ปัจจุบัน PM 2.5 เป็นปัญหาที่ส่งผลเสียกับสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ร่างกายสะสมมลพิษทางอากาศเอาไว้มากมายจนมีผลกระทบกับสุขภาพ ซึ่งผู้สูงอายุเองก็เป็นวัยที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่อ่อนแอ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยจากปัญหา PM 2.5 ได้ ดังนั้นการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ให้กับผู้สูงอายุ จึงเป็นเรื่องที่คนในครอบครัวต้องให้ความสำคัญ
เพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาจากฝุ่น PM 2.5 กันมากยิ่งขึ้น ในบทความนี้ SaiJai.co จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับปัญหาฝุ่นขนาดเล็กชนิดนี้ รวมถึงการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ให้กับผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพให้กับผู้สูงวัย
ฝุ่น PM 2.5 มาจากไหน?
แม้ว่าฝุ่นจะเป็นสิ่งที่มีปะปนอยู่ในอากาศแล้วก็ตามและเรามักจะมองเห็นกันอยู่แล้วว่าฝุ่นที่สะสมนั้นเป็นอย่างไร ทำให้สามารถทำความสะอาดได้ง่าย แต่ PM 2.5 คือฝุ่นขนาดเล็กที่มีขนาดน้อยกว่า 2.5 ไมครอน ทำให้มีขนาดเล็กจนไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า และด้วยความที่ขนาดเล็กมากทำให้ฝุ่นชนิดนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง รวมถึงการปลิวเข้าสู่ร่างกายไปสะสมอยู่ในปอดด้วย และหากมีปริมาณมากก็ส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจได้ การป้องกันฝุ่น PM 2.5 จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 คือ
- การเผาไหม้ที่มาจากความไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิง
- ฝุ่นที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้าง
- การเผาป่าไม้
- ควันบุหรี่
- การเผาขยะ
- ไอเสียรถยนต์
- การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้ฝุ่นสะสมในอากาศ
- การเผาไหม้จากโรงงานอุตสาหกรรม
โดยหนึ่งในปัญหาของการเกิดฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่นั้นมาจากไอเสียรถยนต์ การก่อสร้าง และโรงงานอุตสาหกรรมเป็นส่วนมาก ขณะที่หลายพื้นที่ในต่างจังหวัดเองก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับมลพิษจากการเผ่าป่าได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นการแก้ไขปัญหานี้อาจเป็นเรื่องยากกว่าการป้องกัน
ผลกระทบกับร่างกายที่เกิดจาก PM 2.5
เมื่อฝุ่น PM 2.5 มีการสะสมในร่างกายเป็นจำนวนมากแล้ว ย่อมส่งผลเสียต่อร่างกายได้หลากหลายรูปแบบ และแสดงอาการออกมาทางร่างกายตามภาวะของโรคในแต่ละคน ซึ่งผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ระบบการทำงานของเซลล์ในร่างกายเริ่มเสื่อมสภาพ จึงมีความเสี่ยงต่อโรคได้มากขึ้น ทั้งนี้ในผู้สูงอายุต้องระวังปัญหาที่เกิดจากฝุ่นขนาดเล็กชนิดนี้เพราะอาจมีผลกระทบต่อร่างกาย ดังนี้
- โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ : เมื่อมีการสะสมของ PM 2.5 ในปอด ผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ยิ่งมีปัญหาสุขภาพในเรื่องปอดอยู่แล้วยิ่งเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยได้ง่าย เช่น โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดอักเสบ เป็นต้น
- โรคเกี่ยวกับสมอง : หากไม่ได้รับการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ผู้สูงอายุอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม เพราะเมื่อมีการสะสมในสมองจะทำให้เกิดการหลั่งสารอักเสบออกมาทำให้เซลล์ส่วนต่าง ๆ ในสมองมีการอักเสบ และมีผลทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้เร็วกว่าปกติ
- โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด : องค์การอนามัยโลกได้รายงานสถิติข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุทั่วโลกว่ามีการเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นจากสาเหตุที่มาจากการสะสมของ PM 2.5 ในหลอดเลือดปริมาณมาก ทำให้เกิดการแข็งตัวหรือตีบตัน บางรายอาจมีผลให้เกิดอาการอัมพฤกษ์อัมพาตได้
- อาการที่เกิดกับร่างกาย : ไม่เพียงแค่เรื่องของโรคที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่การได้รับ PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายเป็นจำนวนมากยังส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อร่างกายได้หลายด้านด้วย เช่น เวียนหัว ปวดรอบดวงตา ตาแดง มีเสมหะ ไอเรื้อรัง หัวใจเต้นเร็ว หายใจติดคัด บางรายอาจมีความรู้สึกอยากอาเจียนและเบื่ออาหารร่วมด้วยได้
- โรคร้ายแรง : นอกจากการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ การไหลเวียนเลือดและสมองแล้ว หากได้รับมลพิษจากฝุ่นละอองอนุภาคเล็กแบบ PM 2.5 เป็นจำนวนมากและเป็นเวลานานยังส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงได้อีกมากมาย เช่น โรคมะเร็งผิวหนัง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และโรคมะเร็งปอด ซึ่งเป็นโรคที่ผู้สูงอายุต้องระวัง
ดูแลผู้สูงอายุอย่างไรให้ปลอดภัยจาก PM 2.5
แม้ว่าปัญหา PM 2.5 อาจเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขให้หมดไปได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่ก็สามารถป้องกันได้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพและร่างกาย ซึ่งสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดก็คือการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการได้รับฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายให้กับผู้สูงอายุ เพราะส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองจากที่บ้าน สำหรับวิธีดูแลผู้สูงอายุในวันที่ค่า PM 2.5 สูง สามารถทำตามได้จาก 6 วิธีต่อไปนี้
1. หลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้าน
แม้ว่าการทำกิจกรรมนอกบ้านจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดี แต่หากเป็นช่วงที่มีการสะสมของค่าฝุ่น PM 2.5 ปริมาณมาก ควรงดกิจกรรมกลางแจ้งทั้งหมด และหากิจกรรมที่สามารถสร้างความสุขภายในบ้านให้กับผู้สูงวัยแทน หากเป็นการออกกำลังกายให้เปลี่ยนเป็นการออกกำลังกายในบ้าน ในอาคาร หรือเข้าฟิตเนส และถ้ามีความจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้ตรวจเช็กค่าฝุ่นก่อนว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นอันตรายกับสุขภาพหรือไม่
2. ล้างมือและรักษาความสะอาดอยู่เสมอ
หากมีความจำเป็นต้องออกไปนอกบ้าน หรือต้องเผชิญกับฝุ่น PM 2.5 โดยตรง ควรล้างมือและล้างหน้าด้วยน้ำสะอาดอยู่เสมอ เพื่อลดการสะสมของฝุ่น PM 2.5 ตามร่างกายของผู้สูงอายุ เพราะหากมีฝุ่นสะสมอยู่ที่มือ ผิวหนัง หรือใบหน้า ย่อมมีความเสี่ยงสูงที่ฝุ่นจะเข้าสู่ร่างกายได้จากการหายใจ การแกะเกาใบหน้าและจมูก รวมถึงเมื่อหยิบจับอาหาร
3. สวมหน้ากากกรองอากาศ
การเดินทางออกนอกบ้านสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือการสวมหน้ากากกรองอากาศ และสวมแว่นตากันแดด เพื่อป้องกันฝุ่นเข้าตาและหายใจเข้าสู่ร่างกาย รวมทั้งการใช้เวลาอยู่นอกบ้านหรืออาคารให้น้อยที่สุด เพื่อลดการสะสมของฝุ่น PM 2.5 สำหรับกรณีที่อยู่ในบ้านไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากกรองอากาศเอาไว้ตลอดเวลา สามารถใช้เครื่องฟอกอากาศที่มคุณสมบัติในการช่วยกรองฝุ่น PM 2.5 เพื่อลดการสะสมของฝุ่นได้
4. พักผ่อนให้เพียงพอ
