เมื่อลูกเติบโตและมีหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบ หรือบางคนมีครอบครัวของตัวเองทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งในแต่ละช่วงเวลาก็มีบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกัน และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับลูกๆ โดยที่คนเป็นพ่อแม่ไม่ทันได้เตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงผลกระทบที่ตามมาก็มีทั้งเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม และหนักที่สุดคือเรื่องของจิตใจซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่า “Empty Nest Syndrome” ได้
เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีบทบาทหน้าที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ ได้ตระหนักถึงปัญหาซึมเศร้าในผู้สูงอายุ และเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะ Empty Nest Syndrome ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต วันนี้ SaiJai.co ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องของภาวะความเหงาเมื่อลูกต้องไกลบ้าน พร้อมวิธีดูแลจิตใจที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองมาบอกกัน
Empty Nest Syndrome คืออะไร?
Empty Nest Syndrome หรือภาวะรังที่ว่างเปล่า คือ อาการที่เกิดขึ้นกับคนเป็นพ่อแม่ ที่ต้องรู้สึกเหงา เศร้า หรือเสียใจจากสาเหตุที่เห็นลูกเติบโตและต้องออกจากบ้านไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเกิดความรู้สึกเศร้าในช่วงแรกเนื่องจากปรับตัวไม่ทัน และไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจในเรื่องนี้มาก่อน
เมื่อเวลาผ่านไปความเศร้าจะเริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นความเหงา เพราะต้องใช้ชีวิตคนเดียวหรืออยู่กับคู่ครองสองคน และมีกิจวัตรประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น จากที่เคยทำกับข้าวรอลูกกลับบ้านมากินด้วยกัน เปลี่ยนเป็นทำอาหารเพื่อทานเอง หรือกิจวัตรที่เคยต้องทำร่วมกับลูกก็กลายเป็นต้องทำคนเดียว รวมถึงบ้านที่เคยมีเสียงพูดคุยกันระหว่างคนในครอบครัวก็เปลี่ยนเป็นความเงียบสงบ
ที่สุดแล้วเมื่อไม่ได้การดูแลบรรเทาจิตใจก็อาจนำไปสู่โรคจิตเวชในผู้สูงอายุ หรืออาการซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ซึ่งก็จะมีความรุนแรงของโรคมากขึ้นจนอาจนำไปสู่ความรู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ได้
Empty Nest Syndrome อาจเป็นต้นเหตุของโรคซึมเศร้า
เมื่อคุณพ่อคุณแม่อยู่ในภาวะ Empty Nest Syndrome แล้ว สิ่งที่ตามมาคือความเหงา เศร้า และรู้สึกว่าตัวเองได้สูญเสียสิ่งที่รักไปจนเกิดความว่างเปล่าในชีวิต หากปล่อยไว้ให้ความรู้สึกนี้เกาะกินจิตใจเป็นเวลานาน จะส่งผลออกมาเป็น ‘ปฏิกิริยาความโศกเศร้าที่เกิดจากการสูญเสีย’ ตามทฤษฎีของ จิตแพทย์ชาวสวิส-อเมริกัน ‘คูเบลอร์-รอสส์’ พบว่ามีอยู่ 5 ระยะด้วยกัน คือ
- รู้สึกปฏิเสธ ไม่ยอมรับ
