ในยุคที่สังคมกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว การดูแลผู้สูงวัยกลายเป็นประเด็นสำคัญที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ ปัญหาการขาดแคลนผู้ดูแล ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และความต้องการการดูแลที่มีคุณภาพ ทำให้นวัตกรรมด้านการดูแลผู้สูงอายุได้รับความสนใจอย่างมาก หนึ่งในนวัตกรรมที่กำลังเป็นที่จับตามองคือ “หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ” ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นผู้ช่วยในการดูแลผู้สูงวัยได้ตลอด 24 ชั่วโมง
หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ คืออะไร?
หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ (Robots for Elderly Care) คือ หุ่นยนต์ประเภทหนึ่งที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อให้การดูแลในด้านต่างๆ ของผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีการออกแบบให้หุ่นยนต์สามารถตอบโจทย์ความต้องการด้านต่างๆ ของผู้สูงอายุ อันมีจุดประสงค์เพื่อเน้นการตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และความสะดวกสบาย ลดภาระของครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ ทั้งยังมีความแม่นยำ ลดปัญหาที่เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ (Human Error) ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุได้
หน้าที่ของหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุมีหลากหลาย ตั้งแต่การช่วยเหลือในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น การเตือนให้รับประทานยา ช่วยเหลือให้ผู้ใช้สามารถเคลื่อนไหวได้สะดวก หรือแม้กระทั่งการให้ความบันเทิงเพื่อสร้างสุขภาพจิตที่ดี เช่น การสนทนาทั่วไป หรือการบอกเล่าข่าวสารต่างๆ ในขณะที่หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุบางรุ่นถูกพัฒนาให้มีความสามารถในการให้บริการทางการแพทย์ เช่น ตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ตรวจความดันโลหิต หรือติดตามพร้อมเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสภาพร่างกายของผู้สูงอายุแบบเรียลไทม์ เป็นต้น
การนำหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุมาใช้งาน เป็นแนวทางที่จะช่วยตอบสนองต่อความต้องการในยุคที่สังคมผู้สูงอายุขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ญี่ปุ่นและประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้ หุ่นยนต์จึงเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้ดูแล อีกทั้งยังสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้ดีอีกด้วย
หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ มีกี่ประเภท?
หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุสามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภทตามหน้าที่และความสามารถในการช่วยเหลือผู้สูงอายุ โดยมีการพัฒนาเพื่อรองรับความต้องการที่แตกต่างกันของผู้สูงวัยในด้านต่างๆ ดังนี้
-
เพื่อนหุ่นยนต์ (Companionship)
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า หุ่นยนต์สังคม (Social Robot) เป็นหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อการสื่อสารโดยเฉพาะ มีเป้าหมายในการลดความรู้สึกเหงาของผู้สูงอายุ โดยท่านสามารถสนทนา พูดคุย หรือรับข่าวสารที่เป็นประโยชน์ได้ นอกจากนี้ เพื่อนหุ่นยนต์หรือหุ่นยนต์สังคมยังสามารถตอบคำถามที่ผู้สูงอายุสงสัย และให้ความบันเทิงต่างๆ แก่ผู้สูงอายุได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเพลง การเล่านิทาน พอดแคสต์ หาภาพยนตร์ที่น่าสนใจ สามารถแจ้งเตือนเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ และช่วยในการติดต่อกับลูกหลานหรือครอบครัวได้ด้วย หุ่นยนต์ประเภทนี้จึงถือเป็นหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยในการสร้างปฏิสัมพันธ์และลดความเครียดได้ดี
-
หุ่นยนต์ดูแลทางการแพทย์ (Medical Assistance)
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า หุ่นยนต์สุขภาพ (Health Monitoring Robots) เป็นหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุที่จะทำหน้าที่ในการตรวจสุขภาพของผู้สูงอายุ ถูกออกแบบมาเพื่อติดตามและตรวจสอบสภาพร่างกายของผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถวัดค่าชีพจร ความดันผู้สูงอายุ ระดับน้ำตาลในเลือด หรือการตรวจจับสัญญาณเตือนเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน เช่น การหกล้ม เป็นต้น โดยหุ่นยนต์เหล่านี้สามารถแจ้งเตือนผู้ดูแลหรือหน่วยแพทย์เมื่อพบสัญญาณผิดปกติ ช่วยให้สามารถเข้าช่วยเหลือผู้สูงอายุได้อย่างทันท่วงที เหมาะกับผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องอาศัยอยู่คนเดียวที่บ้าน
-
หุ่นยนต์ดูแลด้านการเคลื่อนไหว (Mobility Assistance)
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า หุ่นยนต์กายภาพบําบัด (Rehabilitation Robots) เป็นหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุสำหรับฟื้นฟูและบำบัดร่างกาย ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถทำกายภาพบำบัดหรือเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น เหมาะกับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหว เช่น ผู้ที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวหลังจากการผ่าตัด หรือผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาตทั้งตัว อัมพาตครึ่งซีก เป็นต้น โดยหุ่นยนต์ประเภทนี้มักมาพร้อมระบบควบคุมการเคลื่อนไหวที่ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถทำกายภาพบำบัดได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้การดูแลของแพทย์
-
หุ่นยนต์ดูแลกิจวัตร (Daily Task Assistance)
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Assistive Robots โดยหุ่นยนต์ประเภทนี้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุในการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ที่ผู้สูงอายุไม่สามารถหรือลำบากในการทำกิจวัตรนั้นๆ เอง ยกตัวอย่างเช่น การช่วยยกของ การลุกนั่ง หรืองานบ้านอย่างการทำความสะอาด การทำสวน รดน้ำต้นไม้ เป็นต้น โดยหุ่นยนต์ดูแลกิจวัตรอาจมาพร้อมรูปลักษณ์ที่ประกอบด้วยแขนกลไกสำหรับช่วยพยุง หรือระบบเคลื่อนที่ที่สามารถรองรับน้ำหนักและเคลื่อนย้ายสิ่งของเองได้ หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุประเภทนี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดทางการเคลื่อนไหวสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างอิสระและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
จะเห็นได้ว่าหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุนั้นมีด้วยกันหลากหลายประเภท แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างคร่าวๆ สำหรับหุ่นยนต์ที่ช่วยทำหน้าที่ในการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะเท่านั้น ในปัจจุบัน ยังมีการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการพิเศษด้านอื่นๆ อีกด้วย เช่น โฮมบอท (Homebot หรือ Domestic robot) ที่เน้นช่วยทำงานบ้านเป็นหลัก หรือหุ่นยนต์ดูแลสัตว์เลี้ยง (Animal-Robot) สำหรับผู้สูงอายุที่เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
คุณสมบัติของหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ ควรมีอะไรบ้าง?
หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุจำเป็นต้องมีคุณสมบัติต่างๆ ที่ช่วยให้สามารถตอบสนองความต้องการและให้การดูแลที่มีคุณภาพแก่ผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม โดยเบื้องต้น คุณสมบัติของหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุที่ควรมี ได้แก่
-
ระบบการตรวจจับและวิเคราะห์ หุ่นยนต์ควรมีเซ็นเซอร์เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหว และควรมีเทคโนโลยี AI ที่สามารถวิเคราะห์สภาพแวดล้อม การเคลื่อนไหว และพฤติกรรมของผู้สูงอายุ เช่น การล้ม การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เพื่อให้สามารถควบคุมความปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุได้
-
การสื่อสารสองทาง หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ ควรสามารถสนทนากับผู้สูงอายุได้ และตอบสนองต่อคำถามหรือคำสั่งเสียงได้อย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย
-
การเคลื่อนไหวที่ยืดหยุ่น หุ่นยนต์ควรมีระบบการเคลื่อนไหวที่สามารถรองรับการช่วยเหลือผู้สูงอายุในกิจกรรมต่างๆ เช่น การเดิน การลุกนั่ง หรือการยกสิ่งของ โดยต้องมีความมั่นคงและแข็งแรงด้วย
-
การติดตามสัญญาณชีพ หุ่นยนต์ควรมีฟังก์ชันการตรวจวัดและติดตามสภาวะร่างกายแบบเรียลไทม์ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และระดับน้ำตาลในเลือด โดยควรจะสามารถแจ้งเตือนผู้ดูแลเมื่อพบความผิดปกติได้ด้วย
-
การเตือนการทานยา ควรมีระบบการเตือนให้ผู้สูงอายุทานยาในเวลาที่กำหนด โดยสามารถจัดระเบียบการทานยาในปริมาณที่ถูกต้องได้ด้วย
-
การตรวจจับอุบัติเหตุ หุ่นยนต์ควรมีระบบที่สามารถตรวจจับเหตุการณ์ที่อาจเป็นอันตราย เช่น การเกิดเพลิงไหม้ การบุกรุก ทำร้ายร่างกาย หรืออาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เช่น การสำลัก การขาดอากาศหายใจจากอาหารติดคอ เป็นต้น
-
การส่งสัญญาณเตือน ควรมีฟังก์ชันการส่งสัญญาณเตือนไปยังผู้ดูแลหรือหน่วยแพทย์เมื่อมีเหตุการณ์ที่ต้องการความช่วยเหลือ
-
การเรียนรู้และพัฒนา หุ่นยนต์ควรสามารถเรียนรู้พฤติกรรมและความต้องการของผู้สูงอายุเพื่อปรับปรุงการให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง
-
การปรับแต่งตามความต้องการ ควรมีความสามารถในการปรับแต่งฟังก์ชันการทำงานได้ เพราะความต้องการและความสะดวกสบายของผู้สูงอายุแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพเฉพาะด้าน
-
การใช้งานที่ง่าย หุ่นยนต์ควรมีอินเตอร์เฟซหรือจอแสดงผลที่ใช้งานง่ายสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งอาจรวมถึงระบบปุ่มกดหรือการควบคุมด้วยเสียงด้วย
-
ความเข้ากันได้กับเทคโนโลยีอื่น หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุควรสามารถทำงานร่วมกับอุปกรณ์และระบบอื่นๆ ที่ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุ เช่น สมาร์ทโฟน แอปพลิเคชัน หรือระบบการดูแลสุขภาพออนไลน์อื่นๆ ได้
-
รูปลักษณ์เป็นมิตร หุ่นยนต์ควรมีการออกแบบที่ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกสบายใจและเป็นมิตร ไม่ใช่รูปลักษณ์ที่น่ากลัวหรือแปลกประหลาดจนสร้างความกังวลให้กับผู้สูงอายุหรือผู้ใช้งาน
-
น้ำหนักและขนาดที่เหมาะสม ควรมีน้ำหนักและขนาดที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการใช้งานและการเคลื่อนย้าย ทั้งยังเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดด้วย
การพัฒนาหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณสมบัติเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้สูงอายุและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดภาระของผู้ดูแลและสมาชิกในครอบครัวด้วย แต่อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุบางประเภทอาจจะไม่ได้มีฟังก์ชันที่ครบครันทุกตัว ผู้ดูแลหรือครอบครัวควรจะปรึกษาแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ หรือตัวแทนให้บริการ เพื่อรับคำแนะนำว่าหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุประเภทไหนเหมาะกับความต้องการของผู้สูงอายุมากที่สุด
ตัวอย่างหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ ราคาเท่าไหร่บ้าง?
ปัจจุบันมีหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุหลายรุ่นที่ได้รับการออกแบบมาเฉพาะเพื่อให้การดูแลและสนับสนุนชีวิตประจำวัน โดยตัวอย่างที่เด่นชัดได้แก่ หุ่นยนต์ที่ช่วยในการเคลื่อนไหว ติดตามสุขภาพ และให้ความบันเทิงโดยจากข้อมูลงานวิจัยของ National Library of Medicine เกี่ยวกับกรณีศึกษาหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ มาดูกันว่ามีหุ่นยนต์ตัวไหนที่น่าสนใจบ้าง!
-
ARI ผลิตโดย PAL Robotics เป็นหุ่นยนต์บริการที่เคลื่อนที่ได้ในรูปลักษณ์ของหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ (Humanoid robot) หรือหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างคล้ายมนุษย์ ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อกระตุ้นการยอมรับในการใช้หุ่นยนต์สังคมและกระตุ้นการนำ AI มาใช้เพื่อการดูแลสุขภาพ ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ราว 3 ล้านบาท
-
ASTRO ผลิตโดย Amazon เป็นหุ่นยนต์ที่อาจมีบทบาทในการช่วยผู้สูงอายุทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การติดต่อสื่อสารกับลูกหลาน การแจ้งเตือนเวลาทานยาหรือทานอาหาร เป็นต้น ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 33,000 บาท
-
Care-O-bot ผลิตโดย Fraunhofer Institute เป็นหุ่นยนต์ประเภทช่วยเหลือกิจวัตรประจำวัน ทำงานได้หลากหลาย เช่น ช่วยหยิบของ จัดระเบียบบ้าน เหมาะกับผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 330,000-1,000,000 บาท ขึ้นอยู่กับฟังก์ชันการใช้งาน
-
Kompaï ผลิตโดย ROBOSOFT เป็นหุ่นยนต์กายภาพบําบัด ที่เหมาะสำหรับใช้ดูแลผู้สูงอายุเพื่อการฟื้นฟูร่างกาย โดยทำหน้าที่หลากหลาย เช่น การเฝ้าระวัง ช่วยในการเคลื่อนไหว แจ้งเตือนการหกล้ม จัดการการใช้จ่าย ช่วยในการติดต่อสื่อสาร กระตุ้นการทำงานของสมอง และช่วยตรวจสุขภาพ นอกจากนี้ ยังสามารถจดจำเสียงพูด ช่วยนำทางผ่านสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอน หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง และตรวจจับสถานการณ์ที่อาจเป็นอันตรายได้ สามารถเชื่อมต่อกับหุ่นยนต์ผ่านหน้าจอสัมผัสและสั่งการด้วยเสียง ทั้งยังมีที่จับเล็กๆ เพื่อช่วยพยุงให้ผู้สูงอายุลุกนั่งได้อย่างปลอดภัยด้วย ราคาเริ่มต้นราว 900,000 บาท
