท้องเสียที่เกิดบ่อยครั้ง ทำให้ทวารระคายเคืองซ้ำไปมา
- การบาดเจ็บจากการใช้กระดาษชำระที่หยาบหรือทำความสะอาดแรงเกินไป
- การคลอดบุตรที่ต้องออกแรงเบ่งมาก ทำให้กล้ามเนื้อและผิวหนังใกล้เคียงได้รับผลกระทบไปด้วย
- มีภาวะรูทวารตีบ (Anal Stricture) แต่กำเนิด ทำให้รูทวารไม่สามารถขยายได้เพียงพอเมื่อต้องขับถ่าย
แผลขอบทวารรักษาอย่างไร?
การรักษาแผลขอบทวาร มักเริ่มต้นด้วยการดูแลตนเองและการใช้ยารักษา เพื่อช่วยบรรเทาอาการและป้องกันไม่ให้แผลลุกลามมากขึ้น โดยเราสามารถรักษาแผลขอบทวารเบื้องต้นได้ดังนี้- ดื่มน้ำมากๆ ช่วยให้อุจจาระนิ่มขึ้น ลดการระคายเคืองขณะขับถ่าย
- ทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืช ป้องกันท้องผูก ขับถ่ายง่ายขึ้น
- ไม่เบ่งอุจจาระแรงเกินไป เพราะอาจทำให้แผลรุนแรงกว่าเดิมได้
- แช่ในน้ำอุ่น ประมาณ 10-20 นาทีหลังขับถ่าย เพื่อลดอาการปวดและช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อหูรูด
- ใช้ยาทาเพื่อลดการอักเสบ เช่น ครีมหรือขี้ผึ้งที่มีส่วนผสมของยาชาเฉพาะที่หรือตัวยาที่ช่วยลดการอักเสบ จะช่วยบรรเทาอาการปวดและทำให้แผลฟื้นตัวเร็วขึ้น (แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนซื้อมาใช้)
- ยาปรับสมดุลการขับถ่าย เช่น ยาระบายอ่อนๆ เพื่อช่วยให้อุจจาระนุ่มขึ้น และช่วยป้องกันไม่ให้เราต้องเบ่งอุจจาระแรงๆ
- การฉีดโบทูลินัมท็อกซิน (Botox) ช่วยลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหูรูดทวาร ทำให้แผลหายเร็วขึ้น
- การผ่าตัดหากแผลเรื้อรัง ในกรณีที่แผลขอบทวารไม่หายด้วยวิธีทั้งหมดที่กล่าวมา แพทย์อาจแนะนำให้ทำการผ่าตัดเพื่อเปิดกล้ามเนื้อหูรูดบางส่วน ทำให้แรงดันลดลงและช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
ริดสีดวงทวาร คืออะไร?
ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids) คือการบวมของหลอดเลือดที่อยู่รอบ ๆ หรือภายในทวารหนัก ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่เส้นเลือดในบริเวณทวารหนักมีแรงดันสูงผิดปกติ จนทำให้เกิดการโป่งพอง ส่งผลให้มีอาการไม่สบาย เจ็บปวด และอาจมีเลือดออกขณะขับถ่ายได้ โดยเบื้องต้นแล้ว โรคริดสีดวงทวารสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่- ริดสีดวงภายนอก (Internal Hemorrhoid) เกิดบริเวณนอกทวารหนัก สามารถมองเห็นหรือคลำได้เป็นตุ่มนูนที่ขอบทวาร ซึ่งมักมีอาการเจ็บปวด คัน และอาจมีเลือดออกระหว่างขับถ่าย
- ริดสีดวงภายใน (External Hemorrhoid) เกิดภายในทวารหนัก มักไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน แต่เมื่อเกิดการเสียดสีระหว่างการขับถ่ายอาจทำให้เลือดออกหรือรู้สึกระคายเคืองได้ ในบางกรณีริดสีดวงภายในอาจโผล่พ้นจากทวารหนักออกมา ทำให้รู้สึกเจ็บและอาจต้องใช้นิ้วดันกลับเข้าไปเพื่อให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
ริดสีดวงทวาร อาการเป็นอย่างไร?
ริดสีดวงทวาร อาการค่อนข้างคล้ายคลึงกับแผลขอบทวาร ซึ่งไม่ใช่ภาวะที่อันตรายต่อชีวิตเช่นกัน แต่ถ้าไม่รักษาหรือปล่อยให้เกิดการระคายเคืองอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้มีอาการรุนแรงขึ้น ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบาย ใช้ชีวิตลำบาก และต้องพบแพทย์เพื่อแก้ปัญหา โดยริดสีดวงทวารจะมีอาการเบื้องต้น คือ- รู้สึกคันหรือระคายเคืองบริเวณทวารหนัก
- มีก้อนเนื้อนูนออกมา ทำให้รู้สึกเจ็บหรือไม่สบายทวารหนัก
- มีเลือดออกขณะขับถ่าย ซึ่งมักเป็นเลือดสีแดงสด
- รู้สึกไม่สบายตัวหรือมีอาการปวดบริเวณทวาร
สาเหตุของริดสีดวงทวาร เกิดจากอะไร?
ริดสีดวงทวาร เกิดจากหลายปัจจัยเช่นกัน แต่โดยทั่วไปแล้วมักจะเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตมากกว่า ยกตัวอย่างสาเหตุของริดสีดวงทวาร เช่น- ท้องผูกเรื้อรัง การออกแรงเบ่งขับถ่ายเป็นเวลานานทำให้เส้นเลือดบริเวณรูทวารมีแรงดันสูงบ่อยครั้ง
- การยืนนานหรือการนั่งนานๆ ไม่ได้มีการเปลี่ยนท่านั่งบ่อยๆ อาจทำให้เลือดบริเวณทวารไหลเวียนไม่ดีจนเกิดการคั่งภายในหลอดเลือด
- การตั้งครรภ์ ทำให้มดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้น จนอาจกดทับเส้นเลือดในช่องท้องและทำให้เกิดริดสีดวงได้
- อายุที่เพิ่มขึ้น หลอดเลือดและกล้ามเนื้อบริเวณทวารหนักจะอ่อนแอลง ทำให้เกิดการโป่งพองได้ง่ายขึ้น
ริดสีดวงทวาร รักษาอย่างไร?
สำหรับริดสีดวงทวารหนัก รักษาได้ด้วยวิธีหลากหลาย และไม่เชิงแตกต่างจากการรักษาแผลขอบทวารเท่าใดนัก โดยจะมีทั้งแบบรักษาด้วยตัวเองควบคู่ไปกับวิธีรักษาทางการแพทย์ ได้แก่- ดื่มน้ำให้เพียงพอ จะช่วยให้อุจจาระนิ่ม ลดความเสี่ยงในการเกิดท้องผูกและลดการระคายเคืองขณะขับถ่าย
- ทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืช ป้องกันท้องผูก ลดโอกาสเบ่งอุจจาระแรงๆ
- หลีกเลี่ยงการนั่งนานๆ บนโถสุขภัณฑ์ เพราะการนั่งที่เดิมในท่าเดิมๆ นานเกินไปสามารถเพิ่มแรงดันที่บริเวณทวารหนัก ทำให้ริดสีดวงอาการแย่ลงกว่าเดิมได้
- แช่น้ำอุ่น ประมาณ 10-15 นาที หลังขับถ่ายหรือเมื่อรู้สึกปวด ช่วยลดการอักเสบและบรรเทาอาการเจ็บปวดบริเวณริดสีดวง
- ยาทาและขี้ผึ้ง ยาทาหรือขี้ผึ้งที่มีส่วนผสมของยาชาเฉพาะที่ ยาต้านการอักเสบ หรือสเตียรอยด์ สามารถบรรเทาอาการคัน ระคายเคือง และลดอาการบวม
- ใช้ยาเหน็บ ช่วยบรรเทาอาการปวด ลดอาการบวม โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นริดสีดวงภายใน
- ยาปรับสมดุลการขับถ่าย เช่น ยาระบายอ่อนๆ ที่ช่วยให้อุจจาระนุ่มขึ้น ลดการเสียดสีและระคายเคืองที่เกิดจากการขับถ่าย (ปรึกษาแพทย์ก่อนเท่านั้น)
- การรัดริดสีดวงด้วยยางรัด (Rubber Band Ligation) ใช้ยางรัดที่ฐานของริดสีดวงเพื่อหยุดการไหลเวียนของเลือดไปยังริดสีดวง ทำให้ก้อนริดสีดวงฝ่อลงและหลุดไปในที่สุด แต่วิธีนี้จะต้องดำเนินการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะหากทำเองอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อได้
- การฉีดสารระคายเคืองหลอดเลือด (Sclerotherapy) เป็นการฉีดสารชนิดหนึ่งเข้าไปในชั้นผิวรอบๆ ริดสีดวง เพื่อทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นฝ่อลงจนไม่สามารถลำเลียงไปเลี้ยงริดสีดวงได้ ทำให้เนื้อริดสีดวงตายลงและหลุดออกในที่สุด
- การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ริดสีดวง เป็นการใช้เลเซอร์ในการผ่าตัดแทนมีดผ่าตัด ทำให้ริดสีดวงฝ่อลง เหมาะสำหรับริดสีดวงขนาดเล็ก ยังไม่รุนแรง แต่วิธีจะสามารถกลับมาเกิดซ้ำได้
- การผ่าตัดริดสีดวง (Hemorrhoidectomy) สำหรับกรณีที่ริดสีดวงมีขนาดใหญ่หรือรุนแรงมาก แพทย์อาจแนะนำให้ทำการผ่าตัดเพื่อเอาริดสีดวงออกโดยตรง ซึ่งจะเป็นการผ่าตัดไปถึงขั้วเส้นเลือด ทำให้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้น้อยกว่า
แผลขอบทวารและริดสีดวงทวาร ป้องกันได้ไหม?
ทั้งแผลขอบทวารและริดสีดวงทวาร เป็นภาวะที่สามารถป้องกันได้ โดยการดูแลสุขภาพและปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดทั้งสองภาวะนี้ได้ดังนี้- ทานอาหารที่มีกากใยสูงอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ และธัญพืช เพื่อช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติและลดความเสี่ยงในการเป็นท้องผูก
- ดื่มน้ำเพียงพอทุกวัน อย่างที่ทราบกันว่าการดื่มน้ำมากๆ จะช่วยให้อุจจาระนิ่มขึ้น เราจึงควรดื่มน้ำให้เพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ เพื่อป้องกันท้องผูก อุจจาระแข็งเกินไปนั่นเอง
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ท้องผูก เช่น อาหารที่มีไขมันสูงและแป้งขัดขาว ไม่ควรทานเยอะ เพราะทำให้ท้องผูกได้ง่ายกว่าอาหารประเภทอื่น
- ไม่พยายามเบ่งอุจจาระแรง เพราะอาจทำให้เกิดแรงดันสูงของเส้นเลือดบริเวณทวารหนัก
- ไม่ใช้เวลานั่งขับถ่ายบนโถสุขภัณฑ์นานเกินไป หรือหลีกเลี่ยงการนั่งอยู่กับที่ในท่าเดิมนานๆ เพราะอาจจะทำให้ความดันบริเวณทวารหนักสูงขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดริดสีดวงทวาร
- ทำความสะอาดบริเวณทวารอย่างเหมาะสม ใช้น้ำอุ่นและสบู่อ่อนๆ ในการทำความสะอาด และหลีกเลี่ยงการใช้กระดาษชำระที่หยาบเกินไป เพราะอาจจะเสียดสีกับผิวบริเวณทวารหนักจนเกิดเป็นแผลได้
- เลือกใช้ผ้าเช็ดตัวที่มีผิวสัมผัสนุ่มนวล เมื่อทำความสะอาด ควรใช้ผ้าเช็ดตัวที่นุ่มและแห้ง เพื่อไม่ให้ระคายเคืองผิวหนังบริเวณทวารหนักมากเกินไป
- ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดท้องผูก และช่วยให้ร่างกายแข็งแรงในระยะยาวด้วย
- ควบคุมน้ำหนัก น้ำหนักตัวที่มากเกินไปอาจเพิ่มแรงดันในบริเวณทวารหนักได้
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เพิ่มแรงดันในช่องท้อง เช่น การยกของหนักหรือการออกกำลังกายหนักเกินไป
แผลขอบทวารและริดสีดวงทวาร ต่างกันอย่างไรบ้าง?
