“การดูแลผู้ป่วยติดเตียง” ถือว่าเป็นภารกิจที่ท้าทายและต้องการความเอาใจใส่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการป้องกันแผลกดทับ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก การดูแลนี้ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในตัวผู้ป่วยเป็นอย่างดี แต่บ่อยครั้งที่สถานการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ทำให้ผู้ดูแลอาจไม่พร้อมรับมือ
วันนี้ Saijai.co จึงมีการรวบรวมคู่มือ 1 วันในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงเพื่อป้องกันแผลกดทับ ซึ่งจะให้แนวทางปฏิบัติที่ครอบคลุมตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่การจัดท่านอน การพลิกตัว การดูแลผิวหนัง ไปจนถึงโภชนาการและการออกกำลังกายเท่าที่ทำได้ โดยมุ่งเน้นให้ผู้ดูแลสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และมีความสุขสบายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่คาดคิด
ความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างเหมาะสม
ผู้ป่วยติดเตียงโดยส่วนนั้นมักจะต้องประสบกับปัญหาทางสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่มีคุณภาพลดลง เนื่องจากไม่สามารถเคลื่อนไหวเพื่อใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิม ดังนั้น จึงต้องอาศัยการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่เหมาะสม เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้นมากที่สุด โดยวิธีการดูแลอย่างถูกต้องจะมีประโยชน์แก่ตัวผู้ป่วยและครอบครัวดังนี้
-
ช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดี
หากผู้ป่วยมีสภาพแวดล้อมที่ดี ก็จะช่วยให้การฟื้นฟูร่างกายพัฒนาไปในทางที่ดีเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องของความเจ็บปวดจากอาการของโรค ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยติดเตียงหลายคนมี ถ้าหากครอบครัวสามารถให้การดูแลได้อย่างถูกต้องก็จะช่วยลดความเจ็บปวดดังกล่าวได้ อีกทั้งยังสามารถปรับสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นสำหรับทั้งตัวผู้ป่วยเองและคนรอบข้าง
-
ช่วยรักษาสุขอนามัยของผู้ป่วย
การดูแลผู้ป่วยติดเตียงตามหลักที่ถูกต้องนั้น จะเป็นการรักษาความสะอาดในด้านต่างๆ ของผู้ป่วย ดังนั้น จึงเป็นการเสริมสร้างสุขอนามัยที่ดีแก่ผู้ป่วย เพราะสภาพแวดล้อมของผู้ป่วยจะต้องสะอาด ปลอดโปร่ง และปลอดเชื้อ ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพด้วย
-
ช่วยจัดการโภชนาการอย่างถูกต้อง
ในบริการดูแลผู้ป่วยติดเตียงบางประเภท อาจครอบคลุมถึงการจัดการสารอาหารในแต่ละมื้อของผู้ป่วยด้วย ซึ่งจะช่วยปรับโภชนาการให้เหมาะสมกับการฟื้นฟูร่างกาย ช่วยรักษามวลกระดูกและกล้ามเนื้อ ไปจนถึงการป้องกันการเกิดภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition)
-
ช่วยให้การดูแลรักษาโรคได้เหมาะสม
ผู้ป่วยติดเตียงบางประเภทอาจจะต้องได้รับการรักษา ป้องกัน หรือประคับประคองโรคในระหว่างฟื้นฟูร่างกาย ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างถูกต้องจะช่วยให้ตัวผู้ป่วยเองได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมไปด้วย เช่น การใช้ยา การปรับกิจวัตร เป็นต้น
ปัญหาของผู้สูงอายุป่วยติดเตียง มีอะไรต้องระมัดระวังบ้าง?
