ในวัยที่ร่างกายเสื่อมตามกาลเวลา หลายคนต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บ หนึ่งในนั้นคือ ภาวะน้ำท่วมปอด โรคอันตรายที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ภาวะน้ำท่วมปอดเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะภายในเริ่มลดลง ซึ่งเป็นภาวะที่ค่อนข้างอันตรายอย่างมากเพราะจะทำให้ปอดไม่สามารถแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนส่งผลต่อสุขภาพร่างกายหลายส่วน
แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะน้ำท่วมปอดนั้นก็สามารถป้องกันได้! บทความนี้ Saijai.co จะพาคุณผู้อ่านมารู้จักกับภาวะน้ำท่วมปอดว่ามันคืออะไร? อาการน้ำท่วมปอด เกิดจากอะไร พร้อมวิธีป้องกันและวิธีดูแลคนป่วยน้ำท่วมปอดอย่างถูกต้อง!
ภาวะน้ำท่วมปอด คืออะไร?
ภาวะน้ำท่วมปอด (Pulmonary edema) หรือที่เรียกกันว่า ‘ปอดบวมน้ำ’ เกิดจากการที่ภายในปอดมีการสะสมของเหลวไว้ที่ถุงลมปอดมากเกินไป ทำให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างปอดและกระแสเลือดเกิดความผิดปกติ จนผู้ป่วยเกิดภาวะหายใจลำบากเหมือนจมน้ำ ซึ่งเป็นภาวะพบได้บ่อยมากในผู้สูงอายุ เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจจะอ่อนแอลง และอาจมีโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วย
ในบางครั้ง น้ำท่วมปอดอาจเกิดขึ้นได้อย่างฉับพลัน ทำให้เสี่ยงอันตรายถึงชีวิตหากเราไม่สามารถป้องกันอาการแทรกซ้อนได้ทันท่วงที ดังนั้น หากคุณเป็นผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยง หรือกำลังมีผู้สูงอายุเป็นสมาชิกในครอบครัว ก็จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้วิธีป้องกันหรือวิธีปฐมพยาบาลสำหรับเคสผู้สูงอายุที่มีภาวะน้ำท่วมปอดฉับพลันเอาไว้ด้วย เพื่อไม่ให้อาการแย่ลงหรือเสี่ยงต่อชีวิตได้
น้ำท่วมปอด เกิดจากอะไรได้บ้าง?
ภาวะน้ำท่วมปอด เกิดจากการสะสมของของเหลวในถุงลมในปอด ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายประการที่ไม่ใช่เพียงแค่อายุที่มากขึ้นเท่านั้น แต่จะมีสาเหตุทั้งทางตรงและทางอ้อม ยกตัวอย่างปัจจัยที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง ได้แก่
-
กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอลง
พบได้บ่อยในผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับหัวใจ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะลิ้นหัวใจตีบ ภาวะโคม่า หรือภาวะอื่นๆ ที่มีผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ไม่เพียงพอรวมไปถึงการสะสมความดันในเลือด ส่งผลให้เลือดคั่งจนเกิดการหลุดรั่วของของเหลวเข้ามาในถุงลมปอด กรณีนี้อาจเกิดภาวะน้ำท่วมปอดเฉียบพลันได้
-
ปอดบาดเจ็บ
ภาวะปอดได้รับบาดเจ็บ เช่น การสูดดมควันหรือสารเคมี การติดเชื้อในปอดจากโรคต่างๆ การอักเสบของปอด การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หรือการผ่าตัด (เรียกว่า ภาวะปอดบวมน้ำเหตุระบบประสาท หรือ Neurogenic pulmonary edema) อาจทำให้เกิดการอักเสบ ความดันอาจเพิ่มขึ้น จนทำให้เกิดการสะสมของของเหลวในปอด
-
ภาวะที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มความดันในปอด
