“มะเร็งสมอง” เป็นโรคร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีความเปราะบางทางสุขภาพมากกว่าวัยอื่น ในประเทศไทย พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งสมองรายใหม่ประมาณ 2-3 คนต่อประชากร 100,000 คนต่อปี โดยพบมากในช่วงอายุ 50-70 ปี การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุและครอบครัว
มะเร็งสมองเป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่เราจะต้องให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป เพราะอาจจะก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ บทความนี้ SaiJai.co จะพาทุกคนไปสำรวจความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับมะเร็งสมอง รวมถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลกับสุขภาพของผู้สูงอายุ เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุและครอบครัวในการป้องกันและดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าพร้อมแล้วมาดูกันเลย!
มะเร็งสมอง คืออะไร?
มะเร็งสมอง (Brain Cancer) คือ โรคที่เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์ในสมอง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากเซลล์ที่อยู่ในสมองเอง (มะเร็งสมองชนิดปฐมภูมิ : Primary Brain Cancer) หรือจากเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายมาจากส่วนอื่นของร่างกาย (มะเร็งสมองชนิดทุติยภูมิ : Secondary Brain Cancer) ในขณะที่โครงสร้างของสมองมีความซับซ้อนมาก แต่ละส่วนมีหน้าที่รับผิดชอบฟังก์ชันต่างๆ ของระบบประสาท ทำให้เซลล์ที่เป็นมะเร็งอาจเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อปกติของสมองและอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ และลุกลามจนไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้
มะเร็งสมองสามารถพัฒนาไปได้ว่า 120 ชนิดซึ่งมีผลต่อการวินิจฉัยและการรักษา บางชนิดของมะเร็งสมองอาจเจริญเติบโตช้าและมีโอกาสตอบสนองต่อการรักษาได้ดี ในขณะที่บางชนิดอาจเจริญเติบโตเร็วและมีแนวโน้มที่จะลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ของสมอง ดังนั้น เราจึงต้องทราบสาเหตุและอาการของมะเร็งสมองเอาไว้อย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อร้ายลุกลามจนเป็นอันตรายและรักษาได้ไม่ทัน
มะเร็งสมอง เกิดจากอะไรได้บ้าง?
มะเร็งสมองเป็นโรคที่ซับซ้อนและมีหลายปัจจัยเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเนื้องอก แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เรามาลองดูกันว่าปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งสมองนั้นมีอะไรบ้าง
- พันธุกรรม การมีประวัติครอบครัวที่เป็นมะเร็งสมองหรือโรคทางพันธุกรรมบางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งสมองได้
- การสัมผัสกับสารเคมี การสัมผัสกับสารเคมีหรือสารพิษบางชนิดในที่ทำงานหรือในสิ่งแวดล้อมอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้
- การฉายรังสี การได้รับรังสีความเข้มข้นสูงจากการรักษาโรคมะเร็งมาก่อน เช่น การฉายรังสีที่ศีรษะ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งสมองได้เช่นกัน
- ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โรคที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น HIV/AIDS อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการพัฒนาเนื้องอกในสมอง
- อายุที่มากขึ้น ผู้สูงอายุมากกว่า 85 ปีขึ้นไปอาจมีแนวโน้มเกิดเนื้องอกในสมองมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งอาจพัฒนาไปเป็นเนื้อเยื่อมะเร็งในอนาคตได้
สัญญาณเตือนของมะเร็งสมองอาการเป็นอย่างไร?