- มีอารมณ์โกรธง่าย และต่อต้านสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น
- พยายามหาสิ่งต่างๆ มาช่วยเปลี่ยนแปลง และเริ่มมีการต่อรองมากขึ้น เพราะยังไม่สามารถทำใจยอมรับได้
- รู้สึกซึมเศร้า มีความเสียใจแสดงออกมาให้เห็นอยู่เสมอ
- รู้สึกว่ายอมรับการสูญเสียได้ และสงบมากขึ้น
กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นเมื่อประสบภาวะ “Empty Nest Syndrome”
แม้ว่าภาวะรังว่างเปล่า จะไม่ได้เป็นอันตายต่อพ่อแม่ในระยะแรก แต่ก็อาจกลายเป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ เพราะเป็นภาวะที่รู้สึกเหมือนกับมีบางสิ่งบางอย่างค่อยทำให้จิตใจเศร้าหมองอยู่เสมอ และหากปล่อยให้เป็นปัญหาจิตใจเป็นเวลานานก็อาจนำไปสู่โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้างในผู้สูงอายุได้ทันที โดยกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นและพบได้บ่อยที่ต้องรีบรักษาโดยด่วน คือ
- รู้สึกสูญเสียเป้าหมายในชีวิต
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านรู้สึกว่าลูกคือทุกสิ่งของชีวิต และลูกก็เป็นเป้าหมายสำคัญของการมีชีวิตอยู่ เพราะหลายคนมีภาระหน้าที่และกิจวัตรประจำวันที่อยู่กับลูก เช่น ไปรับ-ส่งลูกที่โรงเรียน ทำกับข้าวให้ลูก ซื้อและเตรียมของใช้จำเป็นให้ลูก ซึ่งเป็นกิจวัตรพ่อแม่ทุกคนทำให้กับลูกมาโดยตลอดตั้งแต่ลูกเกิดมา แต่เมื่อลูกต้องโยกย้ายที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะด้วยการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย หรือทำงานในต่างแดน พ่อแม่จะรู้สึกสูญเสียเป้าหมายในชีวิตทันที ซึ่งเป็นความรู้สึกเคว้งคว้างว่างเปล่า ไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตต่อไปแบบไหน ทำอะไรในแต่ละวัน
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
ภาวะ Empty Nest Syndrome ที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจเป็นเวลานานจะทำให้รู้สึกควบคุมอารมณ์ได้ยาก มีความแปรปรวนของอารมณ์ที่หลากหลาย ซึ่งบางครั้งก็เป็นอารมณ์ที่รู้สึกยินดีที่ลูกเติบโต แต่ก็อาจจะสลับกับความรู้สึกเศร้าที่ลูกต้องอยู่ไกลบ้าน พ่อแม่บางคนอาจมีความวิตกกังวลเพราะเป็นห่วงลูกแต่ก็หงุดหงิดที่ไม่สามารถทำอะไรให้ลูกใกล้ๆ ได้เหมือนเคย โกรธตัวเอง กลัวอนาคต และเมื่อมีความรู้สึกต่างๆ มากมายอัดแน่นเต็มอกแบบนี้ บางคนก็มีอารมณ์หงุดหงิดที่ลูกเริ่มตัดสินใจอะไรด้วยตัวเอง หรือลูกต้องการเลือกอิสระให้กับชีวิตมากกว่าที่พ่อแม่คาดหวังไว้
- รู้สึกผิดหวังไร้คุณค่า
หลายคนตัดสินใจลาออกจากงานมาเพื่อเป็นพ่อแม่เต็มเวลา ทำให้ใกล้ชิดกับลูกมากและใกล้ชิดมานานหลายสิบปี เมื่อลูกต้องย้ายออกไปบทบาทหน้าที่ที่เคยสำคัญของพ่อแม่ก็ลดลงไป ทำให้เผชิญกับภาวะทางอารมณ์ที่คล้ายกับการถูกเชิญให้ออกจากงาน จนมีอารมณ์เศร้า ผิดหวัง รู้สึกว่าตัวเองหมดความสำคัญ ไร้คุณค่า จนไม่สามารถยอมรับตัวเองได้อย่างที่เคยเป็น
ผลกระทบจากภาวะ Empty Nest Syndrome
ภาวะ Empty Nest Syndrome ไม่เพียงแค่นำไปสู่โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ หรือโรคจิตเวชอื่นๆ ในผู้สูงอายุได้เท่านั้น เพราะในระหว่างที่ต้องเผชิญกับภาวะรังว่างเปล่ายังมีผลกระทบที่ปรากฏชัดให้เห็นอีกหลายด้านด้วย โดยเฉพาะ 5 ด้านนี้
- ผลกระทบกับสุขภาพทางใจ
ทำให้เกิดความรู้สึกว่ารับมือกับสิ่งต่างๆ รอบตัวไม่ได้ วิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา เริ่มควบคุมความคิดของตัวเองกับเรื่องในอนาคตไม่ได้ หากปล่อยให้เรื้อรังอาจจะเปลี่ยนจากคนที่เคยร่าเริงกลายเป็นคนเย็นชา ไม่รู้สึกยินดียินร้ายกับเรื่องต่างๆ รอบตัว
- ผลกระทบกับสุขภาพทางกาย
เกิดความเครียดสะสมจนมีปัญหาสุขภาพตามมา เช่น ปวดหัวบ่อย ท้องเสีย ความดันโลหิตสูง ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรืออาจมีผลต่อการนอนไม่หลับเป็นเวลานาน บางคนอาจมีอาการเบื่ออาหาร กินอะไรก็ไม่อร่อยแม้เป็นเมนูโปรดก็ไม่อยากทานจนน้ำหนักลดลง
- ผลกระทบกับความสัมพันธ์
เมื่อปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับภาวะ Empty Nest Syndrome จนมีผลทางอารมณ์และความคิดแล้ว ปัญหาที่ตามมาคือเรื่องของการแสดงอารมณ์ที่รุนแรงใส่คู่ครอง หรือเริ่มรู้สึกหงุดหงิดเมื่อต้องทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น กินข้าวด้วยกัน ไปซื้อของ หรือแม้แต่การนอนร่วมเตียงเดียวกัน
- ผลกระทบต่อการทำงาน
สำหรับพ่อแม่ที่ไม่ได้เลี้ยงลูกเต็มเวลา เมื่อลูกต้องห่างไกลบ้านก็อาจมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันซึ่งรวมถึงการไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่ไม่สามารถเข้าสังคมได้อย่างเป็นปกติ จนกลายเป็นปัญหากับเพื่อนร่วมงานตามมา
- ผลกระทบกับคุณภาพชีวิต
ปัญหาที่รุนแรงที่สุดของภาวะรังว่างเปล่าก็คือ คุณภาพชีวิตที่ลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด เพราะเป็นช่วงเวลาที่รู้สึกว่าขาดเป้าหมายในชีวิต ไม่มีสิ่งที่สนใจ ไร้จุดมุ่งหมาย ว่างเปล่า และรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจ จนทำให้หมดแรงจูงใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป
วิธีป้องกันและรักษาตัวเองจากภาวะ ‘Empty Nest Syndrome’
แม้ว่าปัญหาเกี่ยวกับโรคจิตเวชในผู้สูงอายุจะดูเป็นปัญหาใหญ่ และเกิดขึ้นได้ง่าย แต่ในช่วงแรกของความเปลี่ยนแปลง ยังเป็นช่วงที่สามารถรักษาและบรรเทาอาการทางใจให้ลดลงได้ รวมไปถึงยังสามารถป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่นๆ อีกด้วย โดยพ่อแม่ทุกคนทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- ฝึกคิดบวกอยู่เสมอ : หนึ่งในปัญหาทางใจของผู้สูงอายุคือการมีความคิดในแง่ลบอยู่เป็นประจำ ซึ่งแน่นอนว่าการที่จะต้องสูญเสียบทบาทหน้าที่ของพ่อแม่ไปนั้นอาจทำให้รู้สึกเศร้าและผิดหวัง แต่หากลองฝึกคิดบวกอยู่เสมอว่า ลูกมีความเก่งและกล้าที่ตัดสินใจออกไปใช้ชีวิตแบบที่ตั้งใจ หรือลูกกำลังมีความสุขกับเส้นทางที่เลือก รวมถึงการคิดบวกถึงเรื่องราวที่เคยผ่านมากับลูก เช่น สถานที่ท่องเที่ยวในความทรงจำระหว่างตัวเองกับลูก หรือการพาตัวเองออกไปรับแสงแดด สูดอากาศบริสุทธิ์ เดินออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงเตรียมพร้อมสำหรับการกลับมาของลูกๆ ก็เป็นวิธีช่วยให้มีสติคิดบวกได้เช่นกัน
