มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นโรคที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุภายในกระเพาะอาหารจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย และสร้างผลกระทบในการใช้ชีวิตหลายอย่าง การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม การติดเชื้อแบคทีเรีย และปัจจัยทางพันธุกรรมล้วนเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคนี้ได้ บทความนี้ SaiJai.co จะพาไปทำความรู้จักกับมะเร็งกระเพาะอาหารให้มากขึ้น รวมถึงวิธีการป้องกัน การรักษา และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเบื้องต้นอย่างถูกต้องกัน
มะเร็งกระเพาะอาหาร คืออะไร?
มะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric Cancer) คือ โรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงหรือแบ่งตัวอย่างผิดปกติของเซลล์เยื่อบุภายในกระเพาะอาหาร จนกลายเป็นก้อนเนื้อมะเร็งที่จะค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้น หากปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยส่วนใหญ่แล้วมะเร็งกระเพาะอาหารสามารถพบได้ทุกส่วนของกระเพาะ แต่มักจะเกิดบริเวณส่วนกลางของกระเพาะ หรือบริเวณหลอดอาหารส่วนที่เชื่อมต่อกับกระเพาะอาหาร
สาเหตุของมะเร็งกระเพาะอาหาร
สาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหารนั้นยังไม่แน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญก็มีหลากหลาย ตั้งแต่การติดเชื้อแบคทีเรีย การอักเสบเรื้อรังของกระเพาะอาหาร หรือมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวเราเอง โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมักจะมีความเสี่ยงสูง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคาดว่าสาเหตุของมะเร็งกระเพาะอาหาร อาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ ต่อไปนี้
- การติดเชื้อ Helicobacter Pylori (H. Pylori) แบคทีเรียชนิดนี้เป็นสาเหตุหลักของการอักเสบเรื้อรังในกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งได้
- พฤติกรรมการกินอาหาร การบริโภคอาหารหมักดอง อาหารเค็ม อาหารรมควัน และอาหารที่มีสารก่อมะเร็งสูงเป็นประจำ อาจเพิ่มความเสี่ยง
- กลุ่มคนที่เป็นโรคอ้วน ร่างกายมักจะเกิดการอักเสบมากกว่าคนน้ำหนักปกติ ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็ง
- การสูบบุหรี่เป็นประจำ สารพิษในบุหรี่ทำลายเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร
- การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในกระเพาะอาหาร
- พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารจะมีความเสี่ยงสูงขึ้น
- ภาวะโลหิตจาง โรคโลหิตจางบางชนิด เช่น ภาวะโลหิตจางที่ขาดวิตามินบี 12 อาจเพิ่มความเสี่ยง
- อายุที่มากขึ้น ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารจะเพิ่มขึ้นตามอายุ
- เพศชาย ผู้ชายมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิง
- ผู้ที่เป็นกรดไหลย้อน กระเพาะอาหารมักจะระคายเคืองบ่อยกว่าคนที่ไม่เป็น เสี่ยงต่อการอักเสบสู่มะเร็ง
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นเพียงปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีส่วนก่อให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะเท่านั้น นั่นหมายความว่ากลุ่มคนที่เข้าข่ายปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ไม่จำเป็นจะต้องเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารทุกราย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเพื่อตรวจร่างกายและมองหาวิธีป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ จะดีที่สุด
อาการของมะเร็งกระเพาะอาหาร มีอะไรบ้าง?
มะเร็งกระเพาะอาหารในระยะแรกๆ นั้นก็เหมือนมะเร็งชนิดอื่นๆ คือ จะไม่มีการแสดงอาการชัดเจน แต่จะเริ่มมีอาการเมื่ออยู่ในระยะถัดไป หรือเริ่มลุกลามแล้ว เรามาดูกันเลยว่าอาการของมะเร็งกระเพาะอาหารแต่ละระยะ มีอาการแบบไหนบ้าง
- อาการมะเร็งกระเพาะอาหารระยะแรก
อาการมะเร็งกระเพาะอาหาร ระยะแรก มักไม่มีอาการ ทำให้ยากต่อการตรวจวินิจฉัยว่ามีก้อนเนื้อร้ายอยู่ในกระเพาะอาหารหรือไม่ หากไม่ได้ผ่านการตรวจสแกนที่ถูกต้อง โดยจะมีอาการเบื้องต้นดังนี้
-
- รู้สึกอิ่มเร็วกว่าปกติ แม้รับประทานอาหารเพียงเล็กน้อย
- อาหารไม่ย่อยและรู้สึกไม่สบายในท้อง
- รู้สึกอึดอัดและท้องอืดหลังรับประทานอาหาร
- คลื่นไส้เล็กน้อย
- เบื่ออาหาร
- แสบร้อนกลางอก
- จุกเสียดบริเวณลิ้นปี่
- อาการมะเร็งกระเพาะอาหารระยะลุกลาม
อาการของมะเร็งกระเพาะอาหารระยะลุกลาม จะเกิดขึ้นเมื่อมะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายแล้ว ไม่ใช่แค่ส่วนของกระเพาะอาหารเพียงอย่างเดียว โดยอาการที่เกิดขึ้นในระยะนี้อาจรวมถึงอาการในระยะเริ่มต้นของมะเร็งกระเพาะอาหารด้วย แต่จะแสดงอาการอื่นๆ เพิ่มเติมดังนี้
-
- ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือมีสีคล้ำผิดปกติ
- อาเจียน บางครั้งอาจมีเลือดปน
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ปวดท้อง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- ตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน)
- ท้องบวมเนื่องจากมีของเหลวสะสมในช่องท้อง (ท้องมาน)
- กลืนอาหารลำบาก เบื่ออาหาร
นอกจากนี้ มะเร็งกระเพาะอาหารยังอาจทำให้รู้สึกปวดหลังร่วมด้วย เพราะมะเร็งแพร่กระจายไปยังกระดูกสันหลังหรือเนื้อเยื่อใกล้เคียง แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารแล้วปวดหลังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้มากมาย จึงไม่ควรด่วนสรุปว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารโดยไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยที่เหมาะสม
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะอาหาร มีวิธีไหนบ้าง?
การวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะอาหารมักเริ่มจากการซักประวัติและตรวจร่างกาย หรือจะต้องผ่านการตรวจคัดกรองก่อนเป็นอันดับแรก หากผลการตรวจบ่งชี้ให้สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารจริง แพทย์อาจส่งตรวจเพิ่มเติมว่ามีโอกาสเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งจริงหรือไม่ โดยอ้างอิงข้อมูลจาก National Cancer Institute ได้อธิบายวิธีการตรวจวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะอาหารด้วยรูปแบบต่างๆ เอาไว้ดังนี้
- การส่องกล้องพร้อมตัดชิ้นเนื้อ (Upper Endoscopy with Biopsy)
การส่องกล้องตรวจเป็นการตรวจภายในหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น เพื่อตรวจหาบริเวณเนื้อเยื่อที่ผิดปกติภายในทางเดินอาหารส่วนบน โดยแพทย์จะสอดกล้องที่มีลักษณะเป็นท่อยาวบางและมีแสงสว่างผ่านทางปากลงไปในหลอดอาหาร ซึ่งอุปกรณ์นี้อาจมีเครื่องมือสำหรับการตัดตัวอย่างเซลล์หรือตัวอย่างเนื้อเยื่ออยู่ด้วย เพื่อให้สามารถตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจวินิจฉัยต่อไปได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยตัวอย่างเนื้อเยื่อที่นำออกมาจะถูกตรวจสอบหาการติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter Pylori (H. Pylori) และใช้สำหรับการทดสอบตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biomarker Testing) อีกทีหนึ่ง
- การตรวจหลอดอาหาร (Barium Swallow)
การตรวจหลอดอาหารเป็นการถ่ายภาพเอกซเรย์ของหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร โดยเราจะต้องดื่มของเหลวที่มีแบเรียมซัลเฟต (สารประกอบโลหะสีขาวเงิน) หรือเรียกว่าการกลืนแป้ง ของเหลวนี้จะเคลือบหลอดอาหารและกระเพาะอาหารเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นในภาพเอกซเรย์ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปราวๆ 1-2 วัน แป้งจะถูกขับออกมาเองพร้อมกับอุจจาระ จึงไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะตกค้างอยู่ในร่างกายหรือไม่
- การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการทำซีทีสแกน เป็นการใช้คอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับเครื่องเอกซเรย์เพื่อสร้างภาพรายละเอียดของส่วนต่างๆ ภายในร่างกายจากหลายๆ องศา วิธีนี้จำเป็นต้องมีการฉีดสี (Contrast Material) เข้าเส้นเลือดหรือให้ดื่มสารประกอบเพื่อให้เห็นอวัยวะและเนื้อเยื่อได้ชัดเจนขึ้นแบบเป็นภาพสามมิติ ใช้เวลาเพียง 10-15 นาทีในการตรวจเท่านั้น
- การตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biological Marker หรือ Biomarker)
การตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ คือการตรวจสอบยีน โปรตีน และสารอื่นๆ (เรียกว่าตัวบ่งชี้ทางชีวภาพหรือ Tumor Markers) ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็ง ตัวบ่งชี้บางชนิดมีผลต่อวิธีการทำงานของการรักษามะเร็งบางประเภท โดยตัวอย่างเนื้อเยื่อที่มีเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหารจะถูกนำออกมาระหว่างการตัดชิ้นเนื้อหรือการผ่าตัด (ซึ่งอาจจะทำพร้อมกับการส่องกล้องที่กล่าวไปข้างต้น) จากนั้น จะนำตัวอย่างชิ้นเนื้อไปทดสอบในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจสอบว่ามีตัวบ่งชี้ทางชีวภาพหรือไม่
การรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร ต้องทำอย่างไร?
การรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร จะขึ้นอยู่กับระยะของโรค ขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้อ รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาหลายปัจจัยในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุดกับสภาวะร่างกายของเรา แต่โดยทั่วไปแล้ว การรักษาจะเน้นไปที่การกำจัดเซลล์มะเร็งออกให้หมด และป้องกันไม่ให้มะเร็งกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ซึ่งจะมีทางเลือกในการรักษามะเร็งกระเพาะอาหารต่างๆ ดังนี้
- การผ่าตัดส่องกล้อง
การตัดเยื่อบุด้วยการส่องกล้อง (Endoscopic Mucosal Resection) เป็นขั้นตอนที่ใช้กล้องขนาดเล็กส่องตรวจทางเดินอาหาร เพื่อเอามะเร็งระยะเริ่มต้นหรือมะเร็งในกระเพาะที่ยังมีขนาดเล็กออกจากเยื่อบุทางเดินอาหาร โดยตัวกล้องที่ใช้เป็นเครื่องมือที่มีลักษณะเป็นท่อยาวบาง มีแสงไฟและเลนส์ รวมถึงเครื่องมือสำหรับการตัดเนื้อเยื่อติดอยู่ด้วย ถือเป็นวิธีที่ค่อนข้างง่ายและเป็นการผ่าตัดเล็ก มีความปลอดภัยสูง
- การผ่าตัดใหญ่
เป็นการรักษาที่ถูกใช้บ่อยสำหรับมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งมักจะใช้ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารขั้นลุกลามหรือมีชิ้นเนื้อมะเร็งที่มีขนาดใหญ่ ทำให้ไม่สามารถใช้การผ่าตัดส่องกล้องได้ ทั้งนี้ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการผ่าตัดเนื้องอกหรือเนื้อเยื่อมะเร็ง แพทย์อาจจะให้การรักษาก่อนการผ่าตัดซึ่งอาจเป็นการให้ยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีเพื่อลดขนาดเนื้อเยื่อมะเร็ง โดยขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้อาจจะรวมไปถึงหลังการผ่าตัดด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งกลับมาเป็นอีก
- เคมีบำบัด
การทำเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้มากที่สุด ในผู้ป่วยมะเร็งบางรายอาจจะไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเนื้อเยื่อ เพราะสารเคมีบำบัดจะช่วยฆ่าหรือชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งไปได้ แต่ทั้งนี้ ในผู้ป่วยมะเร็งบางรายก็อาจจะต้องเข้ารับการผ่าตัดเนื้อเยื่อร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการพิจารณาของแพทย์ อย่างไรก็ตาม การใช้เคมีบำบัดมักจะมีผลข้างเคียงรุนแรงหลายอย่าง ครอบครัวจึงต้องเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อให้ผู้ป่วยพร้อมรับการรักษาได้อย่างเต็มที่
- รังสีบำบัด
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การฉายรังสี (Radiation Therapy) เป็นวิธีที่แพทย์จะใช้รังสีฉายไปยังร่างกายบริเวณที่เป็นมะเร็งเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งโดยตรง หรือเพื่อทำให้เนื้อเยื่อมะเร็งมีขนาดเล็กลง คล้ายคลึงกับการใช้เคมีบำบัดคือ อาจจะมีผลข้างเคียงรุนแรงมาก โดยเฉพาะกับผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารขั้นลุกลาม
การดูแลผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหาร
การดูแลผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารนั้นสำคัญมาก เพราะการดูแลที่ถูกต้องจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถผ่านการรักษาไปได้ด้วยดี มีสุขภาพที่ดีขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยการดูแลผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารนั้นมีอยู่ด้วยกันหลากหลายวิธี ดังนี้
- การดูแลด้านร่างกาย
ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารมักจะมีความผิดปกติเกี่ยวกับการกินสูง แนะนำให้ผู้ป่วยกินอาหารอ่อนๆ รสจืด ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด มัน เค็ม แบ่งอาหารเป็นมื้อเล็กๆ บ่อยๆ โดยจะต้องเพิ่มปริมาณโปรตีนเพื่อช่วยในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อและให้ผู้ป่วยดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้พลังงานสูง
