การฉีดวัคซีนผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันและบรรเทาอาการ เมื่อผู้สูงอายุติดโรคติดต่อร้ายแรง เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงตามวัย ทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อและเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าคนที่ยังอายุน้อย ดังนั้น การเข้าใจถึงความสำคัญและชนิดของวัคซีนผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งที่เรามองข้ามไม่ได้! บทความนี้ Saijai ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการวัคซีนผู้สูงอายุ ว่ามีตัวไหนบ้าง? พร้อมวิธีเตรียมตัวก่อนฉีด การดูแลตัวเองหลังฉีด และผลข้างเคียงที่พึงระวังของการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ
การฉีดวัคซีน ผู้สูงอายุ สำคัญอย่างไร?
การฉีดวัคซีนผู้สูงอายุมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาสุขภาพและคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยปกติแล้วจะสามารถทำงานได้น้อยลงตามกาลเวลา ทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากโรคติดต่อต่างๆ ได้ง่าย การฉีดวัคซีนผู้สูงอายุจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยป้องกันการติดโรค หรือช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการหากติดเชื้อขึ้นมาจริงๆ นั่นเอง
หากผู้สูงอายุได้รับวัคซีนอย่างถูกต้อง จะเป็นการช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังผู้อื่นหรือคนในครอบครัว (วัคซีนหลายตัว ผู้ใหญ่ วัยรุ่น หรือเด็กก็สามารถฉีดได้เช่นกัน) และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในกรณีที่ติดโรคด้วย ดังนั้น การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วนและตรงเวลาจึงเป็นนโยบายสำคัญด้านสาธารณสุขในหลาย ๆ ประเทศ เพื่อสร้างสังคมสูงวัยที่มีสุขภาพแข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ปลอดภัยจากโรคร้ายต่างๆ
แนะนำ 6 วัคซีนสำหรับผู้สูงอายุ มีอะไรบ้าง?
โรคติดต่อร้ายแรงที่แพร่กระจายอยู่ตอนนี้นั้นมีหลายชนิด การฉีดวัคซีนผู้สูงอายุจึงครอบคลุมโรคเหล่านั้นตามไปด้วย โดย Saijai จะขอยกตัวอย่างวัคซีนผู้สูงอายุทั้งหมด 6 ชนิดที่ควรฉีดป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ มาให้ดูกัน ได้แก่
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine) วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นเชื้อที่สามารถแพร่กระจายติดต่อกันได้ง่ายผ่านทางเดินหายใจ ซึ่งหากไข้หวัดใหญ่แพร่เชื้อไปยังผู้สูงอายุอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น ปอดอักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ หรืออาจทำให้โรคประจำตัวที่มีอยู่เดิมมีอาการกำเริบรุนแรงขึ้น
โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่มักมีการแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว (ประมาณเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม) ดังนั้น จึงแนะนำให้ฉีดก่อนช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อให้วัคซีนผู้สูงอายุชนิดนี้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และควรฉีดซ้ำทุกปีเพราะเชื้อไข้หวัดใหญ่มักมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ตลอด จึงต้องมีการฉีดซ้ำเพื่อให้สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างเต็มที่ โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ
ส่วนผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุสำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ อาจพบอาการปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดเล็กน้อย ซึ่งจะสามารถหายได้เองภายใน 2-7 วัน หากมีไข้ต่ำ รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนจะไม่สบาย เป็นเพียงผลข้างเคียงของวัคซีนที่กำลังทำงานเท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องรับการรักษา แต่หากพบอาการผิดปกติที่รุนแรง เช่น มีผื่นขึ้น หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก หอบ หัวใจเต้นเร็ว อาจเกิดจากการแพ้วัคซีน ควรเข้าพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
- วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (Pneumococcal vaccine) วัคซีนป้องกันปอดอักเสบเป็นวัคซีนผู้สูงอายุที่สำคัญมากอีกหนึ่งตัว เนื่องจากโรคปอดอักเสบสามารถพบได้ง่ายในกลุ่มผู้สูงอายุ พบได้ตลอดทั้งปี และเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อหลายชนิด รวมไปถึงเชื้อไข้หวัดใหญ่ด้วย ดังนั้น การฉีดวัคซีนผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องมีวัคซีนป้องกันปอดอักเสบรวมไว้ด้วยเป็นอย่างแรก
