เมื่อร่างกายเดินทางเข้าสู่การเป็นผู้สูงวัย ไม่เพียงแค่ผิวหนังที่แสดงความเสื่อมถอยให้เห็นได้เด่นชัดเท่านั้น แต่การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายก็จะค่อยๆ ลดประสิทธิภาพลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องการทำงานของสมองที่เริ่มช้าลง และอาจนำไปสู่การเจ็บป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ได้ แต่ทราบหรือไม่ว่าผู้สูงวัยอย่างเราๆ ก็สามารถดูแลรักษาสมองเพื่อลดความเสี่ยงของโรคความจำเสื่อมได้ ผ่านการเลือกรับประทานอาหารบำรุงสมองสำหรับผู้สูงอายุที่สามารถหาซื้อได้จากท้องตลาดทั่วไป
เพื่อให้ผู้สูงวัย หรือครอบครัวที่ต้องดูแลผู้สูงอายุได้ตระหนักถึงปัญหาของโรคอัลไซเมอร์ หรือภาวะความจำเสื่อมกันมากขึ้น วันนี้ SaiJai.co มีเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับการดูแลตัวเองด้วยการรับประทานอาหารบำรุงสมองสำหรับผู้สูงอายุมาแนะนำกัน
โรคอัลไซเมอร์ คืออะไร?
โรคอัลไซเมอร์ คือโรคที่เกิดขึ้นจากความเสื่อมของการทำงานในสมอง ทำให้เกิดความผิดปกติของโครงสร้างเนื้อเยื่อสมองจนมีผลให้เซลล์สมองเสื่อมลง ผู้ป่วยด้วยโรคนี้จะค่อยๆ สูญเสียการทำงาน และความทรงจำเสียหาย หนักที่สุดคือสมองส่วนอื่นๆ ถูกทำลายและทำให้การใช้ชีวิตประจำวัน และความคิดเปลี่ยนแปลงไปจนไม่สามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้อย่างเป็นปกติ โดยในคนที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปจะมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ได้มากขึ้น และในประเทศไทยเองก็มีการคาดการณ์ว่าในปี 2573 จะมีผู้ป่วยด้วยโรคภาวะสมองเสื่อมเพิ่มมากขึ้น และอาจสูงถึง 1,117,000 คน เลยทีเดียว ดังนั้นการเริ่มต้นดูแลสุขภาพสมองตั้งแต่เนิ่นๆ ย่อมดีกว่า ซึ่งคุณสามารถทำได้ด้วยการเลือกทานอาหารบำรุงสมองสำหรับผู้สูงอายุ
อาหารบำรุงสมองช่วยลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ
สำหรับวิธีดูแลรักษาสมองด้วยการรับประทานอาหารบำรุงสมองที่ผู้สูงอายุทานได้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง ลดความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ และภาวะสมองเสื่อมได้ ตามคำแนะนำของแพทย์จะแบ่งออกเป็นกลุ่มสารอาหาร 4 กลุ่ม ต่อไปนี้
1. วิตามินบี
วิตามินบีเป็นอาหารบำรุงสมองที่จำเป็นต่อทั้งผู้สูงอายุและคนทุกวัย เพราะการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางจะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสารอาหารที่รับอย่างเพียงพอ และเป็นประจำ ซึ่งการทานอาหารที่มีวิตามินบีเป็นประจำคือวิธีดูแลรักษาสมองที่ดีที่สุด เพราะในกลุ่มผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะขาดวิตามินบี 12 เนื่องจากประสิทธิภาพในการดูดซึมอาหารของร่างกายลดลง ทำให้สมองเกิดผลกระทบโดยตรง ซึ่งข้อดีของวิตามินบียังมีส่วนช่วยในเรื่องการดูดซึมกรดอะมิโนอันเป็นรากฐานของโปรตีนที่เสริมสร้างระบบประสาทและสมองให้แข็งแรง สำหรับอาหารที่มีส่วนประกอบของวิตามินบีอยู่มาก ได้แก่
- เนื้อสัตว์
- ไข่
- นม
- ธัญพืช
- ถั่วเหลือง
- เต้าหู้
2. สารต้านอนุมูลอิสระ
สารต้านอนุมูลอิสระเป็นสารที่ช่วยป้องกันความเสื่อมของร่างกายโดยเฉพาะ และเป็นตัวช่วยให้เซลล์สมองแข็งแรง ลดความเสื่อมของสมองให้ช้าลง และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ป้องกันการสูญเสียความจำในระยะสั้นได้ หากได้รับในปริมาณที่เพียงพออย่างเหมาะสมเป็นประจำ จะช่วยเพิ่มเซลล์ประสาทในฮิปโปแคมปัสซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อเรื่องความทรงจำโดยตรง พร้อมกับการบำรุงระบบประสาท บำรุงสายตาด้วย สำหรับสารต้านอนุมูลอิสระนั้นจะพบได้บ่อยในอาหารที่มีวิตามินซี และวิตามินอีสูง เช่น
- ส้ม
- องุ่น
- ฝรั่ง
- ผลไม้ตระกูลเบอร์รี
- ข้าวกล้อง
- ข้าวซ้อมมือ
- ผักใบเขียว
3. โอเมก้า 3
สุดยอดสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และเป็นอาหารบำรุงสมองที่เหมาะกับทั้งผู้สูงอายุและคนทุกวัย อีกทั้งยังเป็นสารอาหารที่หารับประทานได้ง่าย โดยประโยชน์ของ โอเมก้า 3 นั้นเป็นกรดไขมันดีที่ช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับระบบประสาทและสมอง เมื่อรับประทานเป็นประจำร่างกายจะได้รับไขมันดีช่วยลดปริมาณไขมันไม่ดีออกจากร่างกาย รวมถึงเรื่องของการช่วยเรื่องความจำ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ บำรุงหัวใจ และปรับสมดุลให้กับข้อต่อต่างๆ ของร่างกายได้ขยับเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นปกติ โดยอาหารที่พบบ่อยมักมาจากปลาทะเล เช่น