แม้ว่าแผลขอบทวารและริดสีดวงทวารจะเกิดขึ้นบริเวณทวารหนักและมีอาการที่คล้ายคลึงกัน แต่ทั้งสองภาวะนี้มีลักษณะการเกิด อาการ และการรักษาที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ดังนี้-
ตำแหน่งของแผลและสาเหตุ
แผลขอบทวาร เกิดจากรอยฉีกขาดเล็กๆ บริเวณผิวหนังรอบทวารหนัก โดยสาเหตุหลักมักเกิดจากการขับถ่ายที่ยากหรือการเบ่งที่รุนแรง ทำให้ผิวหนังบริเวณทวารเกิดการฉีกขาด ซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บปวดหรือแสบบริเวณขอบทวารหนัก
ริดสีดวงทวาร เกิดจากการบวมของเส้นเลือดในทวารหนักหรือบริเวณรอบทวารหนัก ริดสีดวงทวารแบ่งออกเป็นภายนอกและภายใน โดยสาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากการออกแรงเบ่ง การท้องผูก หรือการนั่งนานๆ ทำให้เส้นเลือดบริเวณทวารหนักมีแรงดันสูง จนเกิดเป็นก้อนนูนบริเวณทวารหนัก
-
ความรุนแรงและผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
แผลขอบทวาร หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม มักหายได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่หากปล่อยไว้ อาจกลายเป็นแผลเรื้อรังที่ทำให้เจ็บปวดเป็นเวลานานจนทำให้ใช้ชีวิตตามปกติลำบากได้
ริดสีดวงทวาร หากรุนแรงขึ้นหรือไม่รักษา ริดสีดวงอาจพัฒนาเป็นระยะเรื้อรัง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายและเกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา เช่น ภาวะเลือดออกบ่อยๆ หรือการติดเชื้อ อันอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้
-
ลักษณะอาการ
แผลขอบทวาร ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแสบอย่างมากในขณะขับถ่าย โดยเฉพาะเมื่อแผลขยับขณะขับถ่าย อาจมีเลือดสีแดงสดปนออกมาเล็กน้อยและรู้สึกระคายเคืองที่ขอบทวารตลอดเวลา
ริดสีดวงทวาร อาการที่พบบ่อยคือก้อนนูนหรือบวมบริเวณทวารหนัก อาจรู้สึกคันหรือระคายเคือง และบางครั้งมีเลือดออกขณะขับถ่าย กรณีรุนแรง ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดบริเวณทวารหนักอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหากริดสีดวงเกิดการอักเสบหรือเสียดสี
-
วิธีการรักษา
แผลขอบทวาร มักรักษาได้ด้วยวิธีการป้องกันท้องผูก เช่น การดื่มน้ำมากๆ รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง และหลีกเลี่ยงการเบ่งอุจจาระแรงเกินไป นอกจากนี้การใช้ยาทาที่ช่วยให้แผลสมานเร็วขึ้นก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการแผลขอบทวารเช่นกัน
ริดสีดวงทวาร การรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรง เช่น การใช้ยาทาบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบ การประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการบวม และในบางกรณีที่รุนแรงมากอาจต้องใช้วิธีการผ่าตัดแบบต่างๆ เพื่อลดขนาดของริดสีดวง ซึ่งจะเป็นการผ่าตัดแบบไหนนั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค