การตื่นนอนเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ แต่สำหรับผู้สูงอายุหลายคน การตื่นนอนอาจนำมาซึ่งอาการปวดหัวที่รบกวนชีวิตประจำวัน เนื่องจากอาการปวดหัวตอนตื่นนอน (Morning Headache) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยมีสาเหตุหลายประการ และอาจเป็นสัญญาณบอกโรคที่เราไม่ล่วงรู้ได้ด้วย บทความนี้ SaiJai.co จะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการนี้ และแนะนำแนวทางในการดูแลเพื่อบรรเทาอาการปวดหัวหลังตื่นนอนของผู้สูงอายุกัน
อาการปวดหัวตอนตื่นนอน คืออะไร?
ปวดหัวตอนตื่นนอน หรือปวดหัวหลังตื่นนอน เป็นอาการอย่างหนึ่งที่มักพบบ่อยในผู้สูงอายุ คืออาการปวดหัวที่เกิดขึ้นในทันทีหลังจากตื่นนอน โดยจะเป็นในระยะเวลาสั้นๆ แต่จะมีลักษณะของอาการปวดแตกต่างกันไป บางคนอาจจะปวดตุบๆ ข้างใน หรือบางคนอาจจะมีอาการปวดหัวพร้อมความรู้สึกตึงบริเวณรอบศีรษะ ซึ่งก็มีสาเหตุแตกต่างกันไป
อาการปวดหัวตอนตื่นนอนนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากปัญหาทางสุขภาพต่างๆ ที่มักจะเกิดกับผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุอยู่ด้วยจึงไม่ควรละเลยปัญหาปวดหัวหลังตื่นนอน เพราะมันอาจจะเป็นสัญญาณบอกโรคภัยที่แอบแฝงอยู่ก็ได้

สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุ ปวดหัวตอนตื่นนอน เกิดจากอะไรบ้าง?
อย่างที่ทราบแล้วว่าอาการปวดหัวตอนตื่นนอนในผู้สูงอายุนั้นมีสาเหตุหลากหลายมาก และมักจะเกิดขึ้นได้บ่อย ทำให้เราอาจจะยังไม่ทันระวังตัวและไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุปวดหัวหลังตื่นนอนบ่อยๆ คืออะไร ดังนั้น เรามาดูกันไปทีละข้อกัน
-
การนอนเยอะจนปวดหัว
ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุ แต่เช่นเดียวกับทุกๆ วัย หากเรานอนเยอะ ปวดหัวแน่นอน! เพราะระหว่างที่เรานอนหลับ ร่างกายไม่ได้ขยับไปไหน เป็นการอยู่กับที่ในห้องนอน ซึ่งอาจทำให้เราได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ นอกจากนี้ เมื่อนอนเยอะแล้วปวดหัว อาจเป็นเพราะการทำงานของฮอร์โมนบางตัวในร่างกายไม่มีความสมดุล ทำให้ร่างกายขาดน้ำ เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อย ทั้งยังเป็นการอดอาหารนานกว่าปกติจนน้ำตาลในเลือดต่ำ กลายเป็นปวดหัวตอนตื่นนอนได้ทันที
-
มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้บ่อยกับกลุ่มผู้สูงอายุรวมถึงวัยทำงาน ภาวะนี้จะมีลักษณะคือ ผู้ป่วยจะหยุดหายใจไประยะสั้นๆ ขณะที่กำลังหลับ ทำให้เกิดการหายใจไม่ทันหรือออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอ โดยจะมีอาการอื่นร่วมด้วยเช่น กรนเสียงดังมาก มีอาการกรนเหมือนหายใจติดขัด หายใจไม่ออก ซึ่งจะส่งผลให้ต้องตื่นกลางดึกบ่อยๆ นำไปสู่อาการปวดหัวตอนตื่นนอน เพราะนอนไม่พอ นอนหลับแบบไม่มีคุณภาพ และส่งผลต่อความแปรปรวนของอารมณ์ระหว่างวันด้วย
-
มีอาการนอนกัดฟัน
หากร่างกายของเราหรือผู้สูงอายุมีความเครียดมากขึ้น โดยเฉพาะความเครียดสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะส่งผลให้ร่างกายตอบสนองโดยการนอนกัดฟัน (Bruxism) ซึ่งเราจะไม่รู้ตัวเลยเพราะเป็นอาการที่เกิดขึ้นระหว่างหลับ เมื่อเรากัดฟันตลอดทั้งคืน กล้ามเนื้อส่วนกรามและขมับจะทำงานหนักมาก ทำให้มีอาการปวดหัวตอนตื่นนอน และอาจจะมีอาการปวดกราม ปวดฟัน บางรายไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็อาจจะทำให้สุขภาพเหงือกและฟันเสียได้เช่นกัน