เมื่อผู้ป่วยเป็นมะเร็งสมอง อาการต่างๆ จะขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของเนื้องอกในสมอง โดยจะมีลักษณะที่แตกต่างกันตามความเร็วในการเติบโตของเนื้องอก อันจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการบ่งชี้ว่าเป็นมะเร็งสมอง และจำนวนหนึ่งในอาการต่อไปนี้อาจสามารถบ่งชี้ได้ว่าเป็นอาการก่อนเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งสมองได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น
- ปวดศีรษะรุนแรงมากๆ โดยเฉพาะในตอนเช้า หรือปวดจนทำให้ต้องตื่นกลางดึก
- อาการปวดศีรษะมีความรุนแรงและเป็นถี่มากขึ้นเรื่อยๆ (บางรายจะคล้ายอาการปวดไมเกรน)
- วิงเวียนหรือรู้สึกเหมือนบ้านหมุน
- รู้สึกเหนื่อยมาก อ่อนเพลียมากกว่าปกติ
- คลื่นไส้หรืออาเจียน มีอาการชัก
- ปัญหาด้านความจำ หลงๆ ลืมๆ บุคลิกภาพเปลี่ยนไป (คล้ายอาการของผู้ป่วยอัลไซเมอร์)
- ปัญหาด้านการมองเห็น เช่น เห็นภาพซ้อน สายตาเบลอ หรือขอบภาพเบลอ
- ปัญหาการได้ยิน สูญเสียการได้ยิน
- แขนขาเริ่มสูญเสียความรู้สึก หรือเคลื่อนไหวลำบาก
- ปัญหาในการทรงตัว ไม่มั่นคง
- ปัญหาด้านการพูดหรือการทำความเข้าใจภาษา
- รู้สึกสับสนกับการทำกิจกรรมต่างๆ แม้จะเป็นกิจวัตรประจำวันของตัวเอง
- มีปัญหาในการปฏิบัติตามคำสั่งง่ายๆ ทำตามที่บอกไม่ได้
- บางรายอาจมีอาการชาหรือเป็นอัมพาตครึ่งซีก
- รู้สึกหิวมากและน้ำหนักเพิ่มขึ้น หรือบางรายอาจน้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ
ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงสัญญาณเบื้องต้นของโรคมะเร็งสมอง อาการต่างๆ เหล่านี้อาจบ่งชี้ถึงโรคชนิดอื่นๆ ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นโรคเกี่ยวกับสมองอื่นๆ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือภาวะต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น แนะนำให้รีบเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้องจะดีที่สุด
การวินิจฉัยและการตรวจคัดกรองมะเร็งสมอง
ดังที่ได้กล่าวไปว่า อาการของมะเร็งสมอง โดยเฉพาะมะเร็งสมองในผู้สูงอายุนั้นมีความเป็นไปได้ว่าจะมีผลมาจากโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่มะเร็งสมองก็ได้ ดังนั้น สำหรับผู้ป่วยหรือครอบครัวที่สงสัยว่าอาการดังกล่าวบ่งชี้ถึงโรคมะเร็งสมองหรือไม่ แนะนำให้เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรค โดยจะมีวิธีที่แตกต่างกันไปดังนี้
- การสแกนด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (CT Scan)
เป็นการตรวจหาเนื้อเยื่อที่มีความผิดปกติด้วยการเข้าเครื่องเอกซเรย์ เพื่อให้เครื่องจับภาพส่วนต่างๆ ของภายในร่างกายอย่างชัดเจน และประมวลผลออกมาผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจสอบลักษณะที่ผิดปกติ ตรวจหาตำแหน่งของเนื้อเยื่อที่เป็นสาเหตุของอาการต่างๆ รวมไปถึงการตรวจสอบว่ามีการลุกลามของเนื้อร้ายไปตามส่วนอื่นๆ ของร่างกายหรือไม่
- การสแกนด้วยเครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging)
เป็นการตรวจหาเนื้อเยื่อที่ผิดปกติเช่นเดียวกับการทำ CT Scan แต่เครื่อง MRI จะมีความชัดเจนมากกว่าหากเป็นการตรวจเนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งก็คือสมอง ซึ่งเป็นอวัยวะที่เครื่อง MRI สามารถตรวจจับภาพได้ดี โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการฉีดสีก่อนสแกน ลดความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้ได้ อย่างไรก็ตาม การเข้าเครื่อง MRI นั้น ผู้ที่เคยมีประวัติการผ่าตัดดามโลหะจะไม่สามารถทำได้ แนะนำให้แจ้งแพทย์ผู้ตรวจก่อนเสมอ
- การตรวจด้วยเครื่องเพทซีที (PET Scan)
เป็นการตรวจสแกนเนื้อเยื่อแบบถ่ายภาพรังสีจากอนุภาคโพสิตรอนหลายระบบ ซึ่งจะออกมาเป็นภาพสามมิติเช่นเดียวกัน วิธีนี้ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการฉีดสีก่อนสแกนเหมือนการทำ CT Scan โดยจะมีความแม่นยำถึงระดับโมเลกุล อย่างไรก็ตาม ครอบครัวสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำว่าจะเลือกสแกนด้วย PET Scan หรือวิธีอื่นจึงจะเหมาะสมที่สุด
- การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture)
เป็นการตรวจวินิจฉัยโดยการใช้เข็มขนาดเล็กเจาะเอาน้ำบริเวณไขสันหลัง ซึ่งเป็นของเหลวในส่วนที่เชื่อมต่อกับสมอง แล้วส่งของเหลวนี้ไปยังห้องแล็บเพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็ง วิธีนี้ค่อนข้างใช้เวลาแต่ได้ผลชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่แพทย์สงสัยว่าเนื้อเยื่อมะเร็งอาจกำลังลุกลามเข้าสู่ชั้นเยื่อหุ้มสมองแล้ว
นอกจากวิธีต่างๆ ที่กล่าวมานี้ แพทย์แต่ละภาคส่วนอาจจะมีวิธีการตรวจวินิจฉัยที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะอาการของโรค รวมไปถึงความพร้อมของอุปกรณ์ที่สถานพยาบาลนั้นๆ มี แต่อย่างไรก็ตาม หากสงสัยว่าตนเองหรือคนในครอบครัวกำลังมีอาการคล้ายมะเร็งสมอง แนะนำให้รีบเข้าพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะยิ่งตรวจเจอเร็วก็จะยิ่งมีโอกาสหายดีมากเท่านั้น!
แนวทางการรักษามะเร็งสมอง
การรักษาเนื้องอกหรือมะเร็งสมองนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ตั้งแต่ชนิดของเนื้อเยื่อมะเร็ง ตำแหน่งของเนื้อเยื่อมะเร็ง ขนาดและการกระจายตัวของเนื้อเยื่อ ระดับความผิดปกติของเซลล์ และความแข็งแรงของร่างกายผู้ป่วย ดังนั้น จึงจะต้องผ่านการพิจารณาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอว่าสภาพร่างกายของผู้ป่วย ณ ตอนนั้น เหมาะกับการรักษาแบบใด โดยจะมีแนวทางการรักษามะเร็งสมองเบื้องต้นด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้
- การใช้สเตียรอยด์ (Steroids)
แพทย์จะเลือกการใช้สเตียรอยด์กับผู้ป่วยเพื่อลดอาการบวมรอบๆ เนื้อเยื่อมะเร็งและลดการอักเสบของสมอง โดยจะให้การรักษาหลังจากตรวจพบแล้วว่าเป็นมะเร็งในสมองจริง นอกจากนี้ สเตียรอยด์ยังมีส่วนช่วยในการลดความดันภายในกะโหลกศีรษะ ซึ่งหากมีมากเกินไปอาจจะทำให้ผู้ป่วยปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ หรืออาเจียนได้ แต่ทั้งนี้การใช้สเตียรอยด์จะเกิดขึ้นเพื่อบรรเทาอาการก่อนการรักษาขั้นตอนถัดไปเท่านั้น ไม่ได้เป็นการรักษามะเร็งสมองโดยตรง
- การผ่าตัดเนื้อเยื่อออก (Brian Tumor Surgery)
การผ่าตัดเนื้อเยื่อโดยตรงเป็นหนึ่งในวิธีการรักษามะเร็งสมองที่สำคัญมาก โดยมีวัตถุประสงค์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจว่าเป็นเนื้อเยื่อมะเร็งหรือไม่, เพื่อกำจัดเนื้องอกออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือลดขนาดของเนื้องอกเพื่อบรรเทาอาการและยืดอายุให้กับผู้ป่วย โดยแพทย์จะทำการเปิดกระโหลกศีรษะบริเวณที่อยู่เหนือตำแหน่งของเนื้องอก และใช้เครื่องมือทางการแพทย์ในการกำจัดเนื้องอกออกจากสมอง โดยพยายามรักษาเนื้อเยื่อสมองส่วนอื่นๆ ให้เสียหายน้อยที่สุด
- การฉายรังสี (Radiation Therapy)
เป็นการใช้รังสีความเข้มข้นสูงยิงเข้าไปยังร่างกายเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งตายหรือไม่สามารถแบ่งตัวได้อีกต่อไป ซึ่งจะช่วยลดขนาดของเนื้องอก ชะลอการเจริญเติบโตของเนื้องอก และบรรเทาอาการต่างๆ ที่เกิดจากเซลล์มะเร็งดังกล่าว โดยจะมีทั้งแบบฉายรังสีทั่วสมอง การฉายรังสีเฉพาะที่ และการฉายรังสีร่วมกับการทำเคมีบำบัด ขึ้นอยู่กับสภาพของโรคและร่างกายของผู้ป่วย วิธีนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงคือคลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ความจำเสื่อม อารมณ์แปรปรวน แต่ไม่ได้เป็นถาวร แนะนำให้ทำตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อฟื้นฟูร่างกาย
- การทำเคมีบำบัด (Chemotherapy)
เป็นการรักษาด้วยยาที่ออกฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็ง โดยมุ่งไปที่การหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งหรือทำลายเซลล์มะเร็งให้ตายไป ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการรักษามะเร็งสมองที่นิยมใช้มากเช่นกัน โดยแพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดด้วยกันหลายวิธี ได้แก่ ให้ยาผ่านหลอดเลือดดำ ให้ยาแบบกิน หรือการฉีดยาเข้ากระดูกสันหลัง (เฉพาะกรณีที่มะเร็งแพร่กระจายไปยังเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง) วิธีรักษาด้วยเคมีบำบัดอาจจะมีผลข้างเคียงรุนแรงหลายอย่าง แต่หากผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ก็สามารถหายได้
- การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์ (Targeted Therapy)
เรียกอีกอย่างว่า ‘ยามุ่งเป้า’ เป็นการรักษามะเร็งที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อโจมตีเซลล์มะเร็งโดยตรง โดยจะไปยับยั้งกระบวนการเฉพาะที่ทำให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตและแบ่งตัว ช่วยทำลายหลอดเลือดที่เลี้ยงเซลล์มะเร็ง และกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานเพื่อต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง ทำให้มีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติทั่วไปน้อยกว่าการรักษาแบบดั้งเดิมอย่างการทำเคมีบำบัด โดยยามุ่งเป้าจะมีประสิทธิภาพค่อนข้างสูงมาก สามารถทำร่วมกับการผ่าตัด การฉายรังสี หรือการทำเคมีบำบัดได้ ทั้งนี้ ยามุ่งเป้านั้นมีหลายประเภท แนะนำให้ปรึกษาแพทย์โดยตรงเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุด
การป้องกันและลดความเสี่ยงของมะเร็งสมอง
แม้ว่ามะเร็งสมองจะเป็นโรคที่หาสาเหตุการเกิดได้ยากและยังไม่มีวิธีป้องกันได้อย่างสมบูรณ์ 100% แต่เราสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งสมองได้ด้วยการรู้จักดูแลตัวเองให้ถูกวิธี ยกตัวอย่างเช่น
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีอันตราย หลีกเลี่ยงการทำงานหรืออยู่ใกล้สารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น สารเคมีอุตสาหกรรม และสารกัมมันตรังสี
- ป้องกันการสัมผัสรังสีมากเกินไป หลีกเลี่ยงการสัมผัสรังสีที่ไม่จำเป็น เช่น การเอกซเรย์บ่อยเกินไป หรือการอาศัยอยู่ในที่ที่มีรังสีอันตราย
- รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และการพักผ่อนเพียงพอจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี การตรวจสุขภาพประจำปีจะช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและได้รับการรักษาทันเวลา
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การหลีกเลี่ยงสารที่ทำให้เกิดมะเร็งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด
- ป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะ เพื่อลดการอักเสบภายใน อันอาจจะทำให้สมองอักเสบเป็นมะเร็งได้
การดูแลผู้ป่วยมะเร็งสมองที่บ้าน
การดูแลผู้ป่วยมะเร็งสมองที่บ้านต้องให้ความสำคัญกับทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด การดูแลอย่างเหมาะสมจะช่วยลดความทุกข์ทรมานและสร้างสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นและปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย มาดูขั้นตอนการดูแลที่สำคัญกันเลย!
