ความเจ็บป่วยเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นและก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ ความเจ็บป่วยอาจสร้างความกังวลใจให้กับผู้ป่วยได้มากกว่าวัยอื่นๆ แม้ว่าจะเต็มไปด้วยความวิตกกังวลแต่ผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวก็สามารถบรรเทาได้ด้วยการให้กำลังใจผู้สูงอายุอย่างถูกวิธีและมีความเข้าใจ
วันนี้ SaiJai.co อยากชวนทุกคนในครอบครัวมาทำความรู้จักกับภาวะทางอารมณ์ของผู้สูงวัยในวันที่เจ็บป่วย พร้อมทั้งวิธีให้กำลังใจและดูแลความรู้สึกของผู้สูงวัยไปด้วยกัน เพื่อให้การใช้ชีวิตเต็มไปด้วยความสุขและความเข้าใจที่มากขึ้นของคนในครอบครัว
ความเปลี่ยนแปลงเมื่อก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงวัย
เมื่อก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ หรือการเป็นผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ไม่เพียงแค่ร่างกายเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงตามไป แต่เรื่องของสุขภาพร่างกาย รวมถึงระบบการทำงานส่วนต่างๆ ก็มีความเสื่อมสภาพลงตามช่วงอายุ ความเจ็บป่วยจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย และความเปลี่ยนแปลงของช่วงวัยจึงเต็มไปด้วยปัญหาสุขภาพ ประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายลดลง ฮอร์โมนที่ลดลง อารมณ์และจิตใจของผู้สูงจึงมีผลเป็นอย่างมาก และเมื่อผู้สูงวัยเริ่มเจ็บป่วย ต่อไปนี้คือวิธีให้กำลังใจผู้สูงอายุที่ทุกคนในครอบครัวสามารถทำได้
1. ชวนคุยเพื่อไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยว
วิธีให้กำลังใจผู้สูงอายุที่สามารถทำได้ง่ายที่สุดจากที่บ้าน ด้วยการชวนพูดคุยถึงเรื่องราวที่น่าสนใจ หรือสิ่งที่พบเจอมา รวมถึงการเล่าเรื่องสนุกๆ สถานที่ท่องเที่ยวที่เคยไปด้วยกัน หากเป็นไปได้ให้ลองวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวร่วมกันเอาไว้เพื่อหาเวลาไปท่องเที่ยวสร้างความผูกพันร่วมกันระหว่างคนในครอบครัว หรือพาผู้สูงวัยไปพบปะเพื่อเก่า ผู้คนที่คุ้นเคยเพื่อให้ท่านได้พูดคุยเล่าเรื่องราวเก่าๆ ที่สนุกสนานและน่าจดจำ
2. สอบถามความรู้สึกทางอารมณ์
หมั่นสังเกตท่าทางของผู้สูงอายุว่ามีลักษณะที่เหม่อลอย หรือมีความเครียดวิตกกังวลอยู่หรือไม่ ควรสอบถามความต้องการ เช่น อยากทานอะไร อยากออกไปเที่ยวที่ไหนหรือไม่ รวมทั้งถามเรื่องความรู้สึกทางอารมณ์ว่าในขณะนั้นผู้สูงอายุกำลังกังวลเรื่องไหน เครียดเกี่ยวกับอะไร การสอบถามเรื่องความรู้สึกทางอารมณ์ช่วยให้ผู้สูงวัยได้ระบายความเครียด คลายความกังวล และยังช่วยให้ผู้ดูแลสามารถให้กำลังใจผู้สูงอายุได้ในเรื่องที่เหมาะสมด้วย
3. เปิดกว้างในการตัดสินใจ
เมื่อผู้สูงอายุมีความเจ็บป่วยจนรู้สึกว่าใช้ชีวิตได้ยากขึ้น คนในครอบครัวต้องคอยอยู่เคียงข้างและให้กำลังใจอยู่เสมอ และการเปิดกว้างให้กับผู้สูงอายุได้ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เช่น เลือกเสื้อผ้าด้วยตัวเอง เลือกร้านอาหารในมื้อเย็น หรือเลือกสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับช่วงวันหยุดยาว วิธีนี้จะช่วยเพิ่มความรู้สึกสบายใจ และเป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่ายังมีความสำคัญ และมีบทบาทกับคนในครอบครัวอยู่ วิธีนี้ยังช่วยให้ผู้สูงวัยกล้าที่จะคิดนอกกรอบหรือกล้าออกไปใช้ชีวิตได้มากขึ้น
4. สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย
ในวันสำคัญเช่นวันเกิดหรือวันปีใหม่ ลองเปลี่ยนบรรยากาศจากบ้านเดิมๆ มาเป็นการจัดแต่งสถานที่ที่มีความสวยงาม มีบรรยากาศที่อบอุ่น และมีพื้นที่ให้ทุกคนในครอบครัวสามารถทำกิจกรรมสังสรรค์ร่วมกันได้ อาจให้ผู้สูงอายุช่วยจัดแต่งสถานที่ หรือร่วมทำมื้ออาหารด้วย วิธีช่วยสร้างความสุขเสริมกำลังใจให้กับผู้สูงอายุได้รับรู้ถึงความสำคัญในการใช้ชีวิตร่วมกับคนในครอบครัวได้มากขึ้น นอกจากนี้การปรับภูมิทัศน์สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี แสงแดดส่องถึง ก็เป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มพลังใจให้รู้สึกผ่อนคลายได้เช่นกัน
5. ชมเชยด้วยคำพูด
ผู้สูงอายุเองก็ต้องการที่จะได้รับคำชมเชยบ้างเหมือนกัน ในบางครั้งที่ทำกิจกรรมร่วมกันหรือการให้ผู้สูงอายุได้ลงมือทำอะไรบางสิ่งบางอย่าง การตัดสินใจด้วยตัวเอง เหล่านี้เมื่อผู้สูงวัยได้ลงมือทำแล้ว อย่าลืมที่จะเอ่ยคำชมเชยบ้างเพื่อให้กำลังใจและแสดงออกว่าผู้สูงอายุทำในสิ่งเหล่านั้นได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว การชมเชยส่งผลดีต่อความรู้สึกทางจิตใจได้ หรือลองให้ผู้สูงวัยได้ลองเข้าครัวทำเมนูอาหารง่ายๆ แล้วรับประทานร่วมกัน รวมทั้งเอ่ยชมถึงความอร่อยก็ช่วยฟื้นฟูจิตใจได้เช่นกัน
6. ไม่แสดงออกให้ผู้สูงวัยรู้สึกว่าเป็นภาระ
ผู้สูงอายุที่มีความเจ็บป่วยมักจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระสร้างความลำบากให้กับคนในครอบครัว ดังนั้นแล้วไม่ควรแสดงท่าทีที่รู้สึกรังเกียจ หงุดหงิด รำคาญ หรือพูดในเชิงที่ว่าต้องดูแล ต้องตัดสินใจแทน เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองเป็นปัญหากับการใช้ชีวิตของคนในครอบครัว ควรปฏิบัติทุกอย่างให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าไม่เป็นภาระและไม่เป็นสร้างความลำบากใจให้กับผู้ดูแล วิธีดูแลและให้กำลังใจผู้สูงวัยที่ดีคือต้องทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และสบายใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับทุกคนในครอบครัวได้
7. เสริมสร้างกิจกรรมทางสังคม
กิจกรรมทางสังคมเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างสุขภาพจิตที่ดี และสร้างความสุขทางใจให้กับผู้สูงอายุได้ กิจกรรมทางสังคมเช่น การออกไปพูดคุยกับผู้สูงอายุท่านอื่นๆ การออกไปเที่ยวพบปะเพื่อนเก่า หรือทานข้าวร่วมกันกับทุกคนในครอบครัว การส่งเสริมกิจกรรมทางสังคมจะช่วยเพิ่มพลังใจ ปรับความคิด ลดความเครียด ส่งเสริมให้กำลังใจผู้สูงอายุให้พร้อมสู้กับความเจ็บป่วยได้มากขึ้น
8. ให้กำลังใจอยู่เสมอ
ผู้สูงอายุที่ต้องเผชิญกับโรคร้ายอาจมีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวลอยู่เสมอ สิ่งที่ผู้ดูแลหรือคนใกล้ชิดควรทำคือการให้กำลังใจอยู่เสมอ การใช้คำพูดเชิงบวกหรือคอยรับฟังความคิดของผู้สูงวัย เพราะความเจ็บป่วยจะบรรเทาได้ต้องมีทั้งพลังกายและพลังใจ คำพูดสามารถบั่นทอนความรู้สึกได้ แต่หากเลือกใช้คำที่ส่งเสริมพลังบวกก็ให้ความรู้สึกที่ดีกับผู้ฟังได้เช่นกัน
9. หาสัตว์เลี้ยงให้ผู้สูงวัย
สำหรับผู้สูงวัยที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และการเลี้ยงสัตว์ไม่ไปกระตุ้นความรุนแรงของโรค วิธีให้กำลังใจด้วยการหาสัตว์เลี้ยงให้ผู้สูงอายุได้ลองเลี้ยงก็ช่วยสร้างความสุขได้ เพราะหากต้องให้ผู้สูงวัยอยู่บ้านตามลำพังยิ่งส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึก สัตว์เลี้ยงอย่าง สุนัข หรือแมว เป็นผู้ช่วยที่คอยสร้างรอยยิ้มได้ อีกทั้งยังมีผลวิจัยด้วยว่าการได้ลูบขนสัตว์นุ่มๆ ส่งผลดีกับเรื่องสุขภาพจิตได้
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อผู้สูงอายุในบ้านเจ็บป่วย
นอกจากการให้กำลังใจผู้สูงอายุอย่างเหมาะสมแล้ว ยังมีสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเพราะเป็นการบั่นทอนความรู้สึก และทำให้ผู้สูงอายุเสียกำลังใจซึ่งอาจเป็นการทำให้ความเจ็บป่วยมีความรุนแรงขึ้นได้ โดยสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงมีดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงคำพูดที่บั่นทอนจิตใจผู้สูงอายุ เช่น “ไม่เห็นเป็นอะไรเลย” “เมื่อไหร่จะเลิกจู้จี้ขี้บ่น” “ไม่ต้องออกไปไหนหรอกป่วยหนักขนาดนี้” คำพูดที่บั่นทอนจิตใจยิ่งทำให้ผู้สูงอายุแย่ลง
- เลี่ยงการทำอาหารซ้ำๆ หรือเลือกเมนูซ้ำเดิมทุกวันให้กับผู้สูงอายุ เพราะอาหารที่มีประโยชน์ และเมนูที่ถูกปากเป็นวิธีให้กำลังใจผู้สูงอายุได้อีกวิธีหนึ่ง
- ไม่ควรปล่อยให้บ้านรก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ผู้สูงอายุต้องใช้เวลาอยู่เป็นประจำ บรรยากาศที่ดีและสะอาดจะช่วยเสริมความสุขเพิ่มความผ่อนคลายให้กับผู้สูงวัยได้ดีที่สุด
- เลี่ยงการให้ผู้สูงอายุอยู่แต่ในบ้าน ควรหาเวลาให้ได้ออกไปผ่อนคลาย เช่น การเดินในสวนสาธารณะ หรือออกไปทานข้าวนอกบ้านบ้าง
- หลีกเลี่ยงการกิน ดื่ม หรือวางอบายมุขให้ผู้สูงอายุเห็น เพราะอาจไปกระตุ้นความรู้สึกอยากพึ่งพาสิ่งเหล่านี้
- หลีกเลี่ยงที่จะให้ผู้สูงอายุต้องใช้เวลาอยู่คนเดียวตามลำพังเป็นเวลานาน เพราะส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจ และอาจมีผลให้รู้สึกซึมเศร้าได้
- หากมีพื้นที่ที่มีความชัน หรือเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุควรปรับเปลี่ยนหรือมีการเสริมอุปกรณ์ราวจับเพื่อลดความเสี่ยงจะเกิดอันตราย และยังเป็นการแสดงออกให้ผู้สูงอายุรู้สึกความสำคัญของตัวเองด้วย
- ไม่ควรให้ผู้สูงอายุอยู่กับหน้าจอนานเกินไป ไม่ว่าจะเป็นทีวี โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ ควรปรับเปลี่ยนให้ผู้สูงวัยได้ลองใช้เวลากับการทำงานประดิษฐ์ วาดภาพ เล่นดนตรี หรือกิจกรรมที่ส่งเสริมได้ทั้งทางความคิด และทางอารมณ์
“กำลังใจ” สิ่งสำคัญที่ผู้สูงอายุทุกคนต้องการ
สุขภาพที่ดีอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่การมีกำลังใจที่ดีจะเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างความสุข และการรู้สึกถึงการมีตัวตนของผู้สูงอายุได้อีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อมีความเจ็บป่วยเข้ามาด้วยแล้ว วิธีให้กำลังใจผู้สูงอายุที่เรานำเสนอไปในบทความนี้จะช่วยปรับสภาพจิตใจ อารมณ์ และความคิดของผู้สูงวัยให้พร้อมต่อสู้กับความเจ็บป่วย รวมถึงสภาพจิตใจที่แข็งแรงลดความเสี่ยงของการเกิดโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้อีกด้วย
สำหรับครอบครัวที่มีภาระหน้าที่ในการทำงาน และรู้สึกว่าการดูแลผู้สูงอายุด้วยตัวเองอาจทำได้ยาก การเลือกศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่มีความรู้และเข้าใจโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะบ้านพักวัยเกษียณที่มีกิจกรรมรองรับสำหรับผู้สูงวัย มีการดูแลตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมความใส่ใจในเรื่องของโภชนาการและสิ่งแวดล้อม นอกจากจะได้รับความสุขแล้วยังช่วยให้ผู้สูงวัยไม่ต้องอยู่บ้านเพียงลำพังด้วย
โดยคุณสามารถเลือกศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในทำเลที่ใกล้บ้านผ่านทาง SaiJai.co แพลตฟอร์มที่รวบรวมบ้านพักคนชราที่มีทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญคอยดูแล และกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพกายและใจ พร้อมทั้งสิ่งแวดล้อมที่ผ่อนคลายกับสังคมผู้สูงวัยที่พร้อมพูดคุยและรับฟังได้ทุกเรื่องราว นอกจากนี้ที่แพลตฟอร์ม ‘ใส่ใจ’ ยังได้รวบรวมบทความสุขภาพสำหรับผู้สูงวัยให้ได้ติดตามอ่านกันอีกมากมายแบบครบครันทุกเรื่องราวของผู้สูงวัย