สุขภาพช่องปากเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้สูงอายุเลือกรับประทานได้หลากหลาย และดื่มด่ำกับรสชาติอาหารได้อย่างเต็มที่ แต่ด้วยอายุที่เพิ่มมากขึ้นปัญหาภายในช่องปากก็ค่อยๆ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตสำหรับผู้อายุด้วยเช่นกัน เพราะไม่สามารถขบเคี้ยวอาหารได้อย่างเป็นปกติเหมือนเคย ซ้ำร้ายที่สุดคือบางคนมีอาการเบื่ออาหารจนทำให้มีปัญหาสุขภาพตามมาได้
เพื่อช่วยให้ครอบครัว และผู้สูงวัยเริ่มตระหนักถึงปัญหาของเรื่องปากและฟันมากขึ้น วันนี้ SaiJai.co มีเรื่องราวดีๆ ของการดูแลช่องปาก และการดูแลฟันอย่างถูกวิธีในผู้สูงอายุมาบอกกัน ส่วนจะมีวิธีแบบไหนบ้างนั้นไปติดตามอ่านกันต่อได้ในบทความนี้เลย
ปัญหาสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุที่พบบ่อย มีอะไรบ้าง?
สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับการดูแลช่องปากอย่างถูกวิธีและสะสมเป็นเวลานานอาจส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับช่องปากในระยะยาว และสามารถเป็นได้ทั้งอาการที่มีความรุนแรงขนาดเล็กไปจนถึงการลุกลามที่มีผลเสียต่อสุขภาพตามมา โดยปัญหาที่พบบ่อยมีดังนี้
- ฟันร่วง ฟันผุ และฟันแตก
- ปากแห้ง ปากเป็นแผล
- แผลในปาก การขบฟันไม่ปกติ
- โรคเหงือก และโรคปริทันต์อักเสบ
- มะเร็งในช่องปาก
- เหงือกอักเสบ เหงือกบวม
สาเหตุของการเกิดปัญหาในช่องปากของผู้สูงอายุ
สำหรับการเกิดปัญหาในช่องปากของผู้สูงอายุนั้นนอกจากเรื่องขาดการดูแลช่องปากอย่างถูกวิธีในผู้สูงวัยแล้ว ยังมีได้จากอีกหลายปัจจัย โดยแบ่งได้ตามปัจจัยและอาการของโรคในช่องปากด้วย เช่น
- ขาดการดูแลฟันและช่องปากอย่างถูกวิธีในผู้สูงอายุ ทำให้เกิดการสะสมของแบคทีเรีย จนนำไปสู่ปัญหาของโรคเหงือกอักเสบ โพรงประสาทฟันอักเสบ และอาจหนักถึงขั้นฟันแตกหลุดร่วง
- เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายจะผลิตน้ำลายได้น้อยลง รวมถึงภาวะจากโรคประจำตัวเช่นเบาหวาน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาปากแห้ง น้ำลายน้อยลงได้
- ปัญหาปากแห้งและการดูแลฟันไม่ถูกวิธียังส่งผลให้เกิดปัญหาฟันผุ หรือรากฟันผุได้อีกด้วย
- เมื่อมีการสะสมของคราบจุลินทรีย์เป็นเวลานานจนเกิดคราบหินปูนทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบ และปริทันต์ได้
- ผู้สูงอายุที่ฟันหักหรือฟันร่วงแล้วไม่ได้รับการรักษา หรือทำฟันปลอมทดแทนอาจทำให้เกิดภาวะที่ฟันล้ม ฟันเคลื่อนในบริเวณใกล้เคียงได้
- เนื้อเยื่อในช่องปากของผู้สูงจะมีความอ่อนแอมากกว่าวัยอื่น ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับแผลในช่องปากได้ง่าย รวมถึงการใส่ฟันปลอมแบบถอดได้ที่ไม่ได้มาตรฐาน เคี้ยวอาหารที่มีความแข็ง
- ปัญหามะเร็งช่องปากนั้นพบได้บ่อยในผู้สูงวัย โดยส่วนใหญ่มาจากการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ รวมถึงขาดการดูแลช่องปากเป็นเวลานาน
หากไม่ได้รับการดูแลช่องปากผู้สูงวัยจะเป็นอย่างไร?
