การทำ CPR หรือ การช่วยชีวิตเบื้องต้น เป็นทักษะสำคัญที่ทุกคนควรเรียนรู้ เพราะการทำ CPR ที่ถูกต้องอาจเป็นโอกาสสุดท้ายในการช่วยชีวิตผู้ที่หัวใจหยุดเต้นฉับพลันอันสามารถเกิดขึ้นได้หลายสถานการณ์ โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด มีผู้สูงอายุ หรือมีผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้ต่างก็เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ดังนั้น เราจึงควรเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นในขณะที่รอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์ฉุกเฉิน แต่การทำ CPR คืออะไร? ขั้นตอนการทำ CPR ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร? มาดูแนวทางไปพร้อมกับ Saijai ในบทความนี้ได้เลย!
การทำ CPR คืออะไร?
การทำ CPR หรือ Cardiopulmonary Resuscitation คือ การช่วยชีวิตฉุกเฉินที่ใช้เมื่อหัวใจของผู้ป่วยหยุดเต้นหรือผู้ป่วยหยุดหายใจ ซึ่งจะเป็นการกดบริเวณหน้าอกเพื่อรักษาการไหลเวียนของเลือดและออกซิเจนไปยังอวัยวะสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะสมองเสมือนว่าหัวใจกำลังเต้นปกติ ในขณะที่รอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ การทำ CPR อย่างถูกต้องและทันท่วงทีจะสามารถเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยได้มากขึ้น
สำหรับคนที่ไม่เคยผ่านการอบรมการทำ CPR มาก่อน โดยเฉพาะกับผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจล้มเหลวหรือหยุดหายใจ การเรียนรู้วิธีการทำ CPR ถือเป็นทักษะสำคัญที่สามารถช่วยชีวิตผู้คนกลุ่มนี้ได้ในยามฉุกเฉิน ทั้งช่วยให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์วิกฤตต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะภาวะหัวใจหยุดเต้นหรือหยุดหายใจ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย
การปฐมพยาบาลด้วย CPR สำคัญอย่างไร?
การปฐมพยาบาลด้วยการ CPR มีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยชีวิตผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นหรือหยุดหายใจ โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤต 5 นาทีแรก การปฐมพยาบาลด้วยการทำ CPR อย่างถูกต้องและรวดเร็วสามารถเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยได้เลยทีเดียว! เรามาดูกันว่าประโยชน์ของการปฐมพยาบาลด้วยการทำ CPR มีประโยชน์อะไรบ้าง?
- เพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยได้สูง 2-3 เท่า!
- รักษาการไหลเวียนของเลือดและออกซิเจนไปยังอวัยวะสำคัญ
- ลดความเสี่ยงของการเกิดความเสียหายต่อสมอง รวมถึงอวัยวะอื่นๆ อย่างถาวร
- ป้องกันการเกิดภาวะสมองตายจากการขาดออกซิเจน
- ช่วยยืดเวลาให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินมาถึงและให้การรักษาต่อได้ทันท่วงที
- เพิ่มความมั่นใจเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ
กลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวและจำเป็นต้องทำ CPR
ภาวะหัวใจล้มเหลวและภาวะหยุดหายใจนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน! แต่ทั้งนี้ก็ยังมีบุคคลบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป ซึ่งการรู้จักกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถเตรียมพร้อมรับมือและให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือครอบครัวที่มีบุคคลในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือภาวะหยุดหายใจ ได้แก่
- ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอายุ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง หรือภาวะเส้นเลือดหัวใจผิดปกติโดยกำเนิด เป็นต้น
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
- ผู้ที่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน
- ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง
- ผู้ที่ครอบครัวมีประวัติเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจหรือเป็นโรคหัวใจ
- ผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง
- ผู้ที่มีภาวะความเครียดสูงเป็นเวลานาน
- ผู้ที่ขาดการออกกำลังกายหรือมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง
- เพศชาย มีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง
- กลุ่มวัยหมดประจำเดือน
- ผู้ที่ต้องเดินทางขึ้นที่สูงหรือบนเครื่องบิน (อาจเกิดภาวะขาดออกซิเจน)
จะรู้ได้ยังไงว่าผู้ป่วยต้องการการทำ CPR หรือไม่?