อาการแทรกซ้อนของผู้ป่วยติดเตียงนั้นมีความหลากหลายมาก เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้หรือทำได้น้อย และการที่ร่างกายของคนเราอยู่กับที่นานๆ โดยไม่ได้ออกแรงหรือทานอาหารอย่างเหมาะสมก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนได้ทุกเมื่อ ยกตัวอย่างอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยติดเตียง เช่น
-
แผลกดทับ
เป็นภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยติดเตียงที่พบได้บ่อยที่สุด โดยแผลกดทับ (Pressure Sore) จะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายของเราอยู่กับที่นานๆ จนทำให้น้ำหนักตัวไปกดทับผิวหนังซึ่งจะส่งผลไปถึงกล้ามเนื้อและกระดูก เมื่อเวลาผ่านไปแล้วผู้ป่วยไม่ได้รับการเปลี่ยนท่านอนหรือนั่ง ก็อาจทำให้เกิดการอักเสบ ติดเชื้อ ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวถูกทำลาย ซึ่งจะสร้างความเจ็บปวดรุนแรงให้กับผู้ป่วยอย่างมาก
-
อาการเลือดคั่ง
เป็นอีกหนึ่งภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยเช่นกัน อาการเลือดคั่งหรือเรียกอีกอย่างว่าการเกิดลิ่มเลือด (Blood Clots) คือภาวะที่เลือดในหลอดเลือดมีการไหลเวียนช้ามากๆ จนทำให้อุดตันอยู่ในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะพบได้ที่ขาหรือปอด ลักษณะผิวจะมีอาการบวม กดแล้วเจ็บปวด ซึ่งเกิดจากการไม่เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานาน
-
การติดเชื้อ
สืบเนื่องมาจากการเกิดแผลกดทับ ร่วมกับการไม่ได้ออกกำลังกายและไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติเพราะร่างกายจะเริ่มอ่อนแอลง บางรายส่งผลให้ภูมิคุ้มกันตกไปด้วย โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดการติดเชื้อที่ปอดเนื่องจากการสะสมของเหลวจนทำให้ปอดอักเสบ หรือทางเดินปัสสาวะอักเสบเนื่องมาจากการต้องกลั้นปัสสาวะ การทำความสะอาดไม่ทั่วถึง หรือการขาดน้ำ
-
ภาวะทุพโภชนาการ
เป็นผลข้างเคียงของการนอนติดเตียงอันดับต้นๆ เช่นกัน เนื่องจากผู้ป่วยติดเตียงมักจะมีปัญหาในการทานอาหาร โดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งอาจมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วย เมื่อร่างกายไม่ได้รับพลังงานที่เพียงพอ สารอาหารไม่ครบถ้วน ก็จะส่งผลให้ร่างกายสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและไขมัน รู้สึกอ่อนเพลียตลอดเวลา ป่วยง่ายหายช้า มีปัญหาในการย่อย และอื่นๆ อีกมากมาย
-
ปัญหาโรคผิวหนัง
ในผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง อาจจะเกิดปัญหาโรคผิวหนังหลายชนิด อันเนื่องมาจากการมีสุขอนามัยที่ไม่ดีพอ เช่น เช็ดตัวไม่แห้ง ทำความสะอาดสารคัดหลั่งไม่หมดจด การนอนบนเตียงที่ไม่ได้เปลี่ยนผ้าปู หรือการไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเพื่อรักษาความชุ่มชื้น เป็นต้น
-
ปัญหาทางจิตใจ
การดูแลผู้ป่วยติดเตียงนั้นจะหมายถึงการดูแลสุขภาพจิตของผู้ป่วยด้วยเสมอ เพราะผู้ป่วยอาจจะรู้สึกเหงา เศร้า เจ็บปวด อ่อนเพลีย หรือโดดเดี่ยวได้มากกว่าปกติ เพราะไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือไปทำกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำได้ตามปกติ อันอาจนำไปสู่การเกิดภาวะทางจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล เป็นต้น
การเตรียมตัวดูแลผู้ป่วยติดเตียง ต้องทำอย่างไร?
