โรคไตวาย เป็นสิ่งที่หลายคนมักถูกมองข้าม จนกระทั่งนำไปสู่ภาวะไตเสื่อมและโรคไตวาย ในปัจจุบันผู้คนจำนวนมากต้องเผชิญกับโรคไตวายจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น พฤติกรรมการดำเนินชีวิต การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม หรือภาวะสุขภาพอื่นๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ส่งผลให้ไตไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ร่างกายจึงไม่สามารถขจัดของเสียและควบคุมสมดุลของน้ำและเกลือแร่ได้ บทความนี้ SaiJai จะพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคไตวาย ทั้งสาเหตุ วิธีการรักษา และการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวสามารถดูแลสุขภาพไตของตนเองและคนที่คุณรักได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไตวายในอนาคตได้อีกด้วย ถ้าพร้อมแล้วมาเริ่มกันเลย!
ไตวาย คืออะไร?
โรคไตวาย หรือ ไตวาย (Kidney Failure) หมายถึง ภาวะที่ไตหนึ่งข้างหรือทั้งสองข้างไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ถือเป็นโรคเกี่ยวกับไตที่ร้ายแรงที่สุด โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ ไตวายเฉียบพลันและไตวายเรื้อรัง ซึ่งแต่ละประเภทมีลักษณะและสาเหตุแตกต่างกัน รวมถึงวิธีการรักษาที่ต่างกันด้วย โดยจะมีรายละเอียดดังนี้
- ไตวายเฉียบพลัน (Acute Kidney Failure)
เป็นการสูญเสียการทำงานของไตในระยะสั้น เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน โดยอาจเกิดจากการบาดเจ็บ การติดเชื้อ ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง หรือการได้รับสารพิษหรือยาที่เป็นอันตรายต่อไต ส่วนใหญ่การทำงานของไตสามารถฟื้นตัวเองได้เมื่อรักษาที่ต้นเหตุ แต่อาจใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและการตอบสนองต่อการรักษา อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีอาจเกิดความเสียหายถาวรต่อไต และส่งผลให้เกิดโรคไตเรื้อรังได้
- ไตวายเรื้อรัง (Chronic Kidney Failure)
เกิดจากความเสียหายต่อไตอย่างต่อเนื่องและไม่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้ มักเกิดขึ้นในระยะเวลาหลายเดือนหรือหลายปี ปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ของไตวายเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคไตที่เกิดจากกรรมพันธุ์ ความเสียหายเหล่านี้ค่อยๆ ทำลายการทำงานของไต เมื่อโรคพัฒนาถึงระยะสุดท้าย การทำงานของไตจะลดลงอย่างมาก ทำให้เกิดการสะสมของเสียและน้ำในร่างกาย ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาด้วยการฟอกไตหรือปลูกถ่ายไตอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
สาเหตุของโรคไตวายเกิดจากอะไร?
สาเหตุของโรคไตวายมีหลายประการ โดยจะแบ่งตามประเภทของโรคว่าเป็นไตวายเฉียบพลันหรือแบบเรื้อรัง เพราะจะมีสาเหตุที่แตกต่างกัน โดยโรคไตวายอาจเกิดจากปัจจัยหลากหลายชนิด ดังต่อไปนี้
ไตวายเฉียบพลัน เกิดจาก
- ไตได้รับความเสียหายจากการติดเชื้อ โรคอื่นๆ หรือการได้รับสารพิษ
- ไตได้รับความเสียหายจากการบาดเจ็บ อุบัติเหตุ หรือการผ่าตัด
- อยู่ในภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตไม่เพียงพอ
- การอุดตันของระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในไตหรือท่อปัสสาวะอุดตัน ทำให้ปัสสาวะไม่สามารถไหลออกได้ตามปกติ
ไตวายเรื้อรัง เกิดจาก
- โรคเบาหวาน เนื่องจากน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่องทำลายหลอดเลือดเล็กๆ ในไต ทำให้ไตเสียหาย
- ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยที่ทำลายหลอดเลือดในไต ทำให้ไตไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
- กรรมพันธุ์ หากครอบครัวมีคนเป็นโรคไต ก็มีแนวโน้มทำให้เกิดโรคไตกับสมาชิกคนอื่นๆ ได้
- โรคหลอดเลือดและหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลวหรือโรคหลอดเลือดทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปที่ไตได้เพียงพอ
- การติดเชื้อเรื้อรัง เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะบ่อยๆ หรือการติดเชื้อจากเชื้อแบคทีเรียที่กระทบไตโดยตรง
- การใช้ยาหรือสารเคมีเป็นเวลานาน เช่น ยาแก้ปวด หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ได้รับการควบคุมจากแพทย์
ไตวายมีกี่ระยะ?
โรคไตวายมีทั้งหมด 5 ระยะ ซึ่งแสดงถึงระดับความล้มเหลวในการทำงานของไต โดยแต่ละระยะบ่งบอกถึงระดับการกรองของเสียจากเลือด (Glomerular Filtration Rate หรือค่า GFR) โดยสามารถสรุปเป็นตารางได้ดังนี้
ผู้ป่วยไตวาย อาการเป็นอย่างไร?
จากข้อมูลระยะของโรคไตวายข้างต้น จะเห็นได้ว่าอาการของผู้ป่วยโรคไตวายมีความแตกต่างกันไปตามระยะของโรค โดยในระยะแรกๆ อาการอาจไม่ชัดเจนมากนัก แต่เมื่อโรคพัฒนาจนถึงระยะสุดท้าย อาการจะรุนแรงขึ้นและมีความเสี่ยงต่อชีวิต มาดูรายละเอียดอาการกันเลย
- อาการของโรคไตวาย ระยะแรก
ในระยะเริ่มแรกของโรคไตวาย ผู้ป่วยโรคไตวายอาจไม่มีอาการที่เด่นชัด เนื่องจากไตยังคงทำงานได้บางส่วน แม้ว่าจะมีการเสื่อมสภาพไปบ้าง อาการในช่วงแรกอาจปรากฏเป็นอาการเล็กน้อย ไม่มีความเฉพาะเจาะจง ซึ่งอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอาการของปัญหาสุขภาพอื่นๆ ได้ โดยอาการที่พบได้ในระยะแรก ได้แก่
-
- อ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย รู้สึกอ่อนแรงและไม่มีแรงทำกิจกรรมประจำวัน
- ปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน หรือมีปัสสาวะเป็นฟองจากการมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ
- บวมที่ขา ข้อเท้า และมือ เกิดจากการคั่งของน้ำและเกลือ เนื่องจากไตไม่สามารถขับออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ปวดหรือไม่สบายบริเวณหลังหรือช่องท้อง บางครั้งอาจเกิดอาการปวดหลังบริเวณที่ใกล้เคียงกับไต
- ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูงอาจเริ่มปรากฏ เนื่องจากการทำงานของไตที่บกพร่อง
- อาการไตวายระยะสุดท้ายก่อนเสียชีวิต
เมื่อโรคไตวายพัฒนาไปจนถึงระยะสุดท้าย ไตจะสูญเสียความสามารถในการกรองของเสียและน้ำออกจากร่างกายโดยสมบูรณ์ ทำให้เกิดการสะสมของสารพิษในเลือดมากขึ้น ส่งผลให้อาการรุนแรงและเสี่ยงต่อชีวิต อาการที่มักพบในระยะนี้ ได้แก่
-
- อาการบวมทั่วร่างกาย เนื่องจากของเหลวสะสมในร่างกายมากขึ้น อาจบวมที่ขา แขน และใบหน้า กดแล้วบุ๋ม ผิวไม่คืนตัว
- หายใจลำบาก การสะสมของเหลวในปอดทำให้เกิดอาการหายใจไม่สะดวก อาจรู้สึกหายใจไม่เต็มปอดหรือหายใจถี่
- คลื่นไส้และอาเจียน การสะสมของเสียในเลือดทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และเบื่ออาหาร
- อ่อนเพลียอย่างรุนแรง ร่างกายอ่อนแรงอย่างมาก เนื่องจากระบบต่างๆ ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- อาการคันทั่วร่างกาย ของเสียที่สะสมในร่างกายทำให้เกิดอาการคันที่รุนแรงและกระจายทั่วร่างกาย
- สมองทำงานผิดปกติ สารพิษที่สะสมในเลือดอาจทำให้เกิดปัญหาด้านการรับรู้ สับสน หลงลืม หรืออาการโคม่า
- หมดสติหรือช็อก ในระยะสุดท้ายก่อนเสียชีวิต ผู้ป่วยอาจหมดสติหรือเข้าสู่ภาวะช็อกจากการทำงานของไตที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
ไตวายระยะสุดท้ายอยู่ได้นานไหม?ในโรคไตวายระยะสุดท้าย ระยะเวลาในการอยู่รอดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การฟอกไต การปลูกถ่ายไต สุขภาพโดยรวม และการจัดการโรค ผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกไตหรือปลูกถ่ายไตอย่างเหมาะสมอาจมีชีวิตยาวนานหลายปี หากควบคุมสุขภาพและปัจจัยเสี่ยงได้ดี ในขณะที่ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงไม่กี่วันถึงไม่กี่สัปดาห์ |
เมื่อเป็นโรคไตวาย รักษาอย่างไรบ้าง?
การรักษาโรคไตวายมีหลายแนวทางขึ้นอยู่กับประเภทและระดับความรุนแรงของโรค รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยว่าสามารถเข้ารับการรักษาแบบใดจึงจะเหมาะสมและปลอดภัยที่สุด โดยสามารถแบ่งแนวทางการรักษาออกเป็นหลักๆ ได้ดังนี้
- การฟอกไต (Dialysis)
การฟอกไตเป็นกระบวนการที่ใช้เมื่อไตไม่สามารถทำงานได้เพียงพอที่จะกรองของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย มีสองประเภทหลัก คือ
-
การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis)
เป็นวิธีที่เลือดของผู้ป่วยจะถูกนำออกจากร่างกายทางหลอดเลือดดำ และเลือดจะถูกส่งผ่านเครื่องกรองพิเศษที่ทำหน้าที่แทนไตในการกรองของเสียออกจากเลือด โดยเลือดที่ถูกกรองแล้วจะถูกส่งกลับเข้าร่างกาย กระบวนการนี้ต้องใช้เวลาประมาณ 3-5 ชั่วโมง และต้องทำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์
-
การล้างไตทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis)
เป็นการใช้เยื่อบุช่องท้องของผู้ป่วยเองเป็นตัวกรองของเสีย โดยการใส่สารละลายเข้าไปในช่องท้องเพื่อดูดซึมของเสียและน้ำส่วนเกิน จากนั้น สารละลายที่มีของเสียจะถูกถ่ายออก วิธีนี้สามารถทำเองที่บ้านได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือขนาดใหญ่
- การปลูกถ่ายไต (Kidney Transplant)
การปลูกถ่ายไตเป็นการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในระยะสุดท้าย โดยการนำไตจากผู้บริจาคที่มีความเข้ากันได้มาแทนที่ไตที่เสื่อมสภาพ ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการผ่าตัดและใช้ยากดภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายต่อต้านไตใหม่ที่ได้รับมา แต่อย่างไรก็ตาม การปลูกถ่ายไตมีข้อจำกัด เช่น การหาไตที่เข้ากันได้ และความเสี่ยงจากการผ่าตัด รวมถึงความเสี่ยงที่ร่างกายจะปฏิเสธไตใหม่ ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
การป้องกันโรคไตวาย
การป้องกันโรคไตวายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะโรคไตวายเป็นภาวะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด มาดูกันเลยว่าแนวทางหลักในการป้องกันโรคไตวายมีอะไรบ้าง
- รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไตวาย การควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงของการเสื่อมของไต แนะนำให้หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูป อาหารฟาสต์ฟู้ด และของขบเคี้ยว หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น การเดิน วิ่ง ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน เพื่อช่วยควบคุมความดันโลหิต ทำการตรวจสอบความดันโลหิตเป็นประจำ และปรึกษาแพทย์หากพบว่าความดันโลหิตสูงเกินเกณฑ์
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคไตวาย เนื่องจากน้ำตาลในเลือดที่สูงเป็นเวลานานสามารถทำลายหลอดเลือดและเนื้อเยื่อในไตได้ ดังนั้น แนะนำให้ควบคุมอาหารและเลือกรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลต่ำ รับประทานยาหรือใช้ยาฉีดตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ และพบแพทย์เพื่อปรับแผนการรักษาตามความเหมาะสม
- รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
ภาวะอ้วนหรือการมีน้ำหนักเกินเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตวาย การรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติช่วยลดภาระการทำงานของไต ดังนั้น เราจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร เลือกรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีคุณภาพ และมีไขมันดี เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมันและปลา หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและน้ำตาลสูง รวมถึงของทอด ขนมหวาน และน้ำอัดลม นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอวันละอย่างน้อย 30 นาทีเพื่อลดน้ำหนัก สร้างกล้ามเนื้อเพิ่มการเผาผลาญไขมันเลว และช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรงยิ่งขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจทำลายไต
ยาบางชนิด โดยเฉพาะยาที่ใช้เป็นประจำ เช่น ยาแก้ปวดหรือยาต้านการอักเสบชนิด NSAIDs อาจมีผลข้างเคียงที่ทำลายไตหากใช้ในระยะยาวหรือใช้เกินขนาดที่กำหนด หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์เป็นเวลานานๆ แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ยา และตรวจการทำงานของไตเป็นระยะร่วมด้วย
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
การดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้ไตทำงานได้ดี น้ำช่วยขับของเสียและเกลือแร่ออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะ การดื่มน้ำไม่เพียงพออาจทำให้เกิดการสะสมของเสียและทำให้ไตทำงานหนักขึ้น แนะนำให้ดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน หากไม่มีข้อจำกัดจากโรคอื่นๆ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลวหรือโรคไต และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงและน้ำอัดลม เพราะอาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูง
- งดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์
การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ ซึ่งส่งผลต่อไตในระยะยาว นอกจากนี้ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงและโรคอ้วน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคไตวายทั้งคู่ แนะนำให้ลดความถี่ในการสูบบุหรี่และจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ หรือหากเป็นไปได้ ควรงดทั้งหมดเลยจะดีที่สุด
- ตรวจสุขภาพและการทำงานของไตเป็นประจำ
การตรวจสุขภาพประจำปีและการตรวจการทำงานของไตช่วยให้ทราบถึงความผิดปกติตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคไต แนะนำให้กลุ่มเสี่ยงทำการตรวจเลือดเพื่อดูระดับของครีเอตินีน (Creatinine) และกรดยูริก รวมถึงตรวจปัสสาวะเพื่อดูการทำงานของไตว่ายังสามารถกรองของเสียและน้ำได้ดีหรือไม่ หากพบว่ามีความเสี่ยงในการเกิดโรคไต ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการป้องกันเพิ่มเติม
- ควบคุมการบริโภคเกลือและอาหารที่มีโซเดียมสูง
โซเดียมเป็นตัวการที่ทำให้ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคไต การลดการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูงจะช่วยลดภาระของไตและช่วยให้การทำงานของไตเป็นปกติ ลดการใส่เกลือในการปรุงอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่ผ่านการแปรรูปหรืออาหารที่มีรสจัด แนะนำให้อ่านฉลากโภชนาการก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารด้วย เพื่อควบคุมปริมาณโซเดียมที่บริโภคต่อวัน
- จัดการกับความเครียด
ความเครียดเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย รวมถึงไต การจัดการความเครียดอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้การทำงานของไตดีขึ้น ฝึกการผ่อนคลาย เช่น การทำสมาธิ การหายใจลึก หรือการนั่งสมาธิ หมั่นออกกำลังกายเบาๆ เช่น การเดินเล่น การทำสวน รดน้ำต้นไม้ เพื่อคลายความตึงเครียดและเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง
การดูแลผู้ป่วยโรคไตวายที่บ้าน ต้องทำอะไรบ้าง?
การดูแลผู้ป่วยโรคไตวายที่บ้านเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยผู้ป่วยรักษาคุณภาพชีวิตและลดภาวะแทรกซ้อนจากโรค ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การควบคุมอาหาร การรับประทานยา และการดูแลสุขภาพจิตใจ โดยครอบครัวและผู้ป่วยเองควรร่วมมือกันเพื่อให้การดูแลมีประสิทธิภาพมากที่สุด มาดูกันว่ามีอะไรที่ผู้ดูแลต้องทำบ้าง
ดูแลโภชนาการสำหรับผู้ป่วยโรคไตวาย
การควบคุมอาหารเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคไตวาย เนื่องจากไตไม่สามารถกำจัดของเสียออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเลือกอาหารที่เหมาะสมจะช่วยลดภาระให้กับไต
- ลดการบริโภคอาหารโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง ซอสสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยว เพื่อช่วยลดอาการบวมน้ำและควบคุมความดันโลหิต
- จำกัดการบริโภคโพแทสเซียม โพแทสเซียมสูงอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยไตวาย ควรจำกัดการบริโภคผลไม้และผักที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น มันสำปะหลัง ใบชะพลู ขึ้นฉ่าย ผักกวางตุ้ง กะหล่ำปลี บรอกโคลี แครอท ผักแพว มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง หัวปลี ผักชี ผักคะน้า ผักโขม ถั่วฝักยาว เป็นต้น
- ลดการบริโภคฟอสฟอรัส ผู้ป่วยโรคไตอาจมีปัญหาในการกำจัดฟอสฟอรัสที่สะสมในร่างกาย ทำให้กระดูกเปราะและคันทั่วร่างกาย ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น ถั่ว นม ชีส เนื้อสัตว์ น้ำอัดลม และอาหารแปรรูปต่างๆ
- จำกัดโปรตีน การบริโภคโปรตีนมากเกินไปจะทำให้ไตต้องทำงานหนักขึ้น ควรเลือกรับประทานโปรตีนที่มีคุณภาพสูง เช่น เนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ในปริมาณที่เหมาะสมตามที่แพทย์แนะนำ
- ควบคุมปริมาณน้ำดื่ม ในบางกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะไตเสื่อมมาก การดื่มน้ำมากเกินไปอาจทำให้มีน้ำสะสมในร่างกายจนเกิดอาการบวมได้ ควรปรึกษาแพทย์เรื่องปริมาณน้ำที่เหมาะสมในการดื่มต่อวัน
ดูแลการทานยาตามแพทย์สั่งอย่างถูกต้อง
ผู้ป่วยและผู้ดูแลควรจัดการตารางการรับประทานยาอย่างเคร่งครัด ระวังเรื่องการขาดยา และตรวจสอบยาต่างๆ ที่แพทย์แนะนำอยู่เสมอ เนื่องจากผู้ป่วยโรคไตวายมักต้องใช้ยาหลายชนิดเพื่อควบคุมอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อน ไม่ว่าจะเป็นยาลดความดันโลหิต ยาควบคุมระดับโพแทสเซียมและฟอสฟอรัส ยาป้องกันโรคโลหิตจาง หรือยาขับปัสสาวะ ฯลฯ
ดูแลขั้นตอนการฟอกไตของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
ในบางกรณี ผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้ายอาจจำเป็นต้องฟอกไตที่บ้าน โดยเฉพาะการฟอกไตทางช่องท้อง ซึ่งผู้ป่วยสามารถเรียนรู้วิธีการทำเองได้ โดยผู้ป่วย ผู้ดูแล หรือคนในครอบครัวจะต้องเรียนรู้วิธีการฟอกไตที่ถูกต้องจากแพทย์และพยาบาล เรียนรู้วิธีดูแลรักษาความสะอาดของอุปกรณ์และบริเวณช่องท้อง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และติดตามการทำงานของเครื่องฟอกไตและอาการของผู้ป่วยระหว่างฟอกไตด้วย
ดูแลทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
ผู้ป่วยโรคไตวายควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสม แม้ว่าไตจะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพก็ตาม แนะนำให้ออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดิน การยืดเส้น หรือโยคะ จะช่วยส่งเสริมการไหลเวียนเลือดให้เพียงพอและลดอาการบวมน้ำได้ อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หนักเกินไป ครอบครัวอาจจะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มโปรแกรมออกกำลังกาย เพื่อให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย
ดูแลสุขภาพจิตของผู้ป่วยด้วย
โรคไตวายเรื้อรังอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้าได้ เนื่องจากต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิตและการรักษาที่ต่อเนื่อง แนะนำให้ครอบครัวให้การเอาใจใส่ผู้ป่วย คอยสอบถามพูดคุย และให้กำลังใจผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคไตวายมีแรงใจในการดูแลตัวเองให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ครอบครัวควรมีความเข้าใจในโรคและกระบวนการรักษา พร้อมให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น การเตรียมอาหาร การจัดตารางการรับประทานยา และการพาผู้ป่วยไปพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง
สรุป
ไตวาย คือภัยเงียบที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ การทำความเข้าใจถึงสาเหตุการเกิดโรคไต อาการในระยะต่างๆ ของผู้ป่วยไตวาย และการป้องกันโรคนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะผู้ป่วยโรคไตวายต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่องและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้อาการแย่ลงและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้
สำหรับใครที่กำลังมองหาแนวทางการดูแลผู้ป่วยไตวายอย่างถูกต้อง SaiJai ขอเสนอบ้านพักสำหรับผู้สูงอายุที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยโรคไตวาย ด้วยบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญ อุปกรณ์ที่เหมาะสม และการจัดการโภชนาการที่เหมาะสม รวมถึงบริการรถรับส่งสำหรับการฟอกไต สามารถเลือกหาบ้านพัก คนดูแลผู้สูงอายุป่วยโรคไตหรือผู้ป่วยโรคไตวายได้ที่ SaiJai.co
แหล่งอ้างอิง
- ไตวายเรื้อรัง จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น ? – รามา แชนแนล
- ไตวาย ภัยเงียบที่คุกคามชีวิตโดยไม่ทันตั้งตัว – โรงพยาบาลศิครินทร์
- https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17689-kidney-failure
- https://www.kidney.org/kidney-topics/kidney-failure
- https://www.kidney.org/kidney-topics/coping-effectively-guide-patients-and-their-families
- https://www.niddk.nih.gov/health-information/kidney-disease/kidney-failure/what-is-kidney-failure
- https://www.kidneyfund.org/all-about-kidneys/stages-kidney-disease