-
Pepper ผลิตโดย SoftBank Robotics เป็นหุ่นยนต์รูปลักษณ์ของหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ ที่มีความฉลาดมาก สามารถโต้ตอบและให้ข้อมูลได้ เคลื่อนไหวและใช้ในสถานที่ได้หลากหลาย รวมถึงบ้านพักคนชรา เน้นการให้ความบันเทิงและช่วยในการสื่อสาร
-
หุ่นยนต์ดินสอ ผลิตโดย CT Asia Robotics เป็นหุ่นยนต์สัญชาติไทยที่เน้นการดูแลผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ที่บ้านคนเดียว รวมไปถึงให้การดูแลผู้ป่วยติดเตียง มีฟังก์ชันสร้างความบันเทิง เชื่อมต่อกับทางโรงพยาบาลได้ และสามารถทำงานได้ตลอดทั้งวันทั้งคืน
สรุปข้อดี-ข้อเสียของการใช้หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ
การใช้หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ เป็นแนวทางที่จะช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระให้กับครอบครัวได้มาก และยังช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้ยังมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจนำมาใช้ดังนี้
ข้อดีของการใช้หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ
- ลดภาระการทำงานของผู้ดูแลในกิจวัตรประจำวัน เช่น ช่วยพยุงหรือยกของ
- เพิ่มความปลอดภัยในการใช้ชีวิต ด้วยฟังก์ชันตรวจจับการหกล้มและแจ้งเตือนกรณีฉุกเฉิน
- ช่วยติดตามและตรวจสุขภาพประจำวัน เช่น เตือนรับประทานยา หรือวัดความดัน
- ช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะในงานด้านสุขอนามัย ไม่ต้องให้ผู้ดูแลช่วยส่วนตัว
- มีบทบาทเป็นเพื่อนคลายเหงา ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกไม่โดดเดี่ยว ไม่เครียด วิตกน้อยลง
ข้อเสียของการใช้หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ H3
- ราคาสูงมาก ทำให้การเข้าถึงเป็นเรื่องยากสำหรับบางครอบครัว
- ผู้สูงอายุบางคนอาจใช้งานหุ่นยนต์ไม่คล่องแคล่ว ต้องการการฝึกฝนอย่างละเอียด
- ขาดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่แท้จริง ซึ่งอาจทำให้ผู้สูงอายุขาดมนุษยสัมพันธ์ในระยะยาวได้
- ฟังก์ชันของหุ่นยนต์ยังไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ซับซ้อนได้ดีเท่ามนุษย์จริงๆ
สรุป หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ นวัตกรรมสู่การใส่ใจ
หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุเป็นนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย และเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งแม้จะมีความท้าทายที่หลากหลาย เพราะความต้องการของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ทั้งยังมีสถานการณ์ต่างๆ ที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนเกิดขึ้นมากมายในชีวิตประจำวัน แต่ปัจจุบัน ก็ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้ได้
อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุควรเป็นเครื่องมือเสริมเท่านั้น ไม่ใช่มีไว้เพื่อทดแทนการดูแลผู้สูงอายุแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะการมีปฏิสัมพันธ์และการเอาใจใส่ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดูแลผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพ และข้อจำกัดของหุ่นยนต์นั้นยังคงมีอยู่มาก ดังนั้น หากใครกำลังมองหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุได้อย่างเต็มที่ SaiJai.co ขอแนะนำบริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านโดยเจ้าหน้าที่มืออาชีพ หรือจะเป็นบริการดูแลผู้สูงอายุที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ หรือการใช้บริการบ้านพักคนชราก็ได้เช่นกัน! เรารวมมาให้แล้วเพียงแค่คลิกเดียว ก็หาบริการที่ถูกใจได้เลย!
แหล่งอ้างอิง
- https://care.samarth.community/blog/memory-cognition/robots-for-senior-care/
- https://www.technologyreview.com/2023/01/09/1065135/japan-automating-eldercare-robots/
- https://www.nature.com/articles/d41586-024-01184-4
- https://www.chula.ac.th/highlight/179706/
- https://www.posttoday.com/smart-life/706340
- https://www.youtube.com/watch?v=ykpr7hKOjCM
- https://pmc.ncbi.nlm.nih.gov/articles/PMC10178192/