ในสถานการณ์ที่กะทันหัน เราจะต้องให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายของผู้ป่วย ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยอาจจะเริ่มมองหาการเตรียมพร้อมดังต่อไปนี้
-
ตรวจสอบก่อนว่าเป็นผู้ป่วยติดเตียงระดับไหน
ผู้ป่วยติดเตียงนั้นมีระดับที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการเจ็บป่วย ซึ่งก็จะมีผลต่อการปรับเปลี่ยนมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงไปด้วย เบื้องต้นจึงต้องพิจารณาก่อนว่าผู้ป่วยติดเตียงอยู่ในระดับใด แล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนการจัดการรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป โดยเราสามารถแบ่งผู้ป่วยติดเตียงออกเป็น 3 ระดับด้วยกัน ได้แก่
-
- สีเขียว: เป็นกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงที่มีอาการไม่หนัก เคลื่อนไหวเองได้บ้าง ทำกิจวัตรประจำวันได้หลายอย่างโดยไม่ต้องรับความช่วยเหลือ แต่ยังคงต้องติดตามอาการอยู่ตลอด
- สีเหลือง: เป็นกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงที่ร่างกายไม่แข็งแรง เคลื่อนไหวเองได้น้อยหรือไม่ได้เลย อาจเกิดจากภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรืออัมพาตครึ่งซีก ต้องดูแลเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อน
- สีแดง: เป็นกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่มีความสามารถในการเคลื่อนไหวได้เลย พลิกตัวหรือลุกนั่งด้วยตัวเองไม่ได้ ไม่มีความรู้สึกตัว ต้องนอนติดเตียงตลอดเวลา ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาจากบุคลากรทางการแพทย์
-
เตรียมอุปกรณ์สำหรับการดูแลผู้ป่วยติดเตียง
เมื่อพิจารณาแล้วว่าผู้ป่วยติดเตียงนั้นอยู่ในระดับไหน ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับการดูแลผู้ป่วยติดเตียงระดับนั้นๆ โดยเฉพาะ ซึ่งจะมีความจำเป็นที่แตกต่างกัน โดยอุปกรณ์ที่ใช้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงระดับรุนแรงนั้นจะมีเยอะกว่าเพราะโอกาสในการเกิดแผลกดทับและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ สูง แนะนำให้สอบถามผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมเพื่อจัดรายการของใช้ที่จำเป็นอย่างถูกต้อง
ยกตัวอย่างของใช้ผู้ป่วยติดเตียง ที่ต้องเตรียมเอาไว้ก่อน ได้แก่
-
- ถุงปัสสาวะผู้ป่วยติดเตียง (Disposable Urinal Toilet Bag) มีไว้เผื่อกรณีฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยติดเตียงถ่ายบ่อย ปัสสาวะบ่อย โดยถุงปัสสาวะผู้ป่วยติดเตียงยังเก็บทำความสะอาดได้ง่าย ผู้ป่วยสามารถใช้งานเองได้กรณีที่ปวดปัสสาวะหนัก
- ที่นอนป้องกันแผลกดทับ (Bed Pads) เป็นที่นอนหรือฟูกที่ออกแบบมาเพื่อลดโอกาสการเกิดแผลกดทับโดยเฉพาะ
- บันไดเชือก (Bed Rope Ladder) มีไว้สำหรับให้ผู้ป่วยสามารถดึงตัวเองลุกขึ้นนั่งได้สะดวกพร้อมช่วยฝึกกล้ามเนื้อ
- หม้อนอน (Bed Pan) เป็นหม้อสำหรับใช้ขับถ่ายของเสีย ถูกออกแบบมาให้สามารถใช้บนเตียงในท่านอนได้สะดวก แนะนำเป็นแบบสแตนเลส
- เตียงผู้ป่วยไฟฟ้า (Electric Hospital Bed) เป็นเตียงที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยติดเตียงโดยเฉพาะ เนื่องจากสามารถปรับท่านอนได้ด้วยรีโมท เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ดูแล
- โต๊ะคร่อมเตียง (Overbed) เป็นโต๊ะที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เลื่อนขยับได้ โดยจะมีขาโต๊ะเพียงข้างเดียว ทำให้สามารถเลื่อนเข้ามาคร่อมเตียงผู้ป่วย ช่วยอำนวยความสะดวกในการทานอาหารบนเตียง
- เสาน้ำเกลือแบบมีล้อเลื่อน (IV Stand) ใช้สำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องให้น้ำเกลือบ่อยหรือตลอดเวลา การใช้เสาน้ำเกลือแบบมีล้อเลื่อนจะช่วยให้เคลื่อนย้ายได้สะดวกขึ้น