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันปอดอักเสบอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ วัคซีนปอดอักเสบชนิด 13 สายพันธุ์ (PCV13) และวัคซีนปอดอักเสบชนิด 23 สายพันธุ์ (PPSV23) โดยทั่วไป ผู้สูงอายุควรได้รับวัคซีน PCV13 หนึ่งครั้ง และตามด้วย PPSV23 หลังจากนั้นอย่างน้อย 1 ปี ทั้งนี้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินแผนการฉีดวัคซีนที่เหมาะสมกับตัวผู้สูงอายุด้วย
หลังฉีดวัคซีนผู้สูงอายุสำหรับป้องกันโรคปอดอักเสบ จะมีอาการข้างเคียงเล็กน้อย เช่น รู้สึกปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีด ผู้สูงอายุบางท่านอาจมีไข้ต่ำ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ง่วงซึม เบื่ออาหาร หงุดหงิดง่าย หรือมีอาการนอนไม่หลับ แต่จะสามารถหายได้เองภายใน 1-3 วันโดยไม่ต้องรับการรักษา ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้สูงอายุ
- วัคซีนบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap) แม้ว่าวัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ และไอกรนจะเป็นวัคซีนที่มักได้รับในวัยเด็กตั้งแต่ 7 ขวบขึ้นไป แต่ในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุก็ควรได้รับวัคซีนกระตุ้นเป็นระยะ ซึ่งจะมีตั้งแต่ในช่วงอายุ 11-12 ปี, ช่วง 19 ปีขึ้นไป หรือช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยจะฉีดครั้งละ 1 เข็มและต้องฉีดซ้ำทุก 10 ปี อย่างไรก็ตามแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อซักประวัติการฉีดก่อนหน้านี้และเพื่อประเมินวางแผนการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุป้องกันบาดทะยัก คอตีบ และไอกรนต่อไป
โรคบาดทะยัก แม้จะพบได้ไม่บ่อย แต่มีอัตราการเสียชีวิตสูงหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีร่างกายอ่อนไหวต่อเชื้อโรคสูง ส่วนโรคคอตีบและไอกรนแม้จะพบในเด็กเป็นส่วนใหญ่ แต่ผู้สูงอายุก็สามารถติดเชื้อและอาจแพร่เชื้อให้บุคคลอื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ รวมไปถึงความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงสูงถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน
หลังฉีดวัคซีนผู้สูงอายุสำหรับป้องกันบาดทะยัก คอตีบ และไอกรน จะมีอาการข้างเคียงที่พบบ่อยได้แก่ ปวดบริเวณที่ฉีด มีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย บางรายอาจมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง คลื่นไส้อาเจียน หรือมีไข้ แต่จะสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษาภายใน 2-3 วัน
- วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส (Chickenpox Vaccine) การฉีดวัคซีนผู้สูงอายุเพื่อป้องกันโรคอีสุกอีใสเป็นอีกตัวที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้ เนื่องจากเป็นโรคที่มักเกิดอาการรุนแรงในผู้สูงอายุ และสามารถติดต่อกันได้โดยง่ายผ่านทางเดินหายใจหรือการสัมผัสกับผู้ที่ยังอยู่ในระยะแพร่เชื้อ โดยโรคอีสุกอีใสสามารถเกิดขึ้นกับทุกเพศทุกวัย และมีระยะฟักตัวนานถึง 10-14 วันกว่าจะแสดงอาการออกมา จึงไม่สามารถทราบได้ล่วงหน้าเลยว่าผู้สูงอายุได้สัมผัสหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ติดเชื้อมาหรือไม่
โดยทั่วไปแล้ว เราจะต้องได้รับวัคซีนอีสุกอีใสตั้งแต่ยังเป็นทารก 12-18 เดือน และจะต้องฉีดกระตุ้นอีกครั้งในช่วงอายุ 4-6 ปี และอาจมีการฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่อเกิดการระบาดของโรค ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินแผนการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุชนิดป้องกันอีสุกอีใสโดยตรงจะดีที่สุด
โรคอีสุกอีใส แม้จะไม่ได้มีอาการรุนแรงนัก แต่ก็สามารถลุกลามไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกายได้หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ลามไปเยื่อบุตา ช่องปาก หรือลำคอ มีภาวะเกร็ดเลือดต่ำ สมองอักเสบ หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังหรือบริเวณตุ่มใส ซึ่งอาจทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ทั้งนี้ โรคอีสุกอีใสยังไม่มียารักษาโรคโดยตรง แต่จะเป็นการรักษาตามอาการ ดังนั้น ครอบครัวจึงควรให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุเพื่อป้องกันอีสุกอีใสเป็นอย่างยิ่ง
- วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด (Shingles vaccine) โรคงูสวัดเกิดจากการกลับมาแสดงอาการของไวรัสวาริเซลลา (Varicalla) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใส ซึ่งหากผู้สูงอายุมีประวัติเคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อนก็อาจเสี่ยงต่อการเป็นงูสวัดได้ เพราะเชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถแฝงตัวอยู่ในร่างกายและอาจกลับมาแสดงอาการเมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลงหรือเมื่ออายุมากขึ้น
อาการของโรคงูสวัดไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดผื่นและตุ่มน้ำที่ผิวหนังเท่านั้น แต่ยังทำให้รู้สึกปวดแสบปวดร้อนอย่างรุนแรง รวมไปถึงอาการคันบริเวณแผลงูสวัด ซึ่งสำหรับอาการดังกล่าวในผู้สูงอายุอาจกินเวลายาวนานหลายเดือนหรือหลายปี ซึ่งจะเป็นอาการปวดตามแนวเส้นประสาท มักพบมากในผู้ป่วยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
การฉีดวัคซีนผู้สูงอายุเพื่อป้องกันงูสวัด สามารถฉีดได้ตั้งแต่เริ่มอายุเข้าสู่ช่วง 50 ปีขึ้นไป โดยจะต้องฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อต้นแขน 2 เข็มห่างกันเป็นเวลา 2-6 เดือน ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์ โดยจะช่วยป้องกันการเป็นโรคงูสวัดและช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ดีอีกด้วย
- วัคซีนป้องกันตับอักเสบบี (Hepatitis B Vaccine) แม้ว่าโรคตับอักเสบบี (HBV) อาจไม่ใช่โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ แต่ก็มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้ได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปซึ่งไม่เคยหรือไม่แน่ใจว่าได้รับวัคซีนตับอักเสบบีมาก่อน หรือในกรณีที่เป็นผู้มีความเสี่ยงสูง เช่น
- เคยหลับนอน ใกล้ชิด หรืออยู่อาศัยร่วมกับผู้ติดเชื้อ
- เป็นเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขซึ่งต้องสัมผัสเลือดหรือของเหลวของผู้อื่นมาก่อน
- เป็นผู้ป่วยฟอกไต
- เป็นเบาหวาน
- เดินทางบ่อย
- เป็นโรคตับเรื้อรัง
- เพิ่งออกจากเรือนจำ
- เป็นผู้ติดเชื้อ HIV
- ต้องทานยากดภูมิเป็นประจำ
การฉีดวัคซีนผู้สูงอายุเพื่อป้องกันตับอักเสบบี จะต้องฉีดเข้ากล้ามเนื้อรวมทั้งหมด 3 เข็ม เว้นระยะห่างกัน 1 และ 6 เดือนตามลำดับ ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจหาเชื้อหรือภูมิคุ้มกันก่อนเสมอ สำหรับผู้ที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนหรือไม่เคย สามารถฉีดได้เมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไปหรือน้อยกว่า ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์
โรคตับอักเสบบีมักจะมีอาการรุนแรงอย่างมากในผู้สูงอายุ สามารถพัฒนาเป็นโรคอื่นๆ ทั้งร้ายแรงและไม่ร้ายแรง ตั้งแต่โรคตับแข็งจากการมีพังผืดที่ตับ มะเร็งตับ ตับวาย ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในที่สุด ดังนั้น ครอบครัวจึงควรวางแผนการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุชนิดนี้เอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันการลุกลามของโรคเมื่อติดเชื้อ
นอกจาก 6 วัคซีนผู้สูงอายุที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีวัคซีนอีกชนิดหนึ่งที่แนะนำให้ฉีดป้องกันไว้เช่นกัน นั่นก็คือ วัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคติดต่อชนิดใหม่ที่ระบาดอย่างแพร่หลายเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ สามารถก่อให้เกิดอาการรุนแรงและลุกลาม เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และมีผู้เสียชีวิตหลายราย ทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อยู่ตลอด การฉีดวัคซีนผู้สูงอายุป้องกันโควิด-19 จึงเป็นตัวเลือกที่ควรให้ความสำคัญเช่นกัน
การเตรียมตัวก่อนและหลังฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ
การฉีดวัคซีนผู้สูงอายุเป็นวิธีการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพสูง แต่เพื่อให้วัคซีนสามารถแสดงประสิทธิภาพดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ การเตรียมตัวอย่างเหมาะสมก่อนเข้ารับวัคซีนก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะมันยังช่วยลดโอกาสเกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ได้อีกด้วย ในหัวข้อนี้ เรามาดูกันว่าการเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนผู้สูงอายุต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง
- ควรพักผ่อนให้เพียงพอและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- หลีกเลี่ยงการทานอาหารอิ่มจนเกินไป
- ดื่มน้ำให้เพียงพอและหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่คาเฟอีน
- นำประวัติการรับวัคซีนและโรคประจำตัวไปด้วย
- แจ้งแพทย์หากมีอาการผิดปกติใดๆ ก่อนรับวัคซีน เช่น มีไข้
- งดออกกำลังกายหนักอย่างน้อย 2 วันก่อนฉีดวัคซีน
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ
หลายคนอาจจะยังสงสัยเกี่ยวกับการฉีคซีนผู้สูงอายุ เพราะการรับวัคซีนนั้นมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก และอาจเกิดผลข้างเคียงได้หากขาดการทำความเข้าใจข้อมูลอย่างถูกต้อง Saijai จึงขอรวบรวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุมาฝากด้วย
- หากมีโรคประจำตัว สามารถฉีดวัคซีนผู้สูงอายุได้ไหม?
โดยทั่วไปผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวสามารถฉีดวัคซีนผู้สูงอายุได้ และจำเป็นจะต้องได้รับเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอเพื่อประเมินความเหมาะสมเป็นรายบุคคล
- การฉีดวัคซีนผู้สูงอายุหลายตัวพร้อมกันในครั้งเดียวปลอดภัยไหม?
โดยทั่วไปการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุหลายตัวพร้อมกันมีความปลอดภัยและช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางมารับวัคซีนด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ชัดเจนก่อน เพราะในบางกรณีอาจต้องเว้นระยะห่างระหว่างการฉีดวัคซีนบางชนิด
- ผู้สูงอายุที่เคยติดเชื้อโควิด-19 แล้วจำเป็นต้องรับวัคซีนโควิด-19 อีกหรือเปล่า?
แม้จะเคยติดเชื้อแล้ว ผู้สูงอายุก็ยังควรฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงและยาวนานขึ้น โดยจะต้องรอให้หายจากอาการป่วยโควิด-19 และผ่านไประยะหนึ่งก่อนรับวัคซีน สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ชนิดที่ควรฉีดได้เลย
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันไข้หวัดธรรมดาในผู้สูงอายุได้หรือไม่?
การวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่สามารถป้องกันไข้หวัดธรรมดาในผู้สูงอายุหรือคนวัยอื่นๆ ได้ เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสคนละชนิดกัน อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังคงมีความสำคัญเพราะมันจะช่วยป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่มักมีอาการรุนแรงในผู้สูงอายุได้
สรุป การฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ ต้องฉีดอะไรบ้าง?
การฉีดวัคซีนผู้สูงอายุเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันโรคติดต่อที่มีความเสี่ยงเกิดอาการร้ายแรงในผู้สูงอายุ โดยวัคซีนทั้ง 6 ชนิดที่ผู้สูอายุต้องฉีด ได้แก่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนปอดอักเสบ วัคซีนงูสวัด วัคซีนบาดทะยัก คอตีบ และไอกรน วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี และวัคซีนป้องกันโควิด-19 ล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงเมื่อเป็นโรคดังกล่าวขึ้นมาจริงๆ ซึ่งนอกจากผู้สูงอายุแล้ว คนในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุก็ควรให้ความสำคัญกับการรับวัคซีนป้องกันโรคติดต่อและหมั่นดูแลใส่ใจสุขภาพของตนเองอยู่เสมอด้วย
การตัดสินใจรับวัคซีนควรอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้องและคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยพิจารณาถึงประโยชน์และความเสี่ยงของวัคซีนแต่ละชนิด รวมถึงสภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุแต่ละคนที่มีข้อจำกัดแตกต่างกันไป นอกจากนี้ การเลือกสถานที่พักอาศัยที่เหมาะสมก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี หากใครกำลังมองหาบ้านพักหรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ สามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Saijai.co ได้เสมอเลยนะ!
แหล่งอ้างอิง
- 6 วัคซีนสำหรับผู้สูงอายุ ที่แนะนำให้ลูกหลานพาไปฉีด – โรงพยาบาลวิมุต
- 5 วัคซีนที่ผู้สูงวัยไม่ควรละเลย | Bangkok Hospital
- วัคซีนที่ดี…สำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ | โรงพยาบาลพญาไท
- วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ในผู้ใหญ่ – โรงพยาบาลสมิติเวช
- คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน… 3 โรคร้ายป้องกันได้ด้วย “Tdap booster”
- ป้องกันปอดอักเสบด้วยวัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอคคัส ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้
- วัคซีนปอดอักเสบในผู้สูงอายุ… จำเป็นแค่ไหน ? – โรงพยาบาลวิมุต
- ปอดอักเสบติดเชื้อในผู้สูงวัย อันตรายกว่าที่คิด
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ (2567) กับเรื่องที่ควรรู้
- Vaccinations and Older Adults | National Institute on Aging
- Recommended Vaccines for Adults | CDC
- โรคอีสุกอีใส (chickenpox)
- โรคอีสุกอีใส (Chickenpox) สาเหตุ อาการและวิธีรักษา | MedPark Hospital
- Chickenpox Vaccination