-
มีภาวะติดคาเฟอีน
ในปัจจุบัน คนดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ ที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน สารชนิดนี้จะมีคุณสมบัติในการกระตุ้นให้เส้นเลือดขยายตัวมากขึ้น จึงทำให้เรารู้สึกกระปรี้กระเปร่าเมื่อดื่ม แต่แน่นอนว่าหากดื่มเป็นประจำก็อาจทำให้ติดคาเฟอีนได้ เมื่อไม่ได้ดื่มเหมือนเคยก็จะทำให้รู้สึกง่วง ซึม และตามมาด้วยอาการปวดหัวเมื่อระดับคาเฟอีนลดลงหรือไม่เท่าเดิม ซึ่งรวมไปถึงผู้สูงอายุที่ดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนก่อนนอน ก็จะยิ่งไปรบกวนการนอน ทำให้ปวดหัวตอนตื่นได้
-
เป็นโรคนอนไม่หลับ
กรณีนี้จะคล้ายคลึงกับภาวะนอนกัดฟันและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ คือ เมื่อร่างกายนอนไม่พอก็จะส่งผลให้การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายแย่ลง ยิ่งถ้าหากเราเป็นโรคนอนไม่หลับ (Insomnia) สมองก็จะไม่สามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดอาการปวดหัวตอนตื่นนอน โดยคนที่เป็นโรคนอนไม่หลับมักจะมีสาเหตุมาจากความเครียดเช่นกัน
-
เป็นไมเกรน
ผู้สูงอายุที่เป็นไมเกรน (Migraine) มักจะมีแนวโน้มเกิดอาการปวดหัวตอนตื่นนอน อันสืบเนื่องมาจากการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนหลับแบบไม่มีคุณภาพ หรือแม้แต่การนอนเยอะ ปวดหัวจากการปวดไมเกรนจะยิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวตอนเช้าได้ง่าย
-
ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีคุณสมบัติในการขับปัสสาวะ ส่งผลให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะขาดน้ำได้ง่ายจนทำให้ร่างกายไม่สามารถนอนหลับได้อย่างเต็มที่ และด้วยสาเหตุนี้ จึงทำให้ผู้สูงอายุที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำมีอาการปวดหัวตอนตื่นนอนบ่อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์นั่นเอง
-
มีอาการเมาค้าง
กรณีนี้จะเกิดกับเฉพาะผู้สูงอายุที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปจนทำให้เกิดอาการมึนเมา เมื่อตื่นขึ้นมาในตอนเช้าก็จะทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะเมาค้าง (Alcohol Hangover) ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกปวดหัวมากกว่าปกติ นอกจากนี้ยังมักมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ ไปจนถึงอาเจียนร่วมด้วย แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้สูงอายุไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์แต่ยังมีอาการปวดหัวตอนตื่นนอน นั่นแปลว่ามีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่นอย่างแน่นอน
-
ดื่มน้ำไม่เพียงพอ
เมื่ออ่านสาเหตุทั้งหมดแล้วจะพบว่า ภาวะขาดน้ำนั้นมีผลต่ออาการปวดหัวตอนตื่นนอนอย่างชัดเจน เนื่องจากการดื่มน้ำน้อยจะทำให้เลือดของเราหนืดขึ้น การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายจะไม่ปกติ โดยเฉพาะระบบไหลเวียนเลือด ทำให้เรารู้สึกเวียนหัว อ่อนเพลีย และแน่นอนว่ามีอาการปวดหัวตอนตื่นนอนได้!
-
เป็นความดันโลหิตสูง
สำหรับผู้สูงอายุแล้ว มักจะพบโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) ได้บ่อยกว่าคนหนุ่มสาว เนื่องจากผนังหลอดเลือดของผู้สูงอายุนั้นอ่อนแอลง เมื่อเป็นโรคความดันผู้สูงอายุตอนตื่นนอน เส้นเลือดในสมองจะขยายและหดตัวผิดปกติ ทำให้เกิดอาการปวดหัวตอนตื่นนอนเป็นประจำ
-
ท่านอนไม่ถูกต้อง
หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการ ‘นอนผิดท่า’ ยกตัวอย่างเช่น การนอนหมอนสูงหรือต่ำเกินไป การนอนแล้วคอตกจากหมอน ไม่มีอะไรพยุงไหล่ หรืออื่นๆ ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ ไหล่ ไปจนถึงสะบักหลังมีอาการเกร็งหรือตึงกว่าปกติตลอดทั้งคืน ส่งผลให้เราปวดกล้ามเนื้อเหล่านี้เวลาตื่นนอน ซึ่งบางรายอาจปวดลามไปถึงหัว พร้อมความรู้สึกไม่สบายตัว หรือกล้ามเนื้อเคล็ด
อาการที่ควรระวัง เมื่อผู้สูงอายุมีอาการปวดหัวหลังตื่นนอน
แม้ว่าอาการปวดหัวหลังตื่นนอนอาจเกิดจากสาเหตุเล็กน้อย เช่น ภาวะการนอนที่ไม่ถูกต้องหรือการขาดคาเฟอีน แต่ในบางกรณีอาการปวดหัวอาจเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง หากผู้สูงอายุในครอบครัวของเรามีอาการปวดหัวร่วมกับอาการต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม
-
ปวดหัวรุนแรงแบบฉับพลัน อาจเป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมองแตกหรือเส้นเลือดในสมองอุดตัน ต้องรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยด่วน
-
อาการชาหรืออ่อนแรงที่แขนหรือขา หรือใบหน้า อาจเป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
-
การมองเห็นผิดปกติ หรือปวดหัวแล้วมองเห็นไม่ชัด มองเห็นภาพซ้อน หรือสูญเสียการมองเห็นบางส่วน ควรระวังและรีบปรึกษาแพทย์ เพราะอาการเหล่านี้อาจเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับสมองหรือระบบประสาทที่เชื่อมต่อกับดวงตา ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย
-
มีไข้สูงหรือคอแข็ง อาจเป็นสัญญาณของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่ต้องได้รับการรักษาโดยด่วน เพราะอาจจะนำไปสู่อาการเลือดออกในสมองได้
-
อาการอาเจียนบ่อยและต่อเนื่อง อาจเป็นสัญญาณของความดันโลหิตในสมองสูง ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากการมีเนื้องอกในสมอง หรือปัญหาเกี่ยวกับระบบสมองอื่นๆ ที่ต้องการการรักษาเฉพาะทาง
-
ปวดหัวเรื้อรังหรือปวดหัวบ่อยขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกครั้งด้วย ควรพาผู้ป่วยไปตรวจร่างกายเพิ่มเติม เพราะอาการนี้อาจเป็นสัญญาณของปัญหาทางระบบประสาทหรือปัญหาทางร่างกายอื่นๆ ที่ต้องการการดูแลเฉพาะทาง
-
สับสนหรือมีปัญหาในการสื่อสาร พูดไม่ชัด พูดไม่รู้เรื่อง อาจเป็นสัญญาณของภาวะทางสมองที่เกี่ยวข้องกับเส้นเลือดหรือการทำงานของสมองที่ผิดปกติ

ปวดหัวตอนตื่นนอน มีวิธีแก้ไหม?
การปวดหัวตอนตื่นนอนสามารถแก้ไขได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ หากสามารถระบุสาเหตุและปรับปรุงพฤติกรรมการนอนหรือการใช้ชีวิตได้ อาการปวดหัวตอนเช้าก็จะลดลงหรือหายไปได้ มาดูกันว่าวิธีการแก้ไขและบรรเทาอาการปวดหัวตอนตื่นนอนมีอะไรบ้าง
-
ปรับท่านอนและสภาพแวดล้อมในการนอน
การนอนในท่าที่เหมาะสมช่วยลดความตึงของกล้ามเนื้อบริเวณคอและไหล่ ควรใช้หมอนที่มีความสูงพอเหมาะและรองรับศีรษะและคอได้ดี นอกจากนี้ควรนอนในห้องที่มืดและเงียบ สามารถจัดห้องผู้สูงอายุใหม่ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ช่วยให้หลับสนิท สร้างการนอนหลับที่มีคุณภาพ
-
มีวินัยการนอน
ควรเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดียวกันทุกวัน เพื่อสร้างความสมดุลของจังหวะการนอนตามนาฬิกาชีวิต (Circadian Rhythm) การรักษาเวลาเข้านอนที่เป็นระบบจะช่วยให้ร่างกายปรับตัวและลดความเสี่ยงในการเกิดอาการปวดหัวหลังตื่นนอนได้ดี
-
หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ อาจจะลดอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อปรับตัว แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นงด นอกจากนี้ จะต้องเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ก่อนนอน เพราะอาจไปรบกวนการนอนหลับและทำให้เกิดอาการปวดหัวตอนเช้า
-
หากิจกรรมคลายเครียดให้ตัวเอง
จะเห็นได้ว่าความเครียดและความวิตกกังวลมักเป็นสาเหตุสำคัญของอาการปวดหัวตอนตื่นนอน ดังนั้น การผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ เช่น การทำสมาธิ การฝึกการหายใจก่อนนอน จะช่วยให้ผู้สูงอายุนอนหลับได้ดีขึ้นและลดอาการปวดหัวในตอนเช้าได้ดี
-
รักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
กรณีที่ผู้สูงอายุมีอาการหยุดหายใจขณะหลับ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาทันที เช่น การใช้เครื่องช่วยหายใจ CPAP (Continuous Positive Airway Pressure) ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้ทางเดินหายใจอุดตัน แก้ปัญหาอย่างตรงจุดมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการปวดหัวหลังตื่นนอนได้เป็นอย่างดี
-
รักษาภาวะนอนกัดฟัน
สำหรับผู้สูงอายุที่นอนกัดฟัน ควรใช้เครื่องมือช่วยป้องกันการกัดฟันในขณะนอนหลับ (Mouth Guard) เพื่อลดการกดทับและแรงเครียดของกล้ามเนื้อขากรรไกรที่อาจทำให้เกิดอาการปวดหัว หรืออาจจะรักษาถึงต้นตอคือความเครียดและความวิตกกังวล ซึ่งอาจจะต้องปรึกษาจิตแพทย์ร่วมด้วย
-
รักษาโรคประจำตัวอื่นๆ
หากปวดหัวตอนตื่นนอนเกิดจากโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง หรือไมเกรน ควรรับการรักษาจากแพทย์และใช้ยาตามคำแนะนำ การควบคุมโรคประจำตัวอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยลดความเสี่ยงของอาการปวดหัวในตอนเช้าได้
-
ดื่มน้ำให้เพียงพอ
การขาดน้ำเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ปวดหัวตอนเช้า การดื่มน้ำให้เพียงพอตลอดทั้งวัน และดื่มน้ำก่อนนอนในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยป้องกันอาการนี้ได้

วิธีการดูแลผู้สูงอายุที่มีอาการปวดหัวตอนตื่นนอน หรือนอนเยอะแล้วปวดหัว
การดูแลผู้สูงอายุที่มีอาการปวดหัวตอนตื่นนอนหรือนอนเยอะแล้วปวดหัว จำเป็นต้องใส่ใจทั้งด้านร่างกายและสภาพแวดล้อมของการนอน เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถพักผ่อนได้อย่างมีคุณภาพ และลดอาการปวดหัวที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน มาดูกันว่าจะต้องดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้อย่างไร
-
ปรับเปลี่ยนท่าทางการนอน
การปรับท่านอน เช่น การนอนตะแคงซ้ายหรือขวา รวมถึงการใช้หมอนรองที่เหมาะสมกับสัดส่วนศีรษะและคอ สามารถช่วยป้องกันแรงกดทับที่กล้ามเนื้อบริเวณคอและไหล่ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดหัวในตอนเช้าได้ นอกจากนี้ การนอนในท่าที่สบายจะช่วยให้ระบบหายใจทำงานได้ดีขึ้น ลดการหยุดหายใจขณะหลับที่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของปวดหัวตอนตื่นนอนด้วย
-
จำกัดเวลาการนอน