สำหรับผู้สูงอายุที่ยังดูแลตัวเองได้ สามารถช่วยเหลือตัวเองในด้านต่างๆ ได้ตามปกติ การดูแลสุขภาพช่องปากเป็นเรื่องสำคัญมากของผู้สูงอายุที่ต้องทำเป็นประจำทุกวัน แต่สำหรับผู้สูงวัยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้คนในครอบครัว หรือผู้ดูแลจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการดูแลช่องปากผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน
หากไม่ได้รับการดูแลเป็นเวลานาน หรือดูแลไม่ถูกวิธีเป็นประจำ ก็จะส่งผลให้มีปัญหาเกี่ยวกับเหงือกและฟัน จนถึงขั้นฟันหลุด ฟันร่วง การบดเคี้ยวอาหารแย่ลง ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ หนักที่สุดคือปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ การพูดไม่ชัด และเสียสุขภาพจิต ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีแน่ที่จะปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้อยู่กับผู้สูงอายุเป็นเวลานาน
การดูแลช่องปากสำหรับผู้สูงอายุสามารถทำได้ด้วย 6 วิธีต่อไปนี้
เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคและภาวะต่างๆ ภายในช่องปากของผู้สูงวัย สามารถลองนำ 6 วิธีต่อไปนี้ไปลองปรับใช้ในการดูแลช่องปากของผู้สูงอายุจากที่บ้านได้
1. แปรงฟันอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน
การดูแลฟันในช่องปากของผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยบดเคี้ยวอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุขในมื้ออาหาร ผู้สูงอายุควรหมั่นทำความสะอาดช่องปากอยู่เสมอ การแปรงฟันควรแปรงไม่น้อยกว่า 2 ครั้งต่อวัน คือช่วงเช้า และก่อนนอน หรือหากเป็นไปได้ให้เพิ่มเติมการแปรงฟันหลังมื้ออาหารกลางวันเข้าไปด้วย รวมถึงการใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟัน และบ้วนปากหลังอาหารอยู่เสมอเพื่อลดการสะสมของเศษอาหารและแบคทีเรียที่ทำให้ฟันผุ
2. แปรงฟันแล้วอย่าลืมแปรงลิ้น
นอกจากการแปรงฟันแล้ว ควรเพิ่มเติมการแปรงลิ้นด้วย เพราะเป็นอวัยวะสำคัญในช่องปากที่มีการสะสมของแบคทีเรียและคราบอาหารได้เช่นเดียวกับฟัน หลังแปรงฟันเสร็จแล้วอย่าลืมแปรงลิ้นอย่างน้อย 4-5 ครั้ง โดยเริ่มจากการแปรงด้านในออกมาด้านนอกเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนบ้วนปาก เพื่อลดการสะสมของสิ่งสกปรก
3. เปลี่ยนแปรงสีฟันทุกสามเดือน
แปรงสีฟันเป็นอุปกรณ์ทำความสะอาดช่องปากที่มีการสะสมของแบคทีเรีย หากใช้เป็นประจำทุกวันและเป็นเวลานานก็ยิ่งทำให้เกิดการสะสมเป็นจำนวนมาก ดังนั้นควรเปลี่ยนทุก 3 เดือน หรือเริ่มสังเกตเห็นว่าขนแปรงเสื่อมสภาพบานออก ควรเปลี่ยนใหม่เพื่อให้การทำความสะอาดมีประสิทธิภาพ และลดการสะสมของแบคทีเรียด้วย
4. พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน
นอกจากการดูแลฟันด้วยตัวเองในผู้สูงอายุจะสำคัญแล้ว การให้ทันตแพทย์ดูแลให้คำแนะนำก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน เพราะคุณหมอจะคอยตรวจสุขภาพของช่องปากว่ามีความผิดปกติในส่วนใดหรือไม่ หรือมีความจำเป็นที่ต้องทำการรักษาเร่งด่วนในกรณีไหนรึเปล่า ที่สำคัญคือได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลช่องปากอย่างเหมาะสมและถูกวิธีสำหรับผู้สูงอายุด้วย ดังนั้นจึงต้องพบทันตแพทย์อย่างน้อยทุก 6 เดือน
5. ดื่มน้ำมากขึ้น
ปัญหาปากแห้งส่งผลให้ฟันผุได้ ควรเพิ่มเติมการดื่มน้ำเป็นประจำในระหว่างวันเพื่อลดความแห้งภายในช่องปาก และเป็นวิธีที่ช่วยดูแลช่องปากให้ผู้สูงอายุได้อย่างเหมาะสมด้วย ทั้งนี้ควรใช้วิธีการจิบน้ำเรื่อยๆ ตลอดทั้งวันแทนการดื่มน้ำปริมาณมากในครั้งเดียว นอกจากนี้การดื่มน้ำในขณะที่ปากแห้งยังมีส่วนช่วยลดปัญหากลิ่นปากได้อีกด้วย
6. เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ไม่เพียงแค่ให้คุณค่าทางสารอาหาร และบำรุงร่างกายสำหรับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่การเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ทำร้ายฟัน เคี้ยวง่าย ไม่แข็ง เหนียว หรือต้องออกแรงบดมากๆ ยังเป็นวิธีที่ช่วยลดโอกาสที่ฟันและเหงือกจะได้รับบาดเจ็บด้วย ซึ่งอาหารกลุ่มนี้ยังมีผลต่อระบบย่อยอาหารของผู้สูงอายุอีกด้วย ควรปรับเปลี่ยนมาทานอาหารที่มีกากใยสูง ลดอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลซึ่งมีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาฟันผุและปัญหาอื่นๆ ในช่องปากได้
การดูแลช่องปากสำหรับผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
ทั้งนี้การดูแลช่องปากสำหรับผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้อาจทำได้ง่ายกว่า แต่ในผู้สูงวัยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลปากและฟันด้วยเหมือนกัน โดยผู้ดูแลสามารถทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- ทำความสะอาดช่องปากให้กับผู้สูงอายุอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ควรเลือกทำช่วงหลังเช็ดตัว หลังทานอาหาร หรือหลังเปลี่ยนผ้าอ้อม เวลาใดก็ได้
- ปรับตำแหน่งให้ผู้สูงอายุอยู่ในท่านั่งหรือกึ่งนอน โดยให้ศีรษะยกสูงจากที่นอนประมาณ 1 ฟุต หากทำไม่ได้จริงๆ ให้เปลี่ยนเป็นท่านอนตะแคงโดยผู้สูงอายุอยู่ในตำแหน่งใกล้กับผู้ดูแลแล้วค่อยๆ ทำความสะอาดด้วยการแปรงฟัน
- ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดเช็ดริมฝีปาก ควรถอดฟันปลอมและกวาดเศษอาหารในปากออกให้หมดเพื่อแปรงฟัน พยายามแปรงให้ครบทุกซี่แล้วตามด้วยการแปรงลิ้นให้สะอาด ทั้งนี้ในการแปรงฟันควรแปรงอย่างนุ่มนวลและเบามือ
- หลังจากแปรงฟันครบทุกซี่และทั่วถึงแล้ว ให้ใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเช็ดเบาๆ ให้รอบซี่ฟัน
- เสร็จขั้นตอนการดูแลช่องปากผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ด้วยการบ้วนน้ำเล็กน้อย หรือหากผู้สูงอายุไม่สามารถบ้วนปากด้วยตัวเองได้ให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำพันนิ้วแล้วเช็ดยาสีฟันออก แล้วเช็ดปากให้แห้งอีกครั้ง เพื่อลดภาวะปากแห้งเกินไปให้ใช้ลิปหรือสารที่มีความมันทาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นอีกครั้ง
สรุป ปัญหาสุขภาพในช่องปาก เรื่องเล็กๆ ที่ไม่ควรปล่อยให้เกิดกับผู้สูงอายุ
สุขภาพปากและฟันเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของการมีสุขภาพร่างกายที่ดี ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลช่องปากและฟันในผู้สูงอายุอยู่เสมอ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรค หรือภาวะต่างๆ ที่ส่งผลต่อการบดเคี้ยวอาหาร หรือปัญหาที่สร้างความรำคาญใจให้กับผู้สูงอายุเมื่อต้องรับประทานอาหาร ทั้งนี้ในขั้นตอนการดูแลช่องปากของผู้สูงอายุควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดและทำเป็นประจำ เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้ผู้สูงวัยยิ้มสวยได้อย่างมั่นใจพร้อมรับความสุขจากมื้ออาหารได้อย่างเต็มที่แล้ว
สำหรับผู้สูงอายุ คนในครอบครัว หรือผู้ดูแลที่ติดขัดในเรื่องของการดูแลสุขภาพปากและฟัน หรือต้องการการดูแลอย่างทุกวิธีในด้านต่างๆ ให้กับผู้สูงวัย การเลือกย้ายที่อยู่มาเป็นบ้านพักวัยเกษียณก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้ผู้สูงวัยได้อยู่ในสถานที่ที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี การดูแลที่ครบครันจากทีมแพทย์และพยาบาล รวมถึงกิจกรรมและโภชนาการที่เหมาะกับผู้สูงวัยแต่ละคน ซึ่งที่ SaiJai.co เราได้รวบรวมศูนย์ดูแลผู้สูงวัยจากหลากหลายสถานที่ในทำเลต่างๆ มาให้ท่านเลือกมากมาย พร้อมทั้งรีวิวจากผู้เคยใช้บริการจริง ช่วยให้เลือกได้ตรงใจและได้รับบริการที่น่าพึงพอใจได้มากที่สุด