การประเมินสถานการณ์อย่างรวดเร็วและถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจว่าผู้ป่วยต้องการการปฐมพยาบาลหรือไม่ ซึ่งโดยทั่วไปการ CPR จะถูกนำมาใช้เมื่อผู้ป่วยมีอาการต่างๆ ดังต่อไปนี้
- ไม่รู้สึกตัวและไม่ตอบสนองต่อการเรียกหรือเขย่าตัว
- ไม่หายใจหรือหายใจเฮือก (Gasping) ซึ่งไม่ใช่การหายใจปกติ
- ไม่มีชีพจรหรือสัญญาณการเต้นของหัวใจ
- ผิวซีดหรือเขียวคล้ำ โดยเฉพาะบริเวณริมฝีปากและปลายนิ้ว (เริ่มขาดเลือด)
- ม่านตาขยายและไม่ตอบสนองต่อแสง
- หมดสติกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุ
ขั้นตอนการทำ CPR เบื้องต้น ทำอย่างไรบ้าง?
การทำ CPR เบื้องต้นนั้นมีขั้นตอนที่ดูเหมือนจะง่าย แต่จริงๆ แล้วมีรายละเอียดสำคัญที่ต้องใส่ใจเป็นอย่างมาก เพราะหากเราทำ CPR เพื่อให้การฟื้นคืนชีพจรไม่ถูกต้อง อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายของผู้ป่วยหรือทำให้สูญเสียโอกาสในการรอดชีวิตได้ โดยการทำ CPR จะมีหลักการคือ C-A-B ซึ่งเป็นความหมายของขั้นตอนการทำ CPR อย่างถูกต้อง เริ่มจาก
- การกดหน้าอก (Chest compression : C)
- การเปิดทางเดินหายใจ (Airway : A)
- การผายปอด (Breathing : B)
โดยจะมีรายละเอียดดังนี้
การกดหน้าอก (Chest compression : C)
เป็นขั้นตอนที่มักเกิดความผิดพลาดได้ง่าย เนื่องจากไม่ทราบตำแหน่งการกดหน้าอกเพื่อทำ CPR ที่ถูกต้อง ดังนั้น เรามาดูกันเลยว่าขั้นตอนการกดหน้าอกหรือปั๊มหัวใจนี้ต้องเริ่มอย่างไร
- ให้ผู้ป่วยนอนราบกับพื้นแข็งหรือใช้ไม้รองหลังเอาไว้ เพื่อให้กระตุ้นหัวใจได้สะดวก
- ใช้นิ้วคลำหากระดูกหน้าอกส่วนล่างสุด ซึ่งจะเป็นรอยต่อกับกระดูกซี่โครง
- วางสันมือข้างที่ไม่ถนัดไว้ตรงกลางหน้าอกของผู้ป่วย ซึ่งตำแหน่งจะอยู่ใต้หัวนมหรือกระดูกหน้าอกที่เป็นรอยต่อกับกระดูกซี่โครง
- วางมือข้างที่ถนัดทับลงบนหลังมือแรก แล้วเกี่ยวนิ้วมือเข้าไว้ด้วยกัน โดยจะต้องให้มือข้างบนกุมมือข้างล่างเอาไว้ และแผ่นิ้วมือข้างล่างออก
- ใช้แรงจากน้ำหนักตัวของตนเองกดสันมือลงไป โดยจะต้องโน้มตัวตั้งฉากกับผู้ป่วย ออกแรงกดอย่างน้อย 2 นิ้วหรือประมาณ 5 เซนติเมตร
- อัตราการกดหน้าอกจะต้องอยู่ที่ 100 ครั้งต่อนาที โดยหลังการกดแต่ละครั้งจะต้องให้หน้าอกคืนตัวก่อนแล้วค่อยกดซ้ำ เพื่อให้เลือดลำเลียงได้ยังอวัยวะได้อย่างเต็มที่ที่สุด
การเปิดทางเดินหายใจ (Airway : A)
เป็นขั้นตอนจำเป็นสำหรับการเปิดทางเดินหายใจของผู้ป่วยให้สามารถหายใจได้อย่างเต็มที่ที่สุด โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บอาจเกิดการอุดกั้นในทางเดินหายใจ โดยจะมีขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้
- วางสันมือบนหน้าผากของผู้บาดเจ็บ
- ค่อย ๆ เอียงศีรษะของผู้บาดเจ็บไปทางด้านหลัง
- ใช้มืออีกข้างเชยคางขึ้นเพื่อให้หลอดลมไม่ถูกลิ้นอุดกั้น
ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นผู้บาดเจ็บบริเวณไขสันหลังหรือคอหัก จะต้องมีผู้ช่วยวางมือไว้ด้านข้างของศีรษะทั้งสองด้าน เพื่อทำให้คอของผู้บาดเจ็บไม่เคลื่อนไปมาระหว่างการทำ CPR จนเกิดอาการบาดเจ็บซ้ำด้วย
การผายปอด (Breathing : B)
การผายปอดเพื่อทำ CPR จะเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บเกิดภาวะหยุดหายใจเนื่องจากการขาดอากาศ โดยจะต้องอาศัยการกดหน้าอกร่วมกับการผายปอดทันทีก่อนขอความช่วยเหลือ เพราะอาจจะทำให้สมองและอวัยวะอื่น ๆ ได้รับผลกระทบรุนแรงได้ โดยจะมีขั้นตอนการผายปอดหรือช่วยหายใจ ดังนี้
- ผู้ช่วยเหลือจะต้องสูดอากาศเข้าไปอย่างเต็มที่ เพื่อเตรียมแบ่งอากาศหายใจ
- ประกบปากเข้ากับปากของผู้ป่วยให้สนิทกัน
- ใช้นิ้วบีบจมูก เพื่อป้องกันอากาศที่เป่าเข้าไปไหลออก
- เป่าลมเข้าไปอย่างน้อยครั้งละ 1 วินาทีพร้อมสังเกตการขยับของหน้าอก
- ผายปอดอย่างน้อย 5-6 วินาทีต่อครั้ง ทั้งหมด 10-12 ครั้งต่อนาที
- ทำการผายปอด 2 ครั้งต่อการกดหน้าอก 30 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม กรณีที่เราไม่เคยผ่านการฝึก CPR มาก่อน แนะนำว่าไม่ต้องทำการผายปอดให้ผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ แนะนำให้ใช้การกดหน้าอกเพียงอย่างเดียว เพราะระดับออกซิเจนในเลือดยังคงเพียงพออยู่ได้ช่วงเวลาหนึ่ง แต่จะต้องทำการกดหน้าอกอย่างถูกต้อง เพื่อให้ผลลัพธ์มีประสิทธิภาพ
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการทำ CPR
หลังจากทราบวิธีการทำ CPR อย่างถูกต้องเรียบร้อยแล้ว หลายคนอาจจะยังมีคำถามเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลโดยใช้ CPR เพื่อทำการฟื้นคืนชีพอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของผลข้างเคียงหรือรายละเอียดวิธีการทำ CPR จุดอื่นๆ ดังนั้น Saijai จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการทำ CPR ที่มักถูกถามบ่อยเอาไว้ให้!
- การทำ CPR มีความเสี่ยงที่จะทำให้กระดูกซี่โครงหักหรือไม่ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ?
มีความเป็นไปได้ที่กระดูกซี่โครงอาจหักระหว่างการทำ CPR โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ แต่ทั้งนี้ ความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักระหว่าง CPR จะสูงในกรณีที่ปฏิบัติตามขั้นตอนไม่ถูกต้องมากกว่า และความเสี่ยงนี้นั้นเป็นที่น่ากังวลน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับประโยชน์ในการช่วยชีวิตและการฟื้นคืนชีพผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ ดังนั้น การทำ CPR อย่างถูกวิธีสามารถลดความเสี่ยงนี้ได้และให้ประโยชน์แน่นอน
- ถ้าไม่แน่ใจว่าผู้ป่วยหยุดหายใจหรือไม่ ควรทำ CPR ไหม?
เบื้องต้นเราจะต้องตรวจเช็กลมหายใจและชีพจรของผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บก่อนเสมอ แต่ถ้าหากไม่แน่ใจจริง ๆ ว่าหัวใจยังเต้นอยู่หรือไม่ แนะนำให้ทำ CPR ทันที เพราะทุกวินาทีในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นมีค่ามาก การรออาจเป็นอันตรายต่อชีวิตมากกว่า
- ถ้าทำ CPR ผิดวิธี จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือไม่?