- ปลาแซลมอน
- ปลาทู
- ปลาสำลี
- ปลากะพงขาว
- ปลาจะละเม็ดขาว
- ปลาสำลี
- ปลาอินทรี
4. เลซิติน
เลซิตินเป็นสารอาหารที่ทำหน้าที่สำคัญในการช่วยพัฒนาการทำงานของสมองและความจำ เมื่อร่างกายได้รับสารเลซิตินเข้าไปแล้วจะเปลี่ยนเป็นสารที่ชื่อว่า โคลีนที่เป็นสารจำเป็นสำหรับการสังเคราะห์ของเซลล์ประสาท การรับประทานอาหารบำรุงสมองที่มีเลซิตินจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีความจำที่ดีขึ้น ลดความเสื่อมถอยของเซลล์สมอง สำหรับอาหารที่อุดมไปด้วยเลซิตินนั้นสามารถเลือกรับประทานได้ ดังนี้
- ถั่วเหลือง
- ถั่วลิสง
- เมล็ดทานตะวัน
- ข้าวโพดสีเหลือง
- จมูกข้าวสาลี
- ไข่ไก่
นอกจากสารอาหารจำเป็นทั้ง 4 กลุ่มนี้แล้ว การดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เหมาะสมทุกวันยังเป็นการช่วยเสริมการทำงานของเซลล์ส่วนต่างๆ ในร่างกายด้วย ซึ่งรวมถึงเซลล์สมองที่จะรับการดูแลให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะน้ำคือสิ่งจำเป็นของร่างกาย และเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกาย การดื่มน้ำเป็นประจำทุกวันอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว จึงเป็นวิธีดูแลรักษาสมองได้อีกวิธีหนึ่ง
อาหารทำลายสมองสำหรับผู้สูงอายุที่ควรหลีกเลี่ยง
นอกจากการบำรุงสมองด้วยอาหารที่มีประโยชน์ต่อการทำงานของเซลล์สมองแล้ว ผู้สูงอายุยังต้องหลีกเลี่ยง หรือลดปริมาณการทานอาหารบางชนิดด้วย เพราะมีผลต่อเรื่องสุขภาพร่างกาย และการทำงานของสมองโดยตรง อีกทั้งอาหารบางชนิดยังมีผลต่อการอักเสบของอวัยวะภายในร่างกายที่ไม่เพียงแค่ทำให้สมองเสื่อม หรือเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์เท่านั้น แต่ยังเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ ความดัน โรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งกลุ่มอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงมีดังนี้
- อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ เช่น มันไก่ มันหมู เนยเทียม ครีมเทียม มาการีน
- อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวจากพืช เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ
- อาหารที่มีความหวาน หรือน้ำตาลสูง เช่น ขนมหวาน เค้ก โดนัท คุกกี้ และน้ำอัดลม
สรุป ภาวะสมองเสื่อมป้องกันได้แค่ใส่ใจเรื่องอาหาร
แม้ว่าโรคอัลไซเมอร์ หรือภาวะสมองเสื่อมจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยในผู้สูงอายุ แต่การให้ความสำคัญกับวิธีดูแลรักษาสมองอยู่เสมอก็เป็นสิ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดปัญหาสมองเสื่อมได้ เพราะนอกจากการรับประทานอาหารบำรุงสมองที่เหมาะกับผู้สูงอายุแล้ว การบริหารสมองอยู่เป็นประจำอย่าง การออกกำลังกาย การอ่านหนังสือ ดูหนัง ฝึกคิดเลข หรือร้องเพลง วิธีเหล่านี้ยังช่วยกระตุ้นให้การทำงานของสมองมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย เพราะเรื่องของสมองหากเสื่อมสภาพแล้วกู้คืนกลับมาได้ยาก ดังนั้นป้องกันไว้ก่อนย่อมดีกว่า
สำหรับท่านที่ต้องดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว แต่ติดปัญหาเรื่องเวลาหรือความเข้าใจในโภชนาการสำหรับผู้สูงวัยอย่างเหมาะสม การเลือกใช้บริการจากบ้านพักวัยเกษียณ หรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้ผู้สูงวัยได้รับการดูแลอย่างใส่ใจ และเข้าใจ พร้อมสร้างความสุขกับกิจกรรมที่ผ่อนคลายจิตใจ เสริมสร้างการทำงานของกล้ามเนื้อด้วยทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ ซึ่งท่านสามารถเลือกดูศูนย์ดูแลผู้สูงวัยจากพื้นที่ต่างๆ ได้ที่ SaiJai.co หรือผู้สูงวัยที่อยากเริ่มต้นดูแลสุขภาพของตัวเองก็สามารถเลือกอ่านบทความสุขภาพจากใส่ใจได้เช่นกัน เพราะที่นี่เราได้รวบรวมเนื้อหาสาระสำหรับผู้สูงวัยมาไว้ให้แบบครบครัน รับรองว่าได้ความรู้ดีๆ กลับไปแน่นอน