- ยอมรับความเปลี่ยนแปลงให้ได้ : จริงอยู่ว่าการได้ใช้ชีวิตกับลูกเป็นเวลาหลายสิบปีย่อมเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับได้เหมือนมีความเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อทุกอย่างเกิดขึ้นแล้ว ความเปลี่ยนแปลงกำลังเดินหน้าไปแล้ว สิ่งที่ง่ายที่สุดก็คือการยอมรับ และมองว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่เสมอ และเกิดขึ้นได้กับทุกเรื่อง เพียงแค่ยอมรับมันให้ได้เท่านั้น
- แบ่งปันความรู้สึกกับลูก : แม้ว่าจะอยู่ไกลกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะติดต่อหากันไม่ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ต้องป่วยด้วยโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ควรหาเวลาโทรหาลูกเพื่อพูดคุยสอบถามความเป็นอยู่ และอย่าลืมแบ่งปันความรู้สึกให้ลูกฟังบ้างว่ารู้สึกอย่างไร มีอารมณ์เหงา คิดถึง หรือห่วงใยลูกมากขนาดไหน วิธีนี้จะช่วยให้พ่อแม่ได้ระบายความรู้สึก และปลดปล่อยอารมณ์เศร้าออกไปได้ดีกว่าการเก็บเอาไว้เอง
- ตั้งเป้าหมายใหม่ให้ชีวิต : เมื่อเป้าหมายที่เคยวางไว้เปลี่ยนแปลงไป ก็ถึงเวลาที่ต้องมองหาเป้าหมายใหม่ให้กับตัวเอง พ่อแม่ที่เคยปล่อยงานอดิเรกของตัวเองไปเพราะต้องใช้เวลาดูแลลูก ถึงเวลาแล้วที่จะกลับมาลงมือทำในสิ่งเหล่านั้นอีกครั้งเพื่อเติมเต็มชีวิต และความรู้สึกมีไฟให้กลับคืนมา
สรุป Empty Nest Syndrome ภาวะทางใจที่ไม่ควรปล่อยให้เรื้อรัง
เรียกได้ว่าภาวะความเหงาจาก Empty Nest Syndrome เป็นสิ่งที่ไม่ควรที่จะปล่อยให้เกาะกินจิตใจเป็นเวลานานจนเป็นปัญหาเรื้อรัง เพราะคงไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่เมื่อมีความรู้สึกเศร้า สิ้นหวัง หมดแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตจนมีปัญหาจากโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุตามมา ดังนั้นเมื่อต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของลูกๆ ให้ลองตั้งสติ ปล่อยวาง ฝึกคิดบวก และหากิจกรรมที่ชื่นชอบเพื่อลงมือทำอย่างตั้งใจอีกสักครั้ง เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้ห่างไกลจากความเสี่ยงของโรคจิตเวชในผู้สูงอายุ และมีความสุขกับชีวิตได้อย่างที่เคยเป็นแล้ว
ส่วนท่านที่กำลังเผชิญปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจจากความเหงาที่ลูกต้องไกลบ้าน ท่านสามารถเลือกชมบ้านพักวัยเกษียณบนทำเลที่ตั้งใกล้บ้านเพื่อใช้เป็นสถานที่พักผ่อนทางกายและจิตใจ ที่มีระบบการดูแลผู้สูงอายุอย่างเข้าใจและเป็นมืออาชีพ พร้อมกิจกรรมที่ช่วยฟื้นฟูร่างกายและจิตใจที่ออกแบบมาสำหรับผู้อายุโดยเฉพาะได้ที่ SaiJai.co