- ผ้าสะอาดและทิชชู่เปียก (Towel and Wet wipes) สำหรับใช้เช็ดตัวผู้ป่วยหรือเช็คทำความสะอาดผิว หรือเผื่อสำหรับใช้ฉุกเฉินเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่น น้ำหก หรือผู้ป่วยตกจากเตียงจนเป็นแผลเลือดออก
- ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ (Adult Diapers) มีไว้สำหรับผู้ป่วยติดเตียง ถ่ายบ่อย ซึ่งอยู่ในระดับสีเหลืองขึ้นไป โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่ถ่ายบ่อยหรือไม่สามารถลุกไปเข้าห้องน้ำเองได้เลย
- เก้าอี้ห้องน้ํา (Bedside Commode) เป็นเก้าอี้สำหรับทำธุระส่วนตัวแบบนั่ง ซึ่งสามารถใช้ได้กับผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถเดินไปห้องน้ำได้สะดวก แต่สามารถลุกนั่งได้ หรือผู้ป่วยติดเตียง ถ่ายบ่อย ก็สามารถใช้เก้าอี้ห้องน้ำแทน จะได้ไม่ต้องลุกเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ ก็ได้
- วีลแชร์ (Wheelchair) มีให้เลือกหลากหลายแบบ เหมาะกับการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่สามารถเดินทางหรือออกจากบ้านได้ เป็นการช่วยให้ผู้ป่วยได้เปลี่ยนบรรยากาศ เคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้สะดวกกว่าการพยุงหรืออุ้ม
- เครื่องผลิตออกซิเจน (Oxygen Concentrator) สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอด การหายใจ หรือต้องการเครื่องช่วยหายใจ เครื่องผลิตออกซิเจนจะช่วยคงปริมาณออกซิเจนในเลือดของผู้ป่วยติดเตียงไม่ให้ลดลงไปอยู่ในระดับอันตราย
- วอร์คเกอร์ (Walker) เหมาะกับผู้ป่วยติดเตียงที่ยังคงสามารถเดินไปไหนมาไหนได้ แต่ยังไม่สามารถพยุงตัวเองได้ การใช้วอร์คเกอร์จะช่วยพยุงให้การเดินมั่นคงยิ่งขึ้น
- เครื่องวัดความดันเลือด (Blood pressure Monitors) สำหรับตรวจเช็คอาการของผู้ป่วยติดเตียงที่มีความดันไม่คงที่
- เครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือด (Blood Glucose Meter) สำหรับตรวจระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือด
นอกเหนือจากอุปกรณ์เบื้องต้นที่กล่าวมา ก็อาจจะมีอุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย ขึ้นอยู่กับภาวะหรือโรคของผู้ป่วย ซึ่งจะต้องมีการจัดสรรอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ เพื่อประกอบการดูแลรักษาโรคให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
-
สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการพักผ่อน
สภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการนอนพักจะช่วยให้ผู้ป่วยติดเตียงได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอและมีคุณภาพยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมชุดผ้าปูเตียงไว้เปลี่ยนหลายๆ ชุด, การเตรียมเสื้อผ้าที่ไม่ระคายเคืองผิว ใส่แล้วระบายอากาศได้ดี, ห้องนอนที่มีอากาศถ่ายเทปลอดโปร่ง, การเตรียมวิธีช่วยรักษาความสะอาดต่างๆ เช่น สุขอนามัยช่องปาก ศีรษะ ดวงตา หรืออาจจะเป็นการเตรียมสถานที่เพื่อให้สามารถพาผู้ป่วยออกไปพบเจอกับสิ่งแวดล้อมนอกบ้านเพื่อให้รู้สึกสดชื่นยิ่งขึ้นระหว่างพักฟื้นก็ได้เช่นกัน
-
จัดเตรียมมื้ออาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วย
การดูแลผู้ป่วยติดเตียงมักจะต้องการสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ดังนั้น ครอบครัวจึงต้องจัดเตรียมตารางอาหารสำหรับผู้ป่วย ซึ่งควรจะมีสารอาหารครบ 5 หมู่ เป็นอาหารที่ช่วยบำรุงการฟื้นตัวของร่างกาย เช่น วิตามิน แร่ธาตุ และโปรตีน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน คาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรือน้ำตาลสูง เพราะจะทำให้ร่างกายอักเสบ เตรียมน้ำไว้อย่างเพียงพอ และอาจจะเตรียมขนมทานเล่นแคลต่ำเอาไว้ให้ผู้ป่วยทานแก้เบื่อด้วยก็ได้เช่นกัน
- พูดคุยกับคนอื่นๆ ในครอบครัวให้เรียบร้อย
แผนการดูแลผู้ป่วยติดเตียงอาจจะไม่เป็นไปอย่างราบรื่น หากเราไม่ได้ตกลงกับคนในครอบครัวถึงแนวทางปฏิบัติเพื่อดูแลผู้ป่วยติดเตียงก่อน สำหรับคนในครอบครัวที่อาสาเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงในบ้านเองนั้นต้องการพื้นที่เพื่อใช้เวลาไปกับการเอาใจใส่ผู้ป่วย ซึ่งอาจสร้างความเครียดให้กับตัวผู้ดูแล คนอื่นๆ ในครอบครัวจึงต้องทำความเข้าใจกับขั้นตอนการดูแลผู้ป่วย ให้กำลังใจและพูดคุยเอาใจใส่ผู้ป่วยกับผู้ดูแลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความสัมพันธ์และสภาพแวดล้อมที่ดี
-
ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญร่วมด้วย
หากครอบครัวที่มีผู้ป่วยติดเตียงพบว่ามีปัญหา ต้องการคำแนะนำ หรือความช่วยเหลือใดๆ ในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง แนะนำให้ติดต่อเพื่อปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยติดเตียง หรือปรึกษาเจ้าหน้าที่หรือผู้มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงมาก่อนได้ทันที ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จะช่วยให้คำแนะนำอย่างตรงจุดมากกว่าและอาจสนับสนุนความช่วยเหลือในด้านต่างๆ อย่างครอบคลุม
แชร์เทคนิค! การดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน 1 วันต้องทำอะไรบ้าง?
การดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน 1 วัน จะเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าจนกระทั่งถึงเวลาก่อนนอน ซึ่งระหว่างวันก็ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่พึงปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ในหัวข้อนี้ Saijai.co ขอแชร์เทคนิคการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้านด้วยตัวเองให้มีคุณภาพ!
-
การเปลี่ยนท่านอน
เป็นการดูแลผู้ป่วยติดเตียงข้อที่สำคัญที่สุด เนื่องจากผู้ป่วยติดเตียงจะต้องอยู่กับที่เป็นส่วนใหญ่ ทำให้มีโอกาสเกิดแผลกดทับได้ง่าย ดังนั้น ผู้ดูแลจึงต้องจัดเปลี่ยนท่านอนให้กับผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอทุกๆ สองชั่วโมง ระหว่างนอนต้องใช้หมอนรองนั่งและที่นอนป้องกันแผลกดทับด้วย เพราะถึงแม้จะมีการจัดท่าใหม่ตลอดก็อาจมีแผลกดทับเกิดขึ้นได้เช่นกัน
-
การดูแลผิวหนัง
ผิวหนังของผู้ป่วยติดเตียงมักจะมีโอกาสสูญเสียความชุ่มชื้นและความแข็งแรงไปมาก เนื่องจากทานน้ำและอาหารไม่เพียงพอ รวมไปถึงระดับสุขอนามัยที่อาจไม่ทั่วถึงมากพอ โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียง ถ่ายบ่อย ถ่ายเองไม่ได้ อาบน้ำเองไม่ได้ ซึ่งต้องอาศัยผู้ดูแลในการช่วยรักษาความสะอาดผิวหนังบริเวณที่หมักหมมง่าย ต้องอาบน้ำหรือเช็ดตัวให้ผู้ป่วยทุกวัน ซับผิวให้แห้งด้วยผ้าสะอาดอย่างทั่วถึง เปลี่ยนให้ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
-
การรักษาความสะอาด
ความสะอาดที่ผู้ดูแลจะต้องใส่ใจมากที่สุดคือความสะอาดของห้องนอนและเครื่องนอน แนะนำให้เปลี่ยนชุดเครื่องนอนทุกๆ วัน ตั้งแต่ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ปลอกหมอนรองนั่ง หรือของใช้ผู้ป่วยติดเตียงชิ้นอื่นๆ ที่ต้องสัมผัสกับตัวผู้ป่วยตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ ก็ยังมีการรักษาความสะอาดของช่องปากที่หลายคนอาจจะมองข้ามไป แนะนำให้ใช้น้ำยาบ้วนปากร่วมกับการแปรงฟัน และอาจเสริมผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อป้องกันการเกิดคราบหินปูนและป้องกันโรคปริทันต์ด้วย