มีตั้งแต่ภาวะความดันโลหิตสูงในปอด (Pulmonary Hypertension) ซึ่งทำให้ความดันในหลอดเลือดปอดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ของเหลวซึมเข้าสู่ถุงลมในปอดได้เช่นกัน
-
ภาวะไตล้มเหลว
เนื่องจากไตไม่สามารถกรองและขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายได้ ส่งผลให้เกิดการสะสมของของเหลวในร่างกาย ซึ่งอาจเป็นที่ปอดและนำไปสู่ภาวะน้ำท่วมปอดนั่นเอง
-
การใช้ยาและสารเสพติด
ยาบางชนิด เช่น ยาที่ใช้รักษาโรคหัวใจหรือยาที่ใช้ในการรักษามะเร็ง, ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs, ยาแอสไพริน, ยาควบคุมความดันโลหิต หรือสารเสพติดอย่างเฮโรอีนและโคเคน อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดน้ำท่วมปอดได้
-
การสัมผัสสารพิษ
ยกตัวอย่างเช่น การสูดเอาคาร์บอนมอนอกไซด์หรือควันบุหรี่เข้าไปเป็นประจำ การอาเจียน สำลัก หรือภาวะอื่นๆ ที่ทำให้เส้นเลือดฝอยบริเวณถุงลมปอดเกิดการบาดเจ็บรุนแรงจนเกิดการรั่วไหลของของเหลวในถุงลมได้
-
การอยู่ในที่สูงมากๆ
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของความดันอากาศ จะมีผลให้ร่างกายเกิดการบีบและคลายกล้ามเนื้อหัวใจน้อยลง อาจส่งผลให้มีภาวะน้ำท่วมปอด เกิดจากน้ำและเลือดถูกแรงดันย้อนกลับจากหัวใจไปที่ถุงลมปอดได้
-
โรคอ้วน
มักจะมาพร้อมกับความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะความดันโลหิตสูงในหลอดเลือดปอด หรือโรคหลอดเลือดและหัวใจอื่นๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดน้ำท่วมปอดอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการทำงานของตับและการเผาผลาญ เช่น การเริ่มต้นของโรคตับ โรคไขมันหุ้มตับ และอื่นๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาการสร้างกระบวนการตามตัวได้ง่ายขึ้น
-
โรคอื่นๆ ที่ส่งผลต่อปอด
มีหลากหลายโรคด้วยกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอดได้ ยกตัวอย่างเช่น การติดเชื้อไวรัส โรคไข้เลือดออก ไข้กาฬหลังแอ่น โรคติดเชื้อไวรัสฮานตา เป็นต้น
น้ำท่วมปอด อาการเป็นอย่างไร?
เนื่องจากอาการน้ำท่วมปอด เกิดจากการสะสมของของเหลวในถุงลมปอด จึงจะมีผลต่อระบบหายใจโดยตรง โดยจะแบ่งอาการของภาวะน้ำท่วมปอดออกเป็น 3 แบบที่พบบ่อย ได้แก่
-
อาการน้ำท่วมปอดเฉียบพลัน (Acute pulmonary edema) ภาวะน้ำท่วมปอดแบบเฉียบพลัน มักจะเริ่มจากการที่ผู้ป่วยรู้สึกหายใจลำบาก โดยจะมีอาการเบื้องต้น ดังนี้
-
- หายใจถี่ หายใจลำบาก หายใจไม่ออก หรือหายใจมีเสียงหวีด
- มีอาการไอ อาจมีฟองสีชมพูปน หรือไอเป็นเลือด
- เหงื่อออกมากผิดปกติ
- แน่นหน้าอก หรือเจ็บหน้าอก
- เครียดหรือกระสับกระส่าย
- หน้าซีด ตัวซีด ตัวเย็นลง
- หัวใจเต้นเร็วขึ้นหรือมีอาการใจสั่น
- อาการน้ำท่วมปอดเรื้อรัง (Chronic pulmonary edema) ภาวะน้ำท่วมปอดเรื้อรังหรือน้ำท่วมปอดระยะยาว มักจะมีอาการคล้ายกับแบบเฉียบพลันแต่รุนแรงน้อยกว่า หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้เสี่ยงต่อชีวิตได้ โดยเราสามารถสังเกตอาการน้ำท่วมปอดเรื้อรังเบื้องต้นได้ ดังนี้
-
- รู้สึกหายใจไม่เต็มที่ หายใจไม่สะดวกจนต้องตื่นกลางดึก
- มีภาวะบวมน้ำที่แขนและขา
- รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าตลอดเวลา
- มีอาการหายใจไม่ออกเวลานอนราบ
- หายใจถี่ผิดปกติเมื่อต้องออกแรงมาก
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเร็วมาก (เพราะมีของเหลวในปอด)
- มีอาการไอบ่อยๆ ไม่หายสักที
- หายใจแล้วมีเสียงหวีดตลอดเวลา
- อาการน้ำท่วมปอดในพื้นที่สูง (High-altitude pulmonary edema : HAPE) เป็นภาวะน้ำท่วมปอดที่มักจะเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน แต่จะมีสาเหตุมาจากการขึ้นไปอยู่ในที่สูงเป็นระยะเวลานาน มักเกิดขึ้นได้ทั้งกับเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ โดยจะมีอาการเบื้องต้นดังนี้
-
- ปวดหัวอย่างรุนแรง มักจะเป็นสัญญาณแรกของภาวะน้ำท่วมปอดประเภทนี้
- หายใจลำบาก โดยเฉพาะตอนนอนราบ หายใจถี่เร็ว
- เริ่มมีอาการไอแห้ง ไปจนถึงไอแบบมีเลือดปน
- ความดันโลหิตสูงหรือต่ำผิดปกติ หัวใจเต้นเร็วขึ้นมาก
- มีเสียงหวีดหรือเสียงฟองอากาศเวลาหายใจ
- มีอาการเจ็บหน้าอก มีไข้ต่ำๆ
- รู้สึกเหมือนจมน้ำ หน้าอกแน่น กระวนกระวาย หมดสติ
ทำอย่างไร? เมื่อสงสัยว่าผู้ป่วยกำลังมีอาการน้ำท่วมปอด
การวินิจฉัยภาวะน้ำท่วมปอดอย่างตรงจุดนั้นจำเป็นต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่เนื่องจากภาวะน้ำท่วมปอดนี้สามารถเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงกว่าปกติ ดังนั้น เพื่อที่จะได้สามารถให้การช่วยเหลือและบรรเทาอาการได้อย่างทันท่วงที เราสามารถทำตามขั้นตอนเบื้องต้นได้ ดังนี้
-
เรียกรถพยาบาลฉุกเฉินให้เร็วที่สุด
เบอร์ติดต่อสำหรับเรียกรถฉุกเฉินในไทย คือ 1669 โดยจะต้องแจ้งกับเจ้าหน้าที่ปลายสายว่าเกิดเหตุการณ์อะไร สถานที่อยู่ของผู้ป่วย เพศ อายุ อาการของผู้ป่วย ระดับความรู้สึกตัว เบอร์โทรฯ และชื่อของผู้โทรแจ้งด้วย
-
พยายามให้ผู้ป่วยลุกขึ้นนั่ง
ผู้ป่วยน้ำท่วมปอดเฉียบพลันจะรู้สึกอึดอัดและหายใจไม่ออกเมื่อนอนราบ จึงต้องจัดท่านั่งให้ผู้ป่วย เพื่อให้ของเหลวที่คั่งค้างอยู่ไม่กระจายเพิ่ม
-
เปิดหน้าต่างและประตูเพื่อให้อากาศถ่ายเทที่สุด
หากผู้ป่วยน้ำท่วมปอดอยู่ในห้องที่มีความคับแคบ โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียง จะต้องเปิดห้องให้อากาศมีการไหลเวียนมากขึ้น เพื่อให้ร่างกายของผู้ป่วยได้รับออกซิเจนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
-
ห้ามให้ผู้ป่วยทานอาหารหรือเครื่องดื่มโดยเด็ดขาด
เมื่อผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุเกิดภาวะน้ำท่วมปอดเฉียบพลัน ห้ามให้ดื่มน้ำหรือทานอาหารใดๆ โดยเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้เกิดการสำลักหรืออาเจียน ซึ่งส่งผลให้อาการแย่ลงกว่าเดิมได้
-
คอยสังเกตอาการของผู้ป่วยจนกว่าเจ้าหน้าที่จะไปถึง
ระหว่างนี้ จะต้องคอยสังเกตผู้ป่วยตลอดเวลาว่ามีอาการอื่นๆ เช่น ไอ สำลัก ปวดหัว หรือเจ็บหน้าอกหรือไม่ เพื่อจะสามารถให้ข้อมูลกับแพทย์ได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการแย่ลงเรื่อยๆ ให้เตรียมการทำ CPR โดยด่วน เพราะผู้ป่วยอาจจะหมดสติไปกลางคัน หากมีเครื่องผลิตออกซิเจนในบ้านก็แนะนำให้เอาออกมาใช้ตั้งแต่มีอาการจะดีที่สุด ทำแบบนี้จนกว่าเจ้าหน้าที่จะไปถึง
ภาวะน้ำท่วมปอด รักษาอย่างไร?
น้ำท่วมปอด รักษาหายขาดไหม? คงเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยกันอยู่จำนวนมาก เนื่องจากภาวะน้ำท่วมปอดคล้ายเป็นอาการที่รักษาค่อนข้างยากและเสี่ยงต่อการผ่าตัด ทั้งนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางรักษาเสียทีเดียว แต่ขั้นตอนต่างๆ จะขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรง โดยเบื้องต้นจะแบ่งเป็นการรักษาที่สาเหตุและการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
-
การรักษาที่ต้นเหตุ
ไม่ว่าจะเป็นอาการปอดเสื่อมสภาพ น้ำท่วมปอดจากโรคหัวใจ หรืออาการไตวาย ซึ่งจะเริ่มต้นด้วยการขับน้ำออกจากปอดก่อน จากนั้นจะมีการใช้ยาขับปัสสาวะเพื่อลดการสะสมของของเหลวในร่างกาย และยาลดความดันโลหิตเพื่อลดความดันและเลือดคั่ง นอกจากนี้ก็จะเป็นการรักษาตามอาการที่เป็นสาเหตุของการเกิดน้ำท่วมปอด *การรักษาควรทำโดยแพทย์เท่านั้น*
-
การรักษาเพื่อบรรเทาอาการ
เป็นการรักษาเพื่อบรรเทาความรุนแรงของภาวะน้ำท่วมปอด โดยจะมีตั้งแต่การให้ยาขยายหลอดเลือด ยาขับเสมหะ รักษาการติดเชื้อ มีการให้ออกซิเจนเสริมเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้น มีการใช้เครื่องช่วยหายใจ ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถหายใจด้วยตัวเองได้ นอกจากนี้ ยังอาจใช้ยาขยายหลอดลมและยาลดการอักเสบเพื่อช่วยบรรเทาอาการหายใจลำบาก รวมไปถึงการใช้ยาบรรเทาความเจ็บปวดในบางกรณีด้วยเช่นกัน *การรักษาควรทำโดยแพทย์เท่านั้น*
อย่างไรก็ตาม การรักษาภาวะน้ำท่วมปอดสามารถทำให้ผู้ป่วยหายขาดได้ในบางเคสเท่านั้น ขึ้นอยู่กับผลการวินิจฉัยว่าภาวะน้ำท่วมปอด เกิดจากอะไร แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสอบอาการอย่างละเอียด ในกรณีที่สาเหตุไม่สามารถรักษาได้ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการน้ำท่วมปอดเรื้อรัง หรือจำเป็นต้องใช้เครื่องผลิตออกซิเจนหรือเครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย
วิธีป้องกันไม่ให้น้ำท่วมปอด
แม้ภาวะน้ำท่วมปอดเป็นโรคที่น่ากลัวและก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตอย่างรวดเร็ว แต่เราก็สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เน้นบำรุงหัวใจและปอดให้แข็งแรงอยู่เสมอ ดังนี้
- ควบคุมโรคประจำตัวอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มเสี่ยง เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคไต ควรดูแลตัวเองและทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาทีเป็นเวลา 3-5 วันต่อสัปดาห์ ช่วยให้หัวใจแข็งแรง ปอดทำงานได้ดีขึ้น เลือดลมไหลเวียนสะดวก ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมในระยะยาว
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช เนื้อปลา ไฟเบอร์ และอาหารไขมันดี หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ไขมันทรานส์ และอาหารที่มีโซเดียมสูง ช่วยป้องกันภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน โรคเบาหวาน น้ำตาลหรือไขมันในเลือดสูง
- พยายามงดสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่เป็นศัตรูตัวฉกาจตลอดกาลของปอด สารเคมีต่างๆ ในควันบุหรี่สามารถทำลายถุงลมและหลอดเลือดฝอยในปอดได้ ส่งผลให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนในร่างกายทำงานได้ไม่ดี หากสามารถเลิกสูบได้ ก็จะช่วยป้องกันโรคอื่นๆ ที่อาจกระตุ้นให้เกิดน้ำท่วมปอดด้วย
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปส่งผลต่อหัวใจและความดันโลหิต ควรดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสม หรือถ้าไม่ดื่มเลยก็จะช่วยป้องกันโรคอื่นๆ ด้วย
- พักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับอย่างมีคุณภาพ การนอนหลับที่ดีนั้นจะต้องเป็นการนอนหลับในเวลาที่เพียงพอและมีคุณภาพ ไม่ตื่นกลางคัน หลับลึก จะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้สูงอายุควรนอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงขึ้นไป
- พบแพทย์ตามนัดอย่างต่อเนื่อง เพราะการพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง จะช่วยให้แพทย์สามารถติดตามอาการ ตรวจสุขภาพ ประเมินความเสี่ยง และป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆ รวมถึงภาวะน้ำท่วมปอดได้อย่างทันท่วงที
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนปอดอักเสบ ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะน้ำท่วมปอดได้
วิธีดูแลคนป่วยน้ำท่วมปอด
การดูแลคนป่วยน้ำท่วมปอด เป็นหนึ่งในการรักษาภาวะน้ำท่วมปอดที่ครอบครัวต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้สูงอายุที่มีน้ำท่วมปอดต้องการการดูแลเป็นพิเศษ รวมไปถึงการสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่ไม่คาดคิด โดยการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำท่วมปอด จะข้อปฏิบัติเบื้องต้น ดังนี้
-
การดูแลด้านการแพทย์
ในส่วนนี้จะเป็นวิธีดูแลคนป่วยน้ำท่วมปอดตามอาการและสาเหตุว่าน้ำท่วมปอด เกิดจากอะไร โดยจะมีตั้งแต่การให้ยา การติดตามอาการ การสังเกตอาการแทรกซ้อน และการตรวจสุขภาพประจำวัน ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินอาการและให้คำแนะนำในการรักษาภาวะน้ำท่วมปอดขั้นต่อๆ ไปได้ง่ายขึ้น แนะนำเป็นการจดบันทึกอาการของผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ
-
การดูแลด้านกายภาพ
เป็นการดูแลกิจวัตรของผู้ป่วยน้ำท่วมปอด โดยคนดูแลจะต้องมีการจัดท่านั่งให้ผู้ป่วย เตรียมหมอนพิงสำหรับนั่งและนอน ให้ศีรษะของผู้ป่วยอยู่สูงกว่าปอด เตรียมแผ่นประคบเย็นกรณีมีไข้ เตรียมเสื้อผ้าที่ใส่สบายและให้ผู้ป่วยอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศปลอดโปร่ง ไม่มีฝุ่น ควัน หรือสารเคมีอื่นๆ ปะปน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้สะดวกและรับออกซิเจนได้อย่างเต็มที่มากขึ้น นอกจากนี้ อาจเพิ่มการออกกำลังกายเบาๆ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนได้
-
การดูแลด้านโภชนาการ
เป็นวิธีดูแลคนป่วยน้ำท่วมปอดที่มีส่วนช่วยให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูได้เร็วขึ้น โดยอาหารที่แนะนำสำหรับผู้ป่วยน้ำท่วมปอดคือ อาหารที่สามารถย่อยได้ง่าย และมีโปรตีนสูงเพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้อย่างเต็มที่ ต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารรสจัด เพราะจะทำให้เซลล์กักเก็บน้ำเอาไว้มากขึ้น อาจทำให้เกิดการสะสมของเหลวในปอดสูงได้
-
การสนับสนุนด้านจิตใจ
นอกจากการดูแลสภาพร่างกายของผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุน้ำท่วมปอดแล้ว ครอบครัวจำเป็นต้องให้การดูแลทางใจด้วย เนื่องจากปัญหาสุขภาพจิตของผู้ป่วยน้ำท่วมปอด เกิดจากความเครียด ความวิตกกังวล หรืออาการตื่นตระหนก (Panic Attack) เมื่อรู้สึกหายใจไม่ออกหรือหายใจไม่สะดวก ดังนั้น ผู้ดูแลจะต้องคอยสังเกตอาการและให้กำลังใจผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ แนะนำว่าให้หากิจกรรมทำร่วมกันจะช่วยคลายความเครียดได้ดี
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ ภาวะน้ำท่วมปอด
ภาวะน้ำท่วมปอด เป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้แบบเฉียบพลันและอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงในระยะยาวได้ ดังนั้น หลายคนจึงอาจจะมีข้อสงสัยอื่นๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะน้ำท่วมปอด ดังนี้
-
น้ําท่วมปอด หายเองได้ไหม?
เมื่อมีน้ำท่วมปอดหรือมีของเหลวในปอดเพียงเล็กน้อยก็อาจจะสามารถหายเองได้ แต่ไม่แนะนำให้ปล่อยเอาไว้ เพราะแม้ว่าภาวะน้ำท่วมปอดเกิดจากสาเหตุหลากหลายอย่างมากมาย แต่ก็สามารถหายแล้วกลับมาเป็นได้อีกหากไม่ดูแลตัวเองให้ดี จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจสแกนปอดอย่างละเอียดเพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง
-
ภาวะน้ำท่วมปอด รักษาหายขาดไหม?
ดังที่ได้อธิบายไปว่าภาวะน้ำท่วมปอดสามารถรักษาได้ แต่ก็มีโอกาสกลับมาเป็นอีกได้เช่นกัน รวมไปถึงผลข้างเคียงจากการเกิดน้ำท่วมปอด หากเป็นผลข้างเคียงที่อวัยวะได้รับบาดเจ็บ ก็มักจะมีผลถาวร ต้องใช้วิธีบรรเทาอาการเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด
-
ผู้ป่วยน้ำท่วมปอดกินอะไรได้บ้าง?
ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยน้ำท่วมปอด จำเป็นต้องเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ได้แก่ อาหารจำพวกผักผลไม้ ธัญพืช อาหารไขมันต่ำ อาหารจำพวกถั่ว เนื้อที่มีไขมันแทรกน้อย หรือเนื้อปลา เป็นต้น
- อาการน้ำท่วมปอด รักษากี่วัน?
แพทย์จะทำการรักษาอาการน้ำท่วมปอด โดยการขับของเหลวออกจากร่างกายภายใน 24 ชั่วโมงหรือโดยเร็วที่สุด จากนั้น ผู้ป่วยจะต้องทำการรักษาและตรวจอาการอย่างใกล้ชิดราวๆ 3-5 วันหรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสาเหตุของการเกิดภาวะน้ำท่วมปอด เมื่อแพทย์อนุญาตจึงสามารถกลับไปดูแลตัวเองที่บ้านได้
- น้ำท่วมปอด กับ ปอดอักเสบ ต่างกันอย่างไร?
จากคำอธิบายเบื้องต้น น้ำท่วมปอดจะเป็นภาวะที่เกิดการสะสมของเหลวภายในปอด ซึ่งจะต้องได้รับการรักษาด้วยการขับของเหลวออกจากร่างกายและรักษาตามสาเหตุ ส่วนอาการปอดอักเสบจะเป็นภาวะที่ปอดมีการติดเชื้อเฉียบพลัน ซึ่งจะเป็นในระยะสั้น มีทั้งแบบอาการไม่รุนแรงจนถึงรุนแรงมาก หากไม่ทราบว่าผู้ป่วยมีอาการของภาวะใด แนะนำให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
สรุป น้ำท่วมปอด เกิดจากอะไร?
ภาวะน้ำท่วมปอด เกิดจากหลายสาเหตุทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องการการรักษาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มักเกิดภาวะน้ำท่วมปอดได้บ่อยกว่าปกติ แม้ในบางกรณีจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถบรรเทาอาการและป้องกันความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมปอดได้เช่นกัน หากสงสัยว่าผู้สูงอายุกำลังมีภาวะน้ำท่วมปอดหรือไม่ แนะนำให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น งดน้ำและอาหาร จัดให้อยู่ในท่านั่ง และรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
หากครอบครัวของคุณมีผู้ป่วยน้ำท่วมปอดและต้องการความช่วยเหลือในการดูแล ไม่ต้องกังวล คุณสามารถค้นหาศูนย์ดูแลผู้ป่วยน้ำท่วมปอดหรือผู้ดูแลที่มีความเชี่ยวชาญได้ที่ Saijai.co บริการที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ใกล้บ้าน และดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญจริง