แผลกดทับ เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่มีความเจ็บป่วยและไม่สามารถดูแลตัวเองได้ตามปกติ โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียงที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นแผลกดทับ อีกทั้งเมื่อเกิดขึ้นแล้วการรักษาแผลกดทับยังทำให้หายขาดได้ยากและต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร ดังนั้นการป้องกันไว้ก่อนยอมดีกว่า
เพื่อให้เข้าใจถึงลักษณะของแผลกดทับ และเข้าใจว่าแผลกดทับเกิดจากอะไร วันนี้ SaiJai.co เรามีเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับแผลกดทับ เพื่อให้ผู้สูงอายุและครอบครัวที่ต้องดูแลผู้ป่วยได้ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพนี้ พร้อมทั้งแนวทางป้องกันดูแลรักษามาบอกกัน
แผลกดทับคืออะไร?
แผลกดทับ คือ อาการบาดเจ็บหรือบาดแผลที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังและปรากฏให้เห็นบนผิวหนังส่วนนอก ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการที่เนื้อเยื่อในบริเวณนั้นถูกกดทับมาเป็นเวลานาน จนทำให้เกิดแผลขึ้นที่ผิวหนัง โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ปัญหาเรื่องการขยับเคลื่อนไหว ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นปกติจนต้องนั่งเก้าอี้หรือวีลแชร์เป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเสียดสีขึ้นกับผิวหนังแล้วกลายเป็นแผล ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นในบริเวณที่มีปุ่มกระดูกที่มีโอกาสเสียดสีได้ง่าย หากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อได้
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดแผลกดทับ
สำหรับแผลกดทับนั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วลักษณะของแผลกดทับจะมีความอักเสบเป็นรอยแดง ผิวหนังมีรอยคล้ายกับไหม้ บางคนอาจมีความลึกของบาดแผลมาก แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าแผลกดทับนั้นเกิดจากอะไร ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของการเกิดแผลกดทับที่พบได้บ่อย คือ
- ร่างกายขาดการเคลื่อนไหว เช่น การนั่งวีลแชร์ หรือผู้ป่วยที่ต้องนอนติดเตียง
- การเคลื่อนไหวของร่างกายไม่เป็นปกติ
- ภาวะอ้วน
- มีปัญหาเกี่ยวกับการกลั้นขับถ่าย
- ภาวะขาดสารอาหาร รับสารอาหารไม่เพียงพอ
- โรคที่เกี่ยวกับเส้นเลือด โรคเบาหวาน และโรคที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว
บริเวณที่มักเกิดแผลกดทับ
แม้ว่าจะเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่มีความเสี่ยงของการเกิดแผลกดทับได้ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีแผลกดทับเกิดขึ้นได้ทั่วไป เพราะส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นในบริเวณที่มีปุ่มกระดูกที่เสียดสีกับเสื้อผ้าได้ง่าย เช่น
- ศอก
- ไหล่
- หลัง
- ท้ายทอย
- ข้อเท้า
- ส้นเท้า
- สะโพก
- ก้นกบ
- หลังหู
ลักษณะของแผลกดทับ
การเกิดแผลกดทับในผู้ป่วยนั้น ช่วงแรกอาจมองเห็นเป็นรอยแผลขนาดแรกทำให้หลายคนไม่ได้รักษาหรือทำความสะอาดอย่างถูกวิธี จนทำให้เกิดแผลขนาดใหญ่และมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งลักษณะของแผลกดทับนั้นมีอยู่ 4 ระดับ สามารถสังเกตได้ ดังนี้
- ระดับที่ 1 : ระยะเริ่มแรกของการเกิดแผลกดทับ ระยะนี้จะมองเห็นบริเวณที่จะเกิดแผลเป็นรอยแดง และมีรอยช้ำขึ้นบนผิวหนัง เมื่อลองกดที่บริเวณรอยแดงหรือรอยช้ำแล้วจะไม่จางหายไป ระยะนี้จะมีอาการเจ็บและคันร่วมด้วย โดยผิวหนังจะยังไม่มีการฉีกขาด
- ระยะที่ 2 : ลักษณะแผลกดทับในระยะที่สองนี้จะเริ่มมีการฉีกขาดของผิวหนังเกิดขึ้นบ้างแล้ว และบางคนอาจมีหนองหรือแผลพุพองร่วมด้วย เนื่องจากหนังกำพร้าและหนังแท้บางส่วนถูกทำลาย ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บและปวดที่แผลมากขึ้น
- ระยะที่ 3 : สำหรับแผลกดทับในระยะที่สามนี้จะเริ่มมีความรุนแรงของอาการเจ็บและปวดที่แผลมาก โดยลักษณะของแผลที่ถูกกดทับจะเริ่มเป็นโพรงลึก บางคนอาจมองเห็นชั้นไขมันที่แผล ผิวหนังโดยรอบและเนื้อเยื่อจะถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก
- ระยะที่ 4 : เรียกได้ว่าเป็นระยะที่มีความรุนแรงของแผลกดทับมากที่สุด ผิวหนังจะถูกทำลายอย่างรุนแรง และเนื้อเยื่อบางส่วนตายร่วมด้วย ลักษณะความรุนแรงของแผลกดทับระยะนี้อาจลามไปถึงการที่กล้ามเนื้อและกระดูกที่อยู่ลึกลงไปถูกทำลายไปด้วย
วิธีรักษาแผลกดทับ
เมื่อเป็นแผลกดทับแล้ว สิ่งสำคัญคือการได้รับการรักษาและดูแลเป็นการด่วน โดยเฉพาะการรักษาแผลกดทับตั้งแต่ระยะแรก จะช่วยลดอาการบาดเจ็บและช่วยป้องกันการลุกลามของแผลกดทับไปสู่ระยะอื่นๆ ได้ สำหรับวิธีดูแลรักษาแผลกดทับสามารถทำได้ ดังนี้
- การดูแลผู้ป่วยแผลกดทับ
การดูแผลกดทับเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากแผลจะหายได้ดีขึ้นเมื่อมีความชุ่มชื้นที่ผิวอยู่บ้าง ควรทำความสะอาดบริเวณที่เป็นแผลกดทับด้วยน้ำและสบู่ที่มีความอ่อนโยนต่อผิว และเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังด้วยโลชั่นที่ไม่ทำให้เกิดความเหนอะหนะต่อผิว รวมทั้งการพลิกตัวผู้ป่วยอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง และสลับท่าทางการนอนระหว่างนอนหงาย และนอนตะแคง ประมาณ 30-45 องศา เพื่อลดการถูกกดทับ
- การทำความสะอาดแผล
การทำความสะอาดแผลกดทับจะช่วยให้แผลสะอาด และลดการติดเชื้อที่ผิวหนังรอบแผลได้ หากเป็นแผลในระยะที่สอง วิธีรักษาความสะอาดของแผลกดทับคือการใช้น้ำเกลือล้างแผล เพื่อชะล้างสิ่งสกปรก และคราบผิวหนังที่ตายออก นอกจากนี้ควรปิดแผลด้วยวัสดุที่ออกแบบมาเพื่อแผลกดทับโดยเฉพาะ เพื่อลดการติดเชื้อแทรกซ้อน
- การใช้อุปกรณ์ช่วยลดการถูกกดทับ
การลดแรงกดทับบริเวณที่เป็นแผลจะช่วยลดความรุนแรงของบาดแผลและสมานได้เร็วขึ้น ซึ่งการใช้อุปกรณ์ที่ช่วยลดแรงกดทับจะเป็นตัวช่วยที่ลดการกดทับได้ดียิ่งขึ้น เช่น เตียงลม แผ่นโฟมช่วยลดแรงเสียดสีและกดทับ ฟูกนอนที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อลดการถูกกดทับ หรือเบื้องต้นให้ใช้หมอนคั่นระหว่างเข่าและขาเพื่อลดการเสียดสี รวมถึงการกดทับระหว่างปุ่มกระดูก การใช้อุปกรณ์ช่วยลดการกดทับเป็นวิธีเบื้องต้นที่ช่วยลดอาการเจ็บปวดแผลได้อีกด้วย
- การดูแลเรื่องโภชนาการ
ไม่เพียงแค่การดูแลรักษาความสะอาดแผลกดทับเท่านั้นที่สำคัญ แต่เรื่องของโภชนาการก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน ผู้ป่วยควรได้รับการดูแลเรื่องอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน รวมทั้งได้รับในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยสารอาหารที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยเป็นแผลกดทับมีรายละเอียดดังนี้
-
- วิตามินซี เช่น บรอกโคลี สับปะรด ฝรั่ง และส้มโอ
- วิตามินเอ เช่น ผักใบเขียว แครอท และปลา
- ธาตุเหล็ก เช่น ผักโขม ผักคะน้า ไข่แดง และผักบุ้ง
- ธาตุสังกะสี เช่น เนื้อแดง ถั่วเปลือกแข็ง และปลาทะเล
- โปรตีน เช่น ถั่ว เนื้อสัตว์ ไข่ และนม
วิธีป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงแผลกดทับ
แม้ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ง่ายกับผู้สูงอายุที่ปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือผู้ป่วยที่ต้องนอนติดเตียง แต่ก็สามารถป้องกันความเสี่ยงของการเกิดแผลกดทับและการลุกลามไปสู่ระยะที่รุนแรงของแผลกดทับได้
- พลิกและเปลี่ยนท่าทางให้กับผู้ป่วยติดเตียงอยู่เสมออย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง
- หากขยับร่างกายได้ควรเปลี่ยนท่านั่ง หรือท่านอนให้บ่อยมากขึ้น
- เลือกใช้เบาะ หรือที่นอนที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยติดเตียงเพื่อป้องกันแผลถูกกดทับ
- หากมีแผลกดทับเกิดขึ้น ไม่ควรกดหรือนวดบริเวณรอบแผล
- รักษาความสะอาดและความชุ่มชื้นของผิวหนังอยู่เสมอ
- ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์มีสารอาหารที่ครบถ้วนต่อความต้องการ อาจเน้นอาหารที่มีโปรตีนสูงเป็นหลัก
สรุป แผลกดทับ ปัญหาสุขภาพที่บรรเทาได้ถ้ารู้วิธีป้องกัน
ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุอาจมีหลากหลายรูปแบบ และเกิดได้ง่ายเนื่องจากอายุที่มากขึ้นทำให้ภูมิต้านทานโรคต่างๆ ลดลง โดยแผลกดทับเองก็เป็นหนึ่งในปัญหาที่พบได้บ่อย แต่ก็ยังมีวิธีรักษาและป้องกันแผลกดทับที่สามารถทำได้หากพบได้เร็ว ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือการให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขอนามัย การดูแลความสะอาด รวมทั้งการขยับร่างกายเพื่อลดการเสียดสีและกดทับ ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยบรรเทาความรุนแรงและป้องกันไม่ให้ลักษณะของแผลกดทับลุกลามไปสู่ระยะที่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยได้
สำหรับใครที่กำลังมองหาผู้ช่วยด้านสุขภาพเกี่ยวกับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มองหาบ้านพักคนชราสำหรับวัยหลังเกษียณ ที่ SaiJai.co เราได้รวบรวมข้อมูลดีๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพผู้สูงวัย การดูแลและป้องกันโรคในผู้สูงอายุ รวมไปถึงการค้นหาบ้านพักวัยเกษียณ จากทำเลศักยภาพที่เลือกสรรให้ตรงกับความต้องการได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว เพื่อลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วยที่รุนแรงและได้รับการดูแลอย่างถูกวิธีที่เต็มไปด้วยความใส่ใจ
แหล่งอ้างอิง
- https://www.msdmanuals.com/home/skin-disorders/pressure-sores/pressure-sores
- https://www.nhs.uk/conditions/pressure-sores/
- https://www.bangkokhospital.com/content/pressure-ulcers
- https://healthathome.in.th/blog/caregiving-for-pressure-sores-%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%9A
- https://www.phyathai.com/th/article/3815-%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%9A_%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2