การป้องกันฝุ่น PM 2.5 จากภายนอกเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ การดูและสุขภาพจากภายในเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายพร้อมรับมือกับความเจ็บป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสมกับช่วงวัยและสม่ำเสมอ การดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่เหมาะกับร่างกาย และการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออยู่เสมอเพื่อเสริมสร้างการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย
5. ดูแลความสะอาดในที่อยู่อาศัย
การทำความสะอาดในที่อยู่อาศัยเป็นวิธีที่ลดการสะสมของปริมาณ ฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างเห็นผลมากที่สุดอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งปริมาณค่าฝุ่น PM 2.5 ในห้องนอนนั้นไม่ควรเกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากมีประมาณมากกว่านั้นจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเป็นอันตรายกับผู้สูงอายุได้ ดังนั้นจึงต้องหมั่นทำความสะอาด กวาด เช็ดถูที่อยู่อาศัย และห้องนอนให้สะอาดอยู่เสมอ หากไม่จำเป็นควรปิดหน้าตากและเปิดเครื่องปรับอากาศแทน จะช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 เข้ามาสะสมในบ้านได้
6. ติดตั้งระบบกรองอากาศ
สำหรับบ้านที่ไม่สามารถจัดการกับปัญหาฝุ่นละอองอนุภาคเล็กภายในบ้านได้ อาจต้องพิจารณาเลือกใช้เครื่องกรองอากาศเพื่อช่วยจัดการกับปริมาณฝุ่น PM 2.5 ให้มีความอันตรายต่อสุขภาพน้อยที่สุดได้ โดยเฉพาะการใช้เครื่องกรองอากาศในห้องนอนเพื่อให้ปริมาณค่าฝุ่น PM 2.5 ในห้องนอนไม่เกินไปมากกว่าเกณฑ์ที่เป็นอันตราย และระบบการกรองอากาศยังช่วยให้ได้อากาศที่บริสุทธิ์ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุอีกด้วย
7. ติดตามข่าวสารเรื่องฝุ่น PM 2.5
นอกจากนี้แล้วการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสภาพอากาศอยู่เสมอยังเป็นวิธีที่ช่วยให้เตรียมตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และหาวิธีจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการตรวจเช็กค่าฝุ่นในพื้นที่ที่จะต้องเดินทางไป หรือในเขตที่อยู่อาศัยเป็นประจำก็ช่วยให้วางแผนในการใช้ชีวิตแต่ละช่วงเวลาได้ง่ายขึ้นด้วย
เรียกได้ว่าเรื่องของฝุ่นอนุภาคเล็กแบบ PM 2.5 นั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากสิ่งเล็ก ๆ แต่มีพิษร้ายแรงกับผู้สูงวัยเป็นอย่างมาก ทางที่ดีที่สุดควรพกหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นขนาดเล็ก และใช้ชีวิตภายในบ้านให้มากที่สุดในช่วงที่มีการฟุ้งกระจายของฝุ่นขนาดเล็กนี้ ก็เป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้สูงอายุจากโรคต่าง ๆ ได้ดี และเห็นผลได้มากที่สุด
สรุป PM 2.5 ปัญหาจากฝุ่นขนาดเล็ก ที่ส่งผลร้ายกับสุขภาพผู้สูงวัย
ปัญหา PM 2.5 ส่งผลเสียกับสุขภาพผู้สุขอายุและมีผลต่อร่างกายในระยะยาวได้ โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเจ็บป่วยอยู่แล้วยิ่งมีความเสี่ยงต่อผลกระทบได้ง่ายที่สุด ดังนั้นแล้วการให้ความสำคัญกับเรื่องของความสะอาดในที่อยู่อาศัย รวมถึงการป้องกันฝุ่น PM 2.5 อย่างถูกวิธีและเหมาะสมกับสถานการณ์ ยังช่วยลดการสะสมของฝุ่นจิ๋วในร่างกาย และลดความเสี่ยงของความเจ็บป่วยให้กับผู้สูงวัยได้อีกด้วย เพราะปัญหานี้ต้องรีบป้องกันก่อนจะสายเกินแก้
สำหรับครอบครัวหรือผู้ดูแลที่ไม่สะดวกในเรื่องของการจัดเตรียมที่อยู่อาศัยให้กับผู้สูงอายุ หรือติดปัญหาด้านเวลาในการดูแลที่เหมาะสม บ้านพักผู้สูงอายุ หรือศูนย์ดูแลผู้สูงวัย เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างใส่ใจได้ตลอด 24 ชม. ทั้งด้านของโภชนาการ สิ่งแวดล้อมในที่อยู่อาศัย และกิจกรรมที่รองรับกับช่วงวัย รวมถึงการควบคุมปริมาณฝุ่น PM 2.5 ภายในห้องนอน ซึ่งทั้งหมดนี้ท่านสามารถเลือกให้ตรงใจและตรงกับความต้องการได้ที่ SaiJai.co