การทำ CPR แม้จะไม่สมบูรณ์แบบ ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลยนะ! โอกาสที่การทำ CPR จะทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงมีน้อยมาก ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ การลังเลหรือไม่ทำอะไรเลยอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บมากกว่าแน่นอน
- หากผู้ป่วยมีเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) ติดตั้งอยู่ จะส่งผลต่อการทำ CPR หรือไม่?
โดยทั่วไป การมีเครื่องกระตุ้นหัวใจไม่ได้เป็นข้อห้ามในการทำ CPR หากเกิดกรณีฉุกเฉินก็สามารถทำ CPR ตามปกติ เช่นเดียวกับกรณีที่ต้องใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) แต่อาจต้องระมัดระวังไม่ให้กดตรงตำแหน่งที่ฝังเครื่อง ซึ่งมักอยู่บริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าด้านซ้าย การทำ CPR อาจทำให้เครื่องเสียหายได้ แต่การช่วยชีวิตสำคัญกว่านะ!
- ในกรณีที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักมาก การทำ CPR จะแตกต่างจากปกติหรือไม่?
หลักการทำ CPR ยังคงเหมือนเดิม แต่อาจต้องใช้แรงมากขึ้นในการกดหน้าอกให้ลึกพอ (อย่างน้อย 2 นิ้ว หรือ 5 ซม. หรือมากกว่า) เพราะผู้ป่วยน้ำหนักมากอาจจะมีชั้นไขมันที่หนากว่าปกติ ด้วยเหตุนี้ อาจต้องเปลี่ยนผู้ทำ CPR บ่อยขึ้น แนะนำให้สับเปลี่ยนเนื่องจากอาจหมดแรงเร็ว ซึ่งจะมีผลให้การทำ CPR ไม่มีประสิทธิภาพได้
สรุป
การทำ CPR เป็นทักษะสำคัญที่สามารถช่วยชีวิตของผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อพบผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นหรือภาวะหยุดหายใจ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเราจะต้องเริ่มทำ CPR โดยการกดหน้าอกบริเวณใต้หัวนมหรือส่วนเชื่อมต่อระหว่างกระดูกหน้าอกและกระดูกซี่โครงของผู้ป่วย กดลึกอย่างน้อย 2 นิ้ว ด้วยอัตรา 100-120 ครั้งต่อนาที สลับกับการช่วยหายใจหรือผายปอด 2 ครั้งทุก 30 ครั้งของการกดหน้าอก จนกว่าผู้ป่วยจะมีสัญญาณชีพหรือมีผู้เชี่ยวชาญมาถึง
แม้ว่าการทำ CPR อาจดูน่ากลัวสำหรับผู้ที่ไม่เคยฝึกฝนมาก่อน แต่เมื่อเราอยู่สถานการณ์ที่คับขัน เช่น ผู้สูงอายุมีอาการหัวใจล้มเหลว เกิดอุบัติเหตุ หรืออื่น ๆ การลงมือทำ CPR อย่างทันท่วงทีนับว่ายังดีกว่าการไม่ได้ปฐมพยาบาลใด ๆ เลย เพราะทุกวินาทีมีค่าในการเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและการฟื้นคืนชีพของผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บได้มากยิ่งขึ้น
สำหรับครอบครัวที่ไม่มีเวลาดูแลผู้สูงอายุได้ตลอดเวลา หรือกำลังมองหาเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมช่วยชีวิตและดูแลผู้สูงอายุได้อย่างปลอดภัย สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Saijai.co คัดสรรศูนย์ บริการ และคนดูแลผู้สูงอายุไว้ให้ครบ! เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของคนที่เรารัก
แหล่งอ้างอิง
- มารู้จัก . . การทำ CPR วิธีปฐมพยาบาลที่เพิ่มโอกาสรอดชีวิต
- การทำ CPR คืออะไร (Cardiopulmonary Resuscitation)
- How To Perform CPR (Cardiopulmonary Resuscitation)
- What is CPR? | Red Cross
- Cardiopulmonary resuscitation (CPR): First aid – Mayo Clinic
- The Great CPR Song List – First Response Training International
- https://x.com/aquaboyysl/status/1631875066467348480
- วิธีทำ CPR ที่ถูกต้อง ช่วยคนหัวใจหยุดเต้น-หยุดหายใจให้รอดชีวิต