- ดูแลการให้ยาของผู้ป่วยอย่างเคร่งครัด เพราะผู้ป่วยมะเร็งสมองจะต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเซลล์มะเร็งและฟื้นฟูตัวเองได้ดี
- ให้ผู้ป่วยทานอาหารที่มีประโยชน์ ควรให้ผู้ป่วยทานอาหารที่มีโปรตีนและวิตามินสูงเพื่อเสริมสร้างร่างกาย และควรจะเป็นอาหารที่ย่อยง่ายเพื่อให้ร่างกายของผู้ป่วยไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป
- ช่วยรักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ การแปรงฟัน เปลี่ยนเสื้อผ้า หรือการเข้าห้องน้ำ
- ให้ความช่วยเหลือในการเคลื่อนไหว เพราะผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษาหรือผ่านการรักษามะเร็งสมองมาแล้วจะมีร่างกายที่อ่อนแอกว่าปกติ แนะนำให้คอยดูแลเรื่องการเคลื่อนไหว การเดิน หรือทำกิจวัตรอื่นๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
- สังเกตอาการของผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ เพราะผู้ป่วยมะเร็งสมองอาจจะเกิดอาการแทรกซ้อนได้หลายอย่าง เช่น การชัก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรือสูญเสียสัมผัสต่างๆ แนะนำให้คอยสังเกตและแจ้งแพทย์ทันทีเมื่อพบความผิดปกติ
- จัดเตรียมสภาพแวดล้อมให้ผ่อนคลาย เพราะผู้ป่วยมะเร็งสมองต้องการสถานที่ที่ปลอดโปร่ง ปลอดภัย สงบ และสะดวกสบาย โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่ผ่านการรักษามาแล้ว จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและสบายใจ ไม่เครียดหรือวิตกกังวล
- อย่าลืมให้กำลังใจผู้ป่วย เพราะระหว่างการรักษามะเร็ง จะเกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและจิตใจมาก ครอบครัวหรือผู้ดูแลควรจะคอยให้กำลังใจผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกโดดเดี่ยว และมีแรงใจในการต่อสู้กับโรคต่อไป
สรุป
มะเร็งสมอง เป็นโรคร้ายแรงที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ การสังเกตอาการผิดปกติและปรึกษาแพทย์อย่างทันท่วงทีเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับขั้นตอนการรักษาที่ถูกต้อง หากมีผู้สูงอายุในครอบครัวที่ป่วยเป็นโรคนี้ การหาสถานที่ดูแลที่เหมาะสมและน่าเชื่อถือเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ!
หากครอบครัวไม่แน่ใจว่าจะสามารถให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง สามารถค้นหาบริการดูแลผู้ป่วยมะเร็งหรือศูนย์ดูแลผู้ป่วยโรคสมองได้ที่ SaiJai.co เราพร้อมช่วยให้คุณค้นหาบริการที่ตรงกับความต้องการของผู้ป่วยได้อย่างง่ายดายและมั่นใจ ด้วยข้อมูลที่ครบถ้วน เชื่อถือได้ และใช้งานง่าย เลือกสถานที่ดูแลที่เหมาะสมได้อย่างสะดวกสบาย และมั่นใจได้ว่าผู้สูงอายุของคุณจะได้รับการดูแลอย่างดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
แหล่งอ้างอิง
- https://phyathai3hospital.com/th/brain-tumor/
- https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=697
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/brain-tumor/diagnosis-treatment/drc-20350088
- https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/brain-tumor
- https://www.nhs.uk/conditions/brain-tumours/
- https://www.nhs.uk/conditions/steroids/
- https://cancer.org.au/cancer-information/types-of-cancer/brain-cancer
- https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/6149-brain-cancer-brain-tumor