การนอนหลับอย่างเพียงพอเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป จะช่วยลดความเสี่ยงต่ออาการปวดหัว การนอนมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อวันมักจะส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลในสารเคมีในสมอง และอาจทำให้เกิดอาการปวดหัว ดังนั้น การนอนประมาณ 7-9 ชั่วโมงต่อคืนจะเป็นระยะเวลาที่พอเหมาะสำหรับร่างกายของผู้สูงอายุ
-
ช่วยให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายเบาๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดิน การยืดเหยียด หรือการฝึกโยคะ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและออกซิเจนในร่างกาย ซึ่งช่วยลดอาการตึงเครียดของกล้ามเนื้อและลดอาการปวดหัวได้ การออกกำลังกายยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและระบบประสาท ทำให้หลับได้สนิทขึ้นอีกด้วย
-
ช่วยดูแลรักษาโรคประจำตัว
ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือโรคอื่นๆ ที่ส่งผลต่ออาการปวดหัว ควรได้รับการดูแลและรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพราะโรคเหล่านี้อาจทำให้อาการปวดหัวตอนตื่นนอนรุนแรงขึ้นได้
-
ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลาย
คนดูแลผู้สูงอายุควรจะจัดกิจกรรมลดความเครียดให้ผู้สูงอายุด้วย เช่น การทำสมาธิ การทำโยคะ การออกไปเดินเล่น จะช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของอาการปวดหัว นอกจากนี้ อาจจะต้องสร้างบรรยากาศ ปรับแต่งที่อยู่อาศัยให้ปลอดโปร่งและเงียบ จะช่วยให้ผู้สูงอายุหลับสนิทและตื่นมารู้สึกสดชื่นยิ่งขึ้น
-
ปรับปรุงโภชนาการให้เหมาะสม
การทานอาหารนั้นสัมพันธ์กับอาการปวดหัวตอนตื่นนอนเช่นกัน ผู้สูงอายุนั้นต้องการสารอาหารหลากหลาย เช่น แมกนีเซียมและวิตามินบี จะช่วยบรรเทาอาการปวดหัว พบมากในผักใบเขียว ธัญพืช และถั่ว นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัว เช่น คาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรืออาหารที่มีน้ำตาลสูง พร้อมต้องดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายด้วย
-
พาไปตรวจสุขภาพประจำปีเสมอ
การตรวจสุขภาพประจำปีจะช่วยให้แพทย์สามารถติดตามอาการและสังเกตโรคได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคหรือภาวะที่เกี่ยวข้องกับการนอนและการปวดหัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และไมเกรน การตรวจพบปัญหาเหล่านี้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดความเสี่ยงของอาการปวดหัวที่อาจรุนแรงขึ้นหรืออาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงอื่นๆ ได้
สรุป อาการปวดหัวหลังตื่นนอนในผู้สูงอายุ สามารถแก้ได้ด้วยการใส่ใจ
อาการปวดหัวหลังตื่นนอนในผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่ครอบครัวและคนรอบข้างจะต้องให้ความสนใจและให้การดูแลอย่างใกล้ชิด โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอน พฤติกรรมการใช้ชีวิต พฤติกรรมการกิน และจะต้องเน้นการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม จึงจะสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหัวตอนตื่นนอนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่มีอาการเหล่านี้ให้ดีขึ้นได้
แต่สำหรับใครที่กำลังมองหาความช่วยเหลือหรือข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ สามารถเข้าไปที่ SaiJai.co เราเตรียมแหล่งข้อมูลและคำแนะนำที่สามารถช่วยให้ทุกท่านดูแลคนที่คุณรักได้อย่างมีประสิทธิภาพเสมอ และ SaiJai.co ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการค้นหาเกี่ยวกับบ้านพักผู้สูงอายุที่มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วย สำหรับครอบครัวที่อาจต้องการการดูแลแบบเต็มเวลาหรือต้องการสถานที่ที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์พร้อม
แหล่งอ้างอิง
- https://www.bkksleepcenter.com/early-morning-headache/
- https://www.vitalsleepclinic.com/sleep-test-not-getting-enough-sleep-healthcare/
- https://www.medicalnewstoday.com/articles/320133#dehydration
- https://www.sleepfoundation.org/physical-health/morning-headaches#references-80117
- https://health.clevelandclinic.org/waking-up-with-a-headache