-
การให้ยาตามกำหนด
หากผู้ป่วยติดเตียงมีโรคซึ่งต้องรักษาหรือต้องการการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ก็มักจะต้องทานยาเป็นประจำสม่ำเสมอ ผู้ดูแลต้องใส่ใจกำหนดเวลากินยาให้ครบถ้วน แนะนำให้ตั้งเวลาแจ้งเตือนการทานยาไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม เนื่องจากผู้ดูแลอาจจะรู้สึกอ่อนเพลียหรือหลงลืมเวลาทานยาของผู้ป่วยได้
-
การเปลี่ยนบรรยากาศ
ผู้ป่วยติดเตียงนั้นต้องการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อให้สุขภาพกายและสุขภาพใจแข็งแรงไปพร้อมๆ กัน การให้ผู้ป่วยอยู่แต่ในห้องอาจทำให้รู้สึกอึดอัด หายใจไม่ทั่วถึง แนะนำให้พาผู้ป่วยออกไปนั่งเล่นนอกบ้านในที่ร่มหรือริมระเบียง เพื่อรับอากาศที่สดชื่น หรือในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถลุกหรือเคลื่อนย้ายจากเตียงได้เลย แนะนำเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเท แต่ระวังเรื่องความร้อนชื้นภายในห้อง เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเหงื่อออกและเกิดการหมักหมม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดแผลกดทับได้ด้วย
-
การบริหารกล้ามเนื้อ
นอกจากการเปลี่ยนท่านอนเป็นประจำแล้ว เราจะต้องบริหารกล้ามเนื้อด้วย โดยเริ่มจากการการออกกำลังกายแบบ Passive หรือการช่วยขยับแขนและขาให้ผู้ป่วยอย่างเบามือ หากผู้ป่วยสามารถขยับตัวได้บ้าง แนะนำให้ออกกำลังกายแบบ Active คือฝึกให้ผู้ป่วยขยับร่างกายในท่าทางต่างๆ ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ ก็จะมีการออกกำลังกายแบบใช้แรงต้านเช่นการใช้บันไดเชือกที่ผู้ป่วยจะต้องใช้แรงในการพยุงตัวเองขึ้นมา หรือการฝึกหายใจเข้าออกเพื่อบริหารปอด เป็นต้น
-
การส่งเสริมสุขภาพจิต
แม้การเปลี่ยนบรรยากาศ สื่อสารกับผู้ป่วย หรือสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อผู้ป่วย ก็อาจยังไม่เพียงพอต่อการปรับปรุงอารมณ์ด้านลบของผู้ป่วย เนื่องจากสภาพร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้ผู้ป่วยมีแนวโน้มเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้าสูงมาก ดังนั้น การหาวิธีส่งเสริมสุขภาพจิตจึงจำเป็นต่อการดูแลผู้ป่วยติดเตียงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ยกตัวอย่างเช่น การทำกิจกรรมต่างๆ กับผู้ป่วย พาไปเดินเล่น พาไปเที่ยวในที่ที่อยากไป เล่นเกมฝึกสมองกับผู้ป่วย ชวนดูหนังที่บ้าน เปิดเพลงผู้ป่วยชอบให้ฟัง หรือจัดมื้ออาหารของโปรดให้ผู้ป่วยทานสักหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ เป็นต้น
-
การจัดการกับความเจ็บปวด
ผู้ป่วยติดเตียงมักจะรู้สึกไม่สบายตัวหรือรู้สึกถึงความเจ็บปวดได้ง่ายเมื่อต้องอยู่กับที่นานๆ โดยเฉพาะกับผู้ป่วยติดเตียงที่เกิดแผลกดทับไปแล้ว ผู้ดูแลจะต้องจัดสรรยาต่างๆ เพื่อลดความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยด้วย เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ และต้องจัดตำแหน่งในการนอนหรือนั่งที่สะดวกสบาย ลดความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วย หรือหาวิธีอื่นๆ เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวดนั้นเช่น ใช้หมอนรองกรณีที่ผู้ป่วยปวดหลัง เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการให้ยาหรือใช้วิธีบรรเทาความเจ็บปวดอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากคำแนะนำเบื้องต้นด้วย
-
การป้องภาวะแทรกซ้อน
จากที่ได้อธิบายไปว่าผู้ป่วยติดเตียงมักจะมีอาการแทรกซ้อนได้ง่าย เนื่องจากสภาพร่างกายอยู่ในภาวะที่อ่อนแอกว่าปกติ ยกตัวอย่างการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น ใช้น้ำยาบ้วนปากเพื่อป้องกันโรคเหงือกอักเสบ, ใช้ถุงน่องสำหรับลดเส้นเลือดขอดหรือลิ่มเลือดอุดตัน, การตรวจความดัน ระดับน้ำตาลในเลือด และสัญญาณชีพของผู้ป่วยทุก 1-2 ชั่วโมงเพื่อสังเกตอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เป็นต้น
Reminder! การดูแลผู้ป่วยติดเตียง สามารถขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญได้นะ!การดูแลผู้ป่วยติดเตียงนั้นไม่จำเป็นต้องดูแลด้วยตัวเองเสมอไป หากครอบครัวติดภารกิจหรือมีภาระอื่นๆ ที่ต้องจัดการ ก็สามารถมองหาคนดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้านหรือฝากผู้ป่วยเอาไว้ที่ศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงก็ได้ หรือในกรณีที่ครอบครัวมองหาการอบรมวิธีดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน ก็สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากสถานพยาบาลที่ให้บริการอบรมก็ได้เช่นกัน! ตามหาคนดูแลผู้ป่วยติดเตียงมืออาชีพ? เลือกได้ที่ Saijai.co ใส่ใจทุกการดูแล เพื่อผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่คุณรัก |
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการเลือกการดูแลผู้ป่วยติดเตียง
การดูแลผู้ป่วยติดเตียงนั้นต้องอาศัยความละเอียดเป็นอย่างมาก เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายประเภท ทั้งการมีผู้ป่วยติดเตียงในครอบครัวก็มักเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ทำให้หลายครอบครัวมีข้อสงสัยบางประการเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยติดเตียง ดังนี้
-
ผู้ป่วยติดเตียง อาบน้ำยังไง?
วิธีการอาบน้ำของผู้ป่วยติดเตียงจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค หากผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวหรือเคลื่อนย้ายได้ ก็อาจเลือกเป็นการอาบน้ำในห้องน้ำตามปกติ แต่อาจจะต้องมีผู้ดูแลเข้าไปช่วยเหลือเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในห้องน้ำ ส่วนผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถขยับตัวได้เลย จะต้องให้ผู้ดูแลใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดเช็ดให้ทั่วตัวแล้วฟอกสบู่ จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาดจนหมด และซับน้ำให้แห้งด้วยผ้าสะอาดอย่างทั่วถึงอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม หากพบว่าการอาบน้ำให้ผู้ป่วยมีปัญหา เช่น อาบให้แล้วรู้สึกไม่สะอาด หรืออาบบนเตียงแล้วลำบาก แนะนำให้มองหาเตียงอาบน้ำสำหรับผู้ป่วยติดเตียง หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุด
- ผู้ป่วยติดเตียง ถ่ายบ่อย เกิดจากอะไร?
หากผู้ป่วยติดเตียง ถ่ายบ่อย ถ่ายถี่เกินไป อาจจะต้องตั้งข้อสงสัยแรกว่าเกิดอาการท้องเสียหรือไม่ แต่ถ้าผู้ป่วยติดเตียง ถ่ายบ่อยผิดปกติ แม้จะพึ่งเช็ดทำความสะอาดก็ถ่ายออกมาอีก อาจเป็นเพราะผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนอย่างหูรูดทำงานได้ไม่ดี หรือมีปัญหาท้องผูกจนทำให้ขับถ่ายกระปิดกระปรอย สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำได้
- ผู้ป่วยติดเตียง มีโอกาสหายไหม?
จากที่ได้อธิบายไปว่า ผู้ป่วยติดเตียงนั้นไม่ได้เกิดจากโรคร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ป่วยติดเตียงบางกลุ่มอาจจะต้องนอนติดเตียงเพราะภาวะหรือสถานการณ์บางอย่างเช่น ต้องฟื้นตัวจากการผ่าตัด ผ่านอุบัติเหตุที่ทำให้กระดูกบริเวณหลังแตกหัก หรือภาวะอื่นๆ ที่ต้องจำกัดการเคลื่อนไหว ดังนั้น ในทางการแพทย์จึงไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าผู้ป่วยติดเตียงทุกราย จะมีโอกาสหายเหมือนกันหมด
-
อาหารผู้ป่วยติดเตียง มีอะไรบ้าง?
ส่วนใหญ่แล้วอาหารผู้ป่วยติดเตียงระดับสีเขียวหรือเหลือง มักจะเป็นอาหารทั่วๆ ไป เนื่องจากผู้ป่วยที่สามารถเคลื่อนไหวเองได้นั้นมีแนวโน้มที่จะแข็งแรงกว่าผู้ป่วยติดเตียงระดับสีแดง ดังนั้น หากผู้ป่วยในครอบครัวไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เลย แนะนำให้เลือกเป็นอาหารย่อยง่าย เช่น อาหารจำพวกต้มหรือนึ่ง ซุปผัก ซุปเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ ผลไม้ชิ้นเล็กๆ โดยอาจจะอยู่ในรูปของอาหารเหลวหรือปั่น และควรมีอาหารเสริมเพิ่มเติมเข้าไปด้วย (ขึ้นอยู่กับความเห็นของแพทย์)
- ทำไมผู้ป่วยติดเตียงมีเสมหะ?
ผู้ป่วยติดเตียงมีเสมหะตลอดเวลามักจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แต่ในบางกรณีเช่น ผู้ป่วยอยู่ห้องที่อับชื้น เป็นหวัด หายใจไม่สะดวก หรือดื่มน้ำไม่เพียงพอ ก็อาจเป็นสาเหตุว่าทำไมผู้ป่วยติดเตียงในครอบครัวมีเสมหะเยอะตลอดเวลา
- ผู้ป่วยติดเตียงไม่ถ่ายต้องทำยังไง?
หากสังเกตได้ว่าผู้ป่วยติดเตียงไม่ถ่ายมานานหลายวัน อาจเป็นเพราะอาหารที่กินเข้าไปมีไฟเบอร์น้อยเกิน หรือดื่มน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ท้องผูกได้ง่าย แนะนำให้ผู้ป่วยกินอาหารที่มีกากใย ร่วมกับการดื่มน้ำให้มากขึ้น แต่ห้าม! ซื้อยากระตุ้นการขับถ่ายมาให้ผู้ป่วยเด็ดขาด เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย เสี่ยงภาวะแทรกซ้อนได้
สรุป
การดูแลผู้ป่วยติดเตียงนั้นมีความซับซ้อนและรายละเอียดค่อนข้างมาก ผู้ดูแลในครอบครัวจึงต้องผ่านการอบรมเกี่ยวกับวิธีดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้านไว้ก่อน เพื่อเตรียมพร้อมให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนที่รักได้อย่างมีคุณภาพ แต่อย่างไรก็ตาม หากครอบครัวมีภาระอื่นๆ ต้องรับผิดชอบหรือมีสถานการณ์ใดๆ ที่ทำให้ไม่สามารถดูแลผู้ป่วยติดเตียงได้ตลอด ปัจจุบันในประเทศไทยมีทางเลือกหลายอย่างสำหรับกรณีดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น การว่าจ้างคนดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้านโดยเฉพาะ หรือส่งตัวผู้ป่วยไปยังศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น ทั้งนี้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมที่สุด
หากคุณกำลังมองหาความช่วยเหลือเพิ่มเติมหรือต้องการข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์ดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่มีคุณภาพ Saijai.co เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถช่วยคุณได้ ที่นี่คุณสามารถค้นหาและเปรียบเทียบศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ได้มาตรฐาน รวมถึงบริการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน เพื่อให้คุณมั่นใจว่าคนที่คุณรักจะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด
เพราะสุดท้าย การดูแลผู้ป่วยติดเตียง เราไม่เพียงรักษาร่างกาย แต่ต้องเยียวยาหัวใจด้วยความรักและความเข้าใจ
แหล่งอ้างอิง
- https://modernformhealthcare.co.th/how-to-take-care-bedridden-patient/
- https://allwellhealthcare.com/caring-for-bedridden-patients-at-home/
- https://modernformhealthcare.co.th/how-to-take-care-of-elderly-at-home/
- https://carexperts-homenursing.com/16-tips-how-to-nursing-care-for-bedridden-patients/
- https://www.mesothelioma.com/blog/7-tips-on-caregiving-for-a-bedridden-loved-one/
- https://farmoderm.it/en/perfect-daily-hygiene-ritual-for-elderly-bedridden/#hygieneritual1
- https://care24.co.in/blog/equipment-for-bedridden-patients/