นอกจากนี้ ผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารจะต้องให้ความสำคัญกับการดูแลบาดแผลของผู้ป่วย ช่วยรักษาความสะอาดให้กับผู้ป่วย ช่วยผู้ป่วยอาบน้ำ เช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อผ้า ถ้ามีบาดแผลจากการผ่าตัด ควรทำความสะอาดและเปลี่ยนผ้าพันแผลตามคำแนะนำของแพทย์ ช่วยผู้ป่วยควบคุมอาการต่างๆ เช่น อาการปวด คลื่นไส้ อาเจียน โดยการให้ยาตามที่แพทย์สั่ง จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและป้องกันอาการแทรกซ้อนจากการรักษามะเร็งได้ดี
- การดูแลด้านจิตใจ
กำลังใจนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ดูแลและครอบครัวควรจะรับฟังปัญหาและความรู้สึกของผู้ป่วย พูดคุยเรื่องราวที่สร้างความสุขหรือความบันเทิงให้กับผู้ป่วย พาผู้ป่วยทำกิจกรรมที่สนใจ สร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและผ่อนคลาย และสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ หากผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวล ควรปรึกษาจิตแพทย์ร่วมด้วยจะดีที่สุด
- การดูแลด้านสังคม
ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารบางรายอาจไม่สามารถดูแลตัวเองในการใช้ชีวิตประจำวัน หรือทำธุรกรรมอื่นๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว ดังนั้น ผู้ดูแลใกล้ชิดหรือครอบครัวควรจะจัดการธุระต่างๆ เหล่านี้ให้ผู้ป่วยด้วย เช่น ช่วยผู้ป่วยในการติดต่อประสานงานกับแพทย์และพยาบาล ช่วยจัดระเบียบทางการเงิน การทำงาน นอกจากนี้ แนะนำให้ช่วยให้ผู้ป่วยได้พบปะกับผู้ป่วยรายอื่นๆ และแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อลดความเครียดระหว่างการรักษาหรือฟื้นตัวด้วย
สรุป
มะเร็งกระเพาะอาหารเป็นโรคร้ายที่สามารถรักษาให้หายขาดได้หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น การตระหนักรู้ถึงปัจจัยเสี่ยงและอาการ รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ลดการบริโภคอาหารที่มีเกลือสูง ลดการรับประทานอาหารปรุงแต่ง ลดการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ได้อย่างมาก นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพประจำปีและหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม หากคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการ เช่น ปวดท้องเรื้อรัง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่เร็วที่สุด
ความเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งกระเพาะอาหารเป็นก้าวแรกในการป้องกันและจัดการกับโรคนี้อย่างถูกต้อง การดูแลสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างสม่ำเสมอสามารถช่วยลดความเสี่ยงได้ สำหรับใครที่กำลังมองหาบ้านพักผู้สูงอายุหรือบริการดูแลที่บ้าน สามารถติดต่อ SaiJai.co เพื่อค้นหาบ้านพักผู้สูงอายุที่ให้การดูแลอย่างครอบคลุมและมีคุณภาพ เราพร้อมให้คำปรึกษาและช่วยเหลือในการเลือกบริการที่เหมาะสมที่สุด ให้คนที่คุณรักมีความสุขในการใช้ชีวิต!
แหล่งอ้างอิง
- https://www.nonthavej.co.th/Gastric-cancer-F.php
- https://www.bumrungrad.com/th/conditions/gastric-stomach-cancer
- https://www.cancer.gov/types/stomach
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/stomach-cancer/symptoms-causes/syc-20352438
- https://www.medparkhospital.com/disease-and-treatment/gastric-cancer
- https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15812-stomach-cancer