อาการสะอึกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน และหลายครั้งยังสร้างความรำคาญให้กับผู้ที่มีอาการอยู่ไม่น้อยเลย แม้ว่าจะเป็นอาการที่สามารถหายไปได้เองก็ตาม แต่บางครั้งก็ต้องใช้เวลายาวนานกว่าที่จะหายไป ไม่เพียงแค่สร้างความรู้สึกรำคาญเท่านั้นแต่ยังรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้อีกด้วย ทั้งการพูด การกิน หรือบางคนที่ต้องใช้การเปล่งเสียงในการทำงาน คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ที่จะต้องสะอึกอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ในผู้สูงอายุเองอาการสะอึกอาจทำให้สำลักน้ำหรืออาหารได้ ซึ่งก็อาจกลายเป็นอันตรายด้วย
เพื่อให้ตระหนักได้ถึงอาการสะอึกทั้งต้นตอ สาเหตุ และวิธีทำให้หายสะอึก วันนี้ SaiJai.co อยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับเรื่องนี้ให้มากขึ้นกัน
สาเหตุของการสะอึก
อาการสะอึกมักมาโดยไม่รู้ตัวและยังเกิดขึ้นได้ทุกเวลาด้วย ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากความผิดปกติที่บริเวณคอและหน้าอก เช่น มีภาวะเนื้องอก ต่อมน้ำเหลืองโต หรือความผิดปกติในช่องท้อง ทั้งเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ไตวาย รวมถึงในผู้ที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดมาก็สามารถมีอาการสะอึกเกิดขึ้นได้เหมือนกัน ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าการสะอึกจะมีสาเหตุมาจากความเจ็บป่วยเท่านั้น แต่ยังมีต้นตอมาจากพฤติกรรมและการกินได้ด้วย เช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีแก๊สมากอย่าง แอลกอฮอล์ น้ำอัดลม ทานอาหารรสจัด ทานจนอิ่มมากเกินไป หรือสูบบุหรี่ ในส่วนของพฤติกรรมเช่น มีความเครียดเรื้อรัง หรือตกใจกะทันหัน
วิธีหลีกเลี่ยงอาการสะอึก
อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่าสาเหตุของการสะอึกนั้นมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน บางปัจจัยเราสามารถที่จะจัดการด้วยตัวเองเพื่อลดโอกาสเกิดการสะอึกได้ เช่น
- ฝึกควบคุมอารมณ์ ความคิด และหายใจ เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย ลดความเครียดและการหดเกร็งของกล้ามเนื้อที่อาจเป็นสาเหตุของการสะอึก
- กินอาหารแต่พอดี ไม่กินมากเกินไป
- ลดการดื่มแอลกอฮอล์ อาหารรสจัด งดสูบบุหรี่ และลดการดื่มน้ำอัดลม
- พยายามเคี้ยวอาหารให้ละเอียดมากที่สุดก่อนกลืน
- ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น การออกกำลังกาย ยืดเหยียดกล้ามเนื้อหลังทำงาน ปรับเปลี่ยนท่าทางการนั่งเพื่อให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย
อาการสะอึกโดยปกติเป็นแบบไหน?
อาการสะอึกนั้นเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ และมักจะเป็นอยู่ได้ไม่นาน ทั้งนี้อาการสะอึกโดยทั่วไปที่พบบ่อย และไม่ได้เป็นอันตราย หรือที่เรียกว่าการสะอึกตามปกตินั้นจะมีลักษณะอาการ ดังนี้
- สะอึกเพียงอย่างเดียว ไม่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หรือแสบร้อนทรวงอกร่วมด้วย
- สะอึกอยู่ประมาณ 2-3 นาที ก็ค่อยๆ หายไป
- สะอึกเป็นชั่วโมง หรือมีอาการสะอึกในวันอื่นๆ ร่วมด้วย แต่ก็จะหายไปได้เอง
อาการสะอึกแบบไหนที่เป็นอันตราย
อาการสะอึกนั้นเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่ทันได้เตรียมตัว และบางครั้งก็เกิดขึ้นแค่ชั่วคราวไม่นานก็หายไปเอง แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นอาการที่ไม่น่ากังวลและส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตราย แต่ก็ไม่ควรที่จะนิ่งนอนใจเกินไป เพราะมีบางกรณีที่อาการสะอึกนั้นทำให้เกิดอันตราย หรือเป็นสัญญาณบอกโรคร้ายแรงอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการสะอึกต่อไปนี้
- อาการสะอึกร่วมกับการเจ็บหน้าอก ปวดท้อง หรือรู้สึกติดขัดในลำคอ
- มีอาการสะอึกติดต่อกันเป็นเวลานานและไม่มีทีท่าว่าจะหายเกินกว่า 48 ชั่วโมง
- มีอาการสะอึกร่วมกับภาวะหายใจติดขัด
- มีอาการสะอึกที่ทำให้สำลักน้ำหรืออาหารไม่สามารถกลืนได้เป็นปกติ หรืออาการสะอึกเกิดขึ้นระหว่างทานอาหารเป็นประจำ
- อาการสะอึกที่เกิดขึ้นเวลานอนหลับ และไม่สามารถนอนหลับสนิทได้อย่างเป็นปกติ
- สะอึกบ่อยครั้งโดยไม่ทราบสาเหตุแม้ว่าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้วก็ตาม
วิธีทำให้หายสะอึกด้วยตัวเองเบื้องต้น
การสะอึกแม้ว่าจะหายไปได้เอง แต่บางทีก็ใช้เวลานานกว่าจะหายได้ รบกวนทั้งการใช้ชีวิต และเสียสุขภาพจิตเลยทีเดียว สำหรับใครที่ยังมีอาการไม่มาก หรือเป็นอาการสะอึกที่เกิดขึ้นแบบไม่มีภาวะอื่นๆ ร่วมด้วย ต่อไปนี้คือวิธีทำให้หายสะอึกที่สามารถนำไปลองทำตามด้วยตัวเองได้แบบเบื้องต้น
- หายใจในถุง: เริ่มจากการนำถุงกระดาษหรือถุงพลาสติก ครอบปากและจมูกเอาไว้ จากนั้นให้ทำการหายใจในถุงช้าๆ ทำจนกว่าจะรู้สึกเหนื่อยหอบเล็กน้อย หรือประมาณ 1-2 นาที แล้วอาการสะอึกจะหายไป
- กินของเปรี้ยว: ของเปรี้ยวมีส่วนช่วยแก้อาการสะอึกได้ แต่ควรใช้ความเปรี้ยวจากมะนาวเท่านั้น ด้วยการบีบน้ำมะนาวประมาณ 1 ช้อนชาแล้วจิบแก้อาการสะอึก รสเปรี้ยวจะเข้าไปรกระตุ้นการทำงานของปุ่มรับรสและช่วยให้หายจากอาการสะอึกได้เร็วขึ้น
- ดื่มน้ำเพิ่มขึ้น: วิธีทำให้หายสะอึกสามัญประจำบ้านที่เราทราบกันดี ด้วยการดื่มน้ำประมาณ 9 อึกติดต่อกัน หรือจิบน้ำเย็นจัดช้าๆ แต่ต่อเนื่อง การดื่มน้ำจะช่วยให้ได้กลืนต่อกันไปเรื่อยๆ ทำให้อาการสะอึกค่อยๆ หายไปได้เอง
- สูดหายใจลึกขึ้น: เมื่อมีอาการสะอึกให้สูดหายใจเข้าอย่างช้าๆ แต่ให้หายใจเข้าให้ลึกแล้วกลั้นหายใจเอาไว้ประมาณ 4 วินาที แล้วค่อยๆ หายใจออกอย่างช้าๆ ยาว 10 วินาที เมื่อเสร็จขั้นตอนนี้แล้วให้ดื่มน้ำตามทันที อาการสะอึกจะลดลงและหายไปได้เอง
- อุดหู: วิธีทำให้หายสะอึกวิธีนี้คือการใช้นิ้วอุดหูไว้ประมาณ 20-30 วินาที แล้วดูดน้ำด้วยหลอดช้าๆ วิธีนี้จะช่วยสร้างความผ่อนคลายให้กับเส้นประสาทที่เชื่อมต่อไปยังก้านสมองและกะบังลม ทำให้การสะอึกหายไป
- กลืนน้ำลาย: เมื่อมีอาการสะอึกลองกลั้นหายใจแล้วพยายามกลืนน้ำลายประมาณ 3-4 ครั้ง แล้วหายใจออกทันที
- ทำให้เรอหรือไอ: สำหรับวิธีนี้จะช่วยให้เกิดการขัดขวางการทำงานของกะบังลม เพราะเมื่อมีอาการสะอึกกะบังลมจะหดตัว แต่การทำให้เรอหรือไอจะทำให้กะบังลมเกิดการคลายตัวได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ควรทำให้เป็นธรรมชาติ อย่าเบ่งหรือเร่งอาการไอมากจนเกินไป
- กดจุด: การกดจุดสามารถทำได้ด้วยการใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ บีบที่บริเวณเนินเนื้อของมืออีกฝั่ง หรือจะใช้การกดจุดที่ร่องบริเวณเหนือริมฝีปาก และควรลงแรงกดให้เหมาะสม วิธีจะช่วยในเรื่องของการเบี่ยงเบนระบบประสาทในการหายใจช่วยให้การสะอึกลดลงได้
- แลบลิ้น: วิธีทำให้หายสะอึกด้วยการแลบลิ้นนั้นช่วยกระตุ้นให้เกิดช่องว่างบริเวณเส้นเสียง ทำให้การหายใจสะดวกมากขึ้น ลดการบีบตัวของกะบังลม อาการสะอึกจะค่อยๆ ลดลงไป
- กินน้ำตาล: วิธีทำให้หายสะอึกแบบพื้นบ้านที่มีมาแต่โบราณ การกินน้ำตาลเวลาที่มีอาการสะอึกจะทำให้ระบบการหายใจปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน เนื่องจากเมื่อน้ำตาลเข้าไปในหลอดอาหารจะทำให้เกิดการระคายเคือง ส่งผลให้อาการสะอึกหายไป แต่ควรกินแค่เล็กน้อยไม่เกิน 1 ช้อนชา เท่านั้น
อันตรายจากการสะอึกในผู้สูงอายุ
การสะอึกอาจไม่ได้หมายถึงความเจ็บป่วย หรือมีความรุนแรงทางร่างกายมากจนเสี่ยงการเสียชีวิต แต่สำหรับผู้สูงอายุแล้วการสะอึกนั้นอาจมีความรุนแรงที่เสี่ยงต่อความเจ็บป่วย หรือมีผลมาจากโรคที่เป็นอันตรายได้ จึงต้องหมั่นสังเกตอาการอื่นๆ ร่วมด้วย โดยสาเหตุของการสะอึกที่มาจากโรคมีดังนี้
- มีอาการสะอึกจากโรคกรดไหลย้อน
- โรคคออักเสบเรื้อรัง
- โรคตับหรือไตวาย
- โรคเกี่ยวกับสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง และโรคสมองอักเสบ
ทั้งนี้การสะอึกติดต่อกันเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่องโดยมีสาเหตุจากโรคหลอดเลือดสมองนั้นสามารถทำให้เกิดความผิดปกติกับผู้สูงอายุได้ โดยเฉพาะอาการต่อไปนี้
- มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น อาจเห็นเพียงหนึ่งข้าง หรืออาจเกิดทั้งสองข้าง
- มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงร่วมด้วยและเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน
- ผู้ป่วยไม่สามารถเดินได้ตามปกติ มีอาการวิงเวียน เสียสมดุลของร่างกายอย่างกะทันหัน
- ผู้ป่วยมีปัญหากับการพูด เช่น พูดไม่ชัด พูดไม่รู้เรื่อง หรือไม่สามารถออกเสียงพูดได้อย่างเป็นปกติ
- ผู้ป่วยไม่สามารถยกแขน หรือขยับแขนเป็นปกติได้
- มีอาการยิ้มไม่ได้ ใบหน้าเบี้ยวข้างหนึ่ง
วิธีทำให้หายสะอึกตามทางการแพทย์
นอกจากวิธีทำให้หายสะอึกด้วยเทคนิคง่ายๆ แบบเบื้องต้น และทำได้ด้วยตัวเองแล้ว การรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สามารถเลือกใช้บรรเทาอาการสะอึกได้เช่นเดียวกัน โดยส่วนใหญ่แล้วจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- การฝังเข็ม: วิธีทางการแพทย์แบบแผนจีน ที่จะใช้การฝังเข็มที่ร่างกายตามจุดต่างๆ เพื่อให้ระบบของร่างกายมีการปรับเปลี่ยนจนเกิดความสมดุล รวมถึงระบบหายใจที่จะถูกปรับไปด้วยเช่นเดียวกัน และทำให้อาการสะอึกค่อยๆ หายไปได้เอง
- การรักษาด้วยยา: เมื่อเป็นแนวทางการรักษาตามแบบของแพทย์ ส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะพิจารณาให้ยาในการรักษา โดยกลุ่มยาที่ใช้อย่าง Baclofen ที่ช่วยลดอาการกล้ามเนื้อกระตุกเกร็ง และยากลุ่มช่วยย่อยอย่าง Omperazole
สรุป อาการสะอึก ภาวะที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน
จากข้อมูลทั้งหมด นับว่าการสะอึกนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นแล้วหายไปได้เองก็ตาม แต่ควรสังเกตความผิดปกติของร่างกายเพิ่มเติมด้วย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่อาการสะอึกนั้นอาจมีต้นตอมาจากโรคอื่นๆ ที่แฝงอยู่ในร่างกายได้ แต่หากใครที่มีอาการสะอึกโดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากความเจ็บป่วย ก็ลองนำวิธีทำให้หายสะอึกที่เราแนะนำไปลองใช้กันดูได้
สำหรับท่านที่มีผู้สูงอายุอยู่ที่บ้าน แต่ติดขัดเรื่องเวลาที่ไม่สามารถบริหารจัดการดูแลได้ การมองหาบ้านพักคนชรา หรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ แถมยังช่วยให้ผู้สูงวัยได้รับการดูแลอย่างใส่ใจ ในสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรได้ตลอด 24 ชม. ที่สำคัญคือมีการดูแลทั้งโภชนาการ กิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงวัยได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ท่านสามารถเลือกชมบ้านพักผู้สูงวัยให้ตรงกับความต้องการได้ง่ายๆ ได้ในเว็บไซต์ของเรา