ในวงการแพทย์และการดูแลสุขภาพ สายสวนปัสสาวะ เป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาโรคและสุขภาพ หากแต่อุปกรณ์ชนิดนี้ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงและความท้าทายในการใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการรักษาสุขอนามัยและการป้องกันการติดเชื้อระหว่างใช้ แล้วสายสวนปัสสาวะจำเป็นต้องใช้งานในสถานการณ์ไหน มีความสำคัญอย่างไร? บทความนี้ Saijai.co จะพาคุณเจาะลึกทุกแง่มุมของการใช้สายสวนปัสสาวะ เพื่อให้คุณหรือคนที่คุณดูแลสามารถใส่สายสวนปัสสาวะได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด!
สายสวนปัสสาวะ คืออะไร?
สายสวนปัสสาวะ (Urinary Catheters) คือ ท่อกลวงสำหรับใช้ระบายของเหลวของจากกระเพาะปัสสาวะ โดยจะมีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก มีความยืดหยุ่นสูง ส่วนใหญ่แล้วจะต้องทำการใส่โดยแพทย์หรือพยาบาล มักใช้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาในการปัสสาวะหรือเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการปัสสาวะ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่าเราต้องใส่สายสวนปัสสาวะนานแค่ไหน หรือต้องใส่ถาวรหรือไม่
เมื่อเราใส่สายสวนปัสสาวะเข้าไปเรียบร้อยแล้ว ปัสสาวะภายในกระเพาะปัสสาวะจะถูกระบายผ่านท่อออกมาอยู่ที่ถุงเก็บปัสสาวะด้านนอกร่างกาย เมื่อเต็มบรรจุแล้ว พยาบาลจะทำการเปลี่ยนถุงเก็บปัสสาวะนี้ให้ แต่ผู้ป่วยหรือครอบครัวที่มีผู้ป่วยใส่สายสวนปัสสาวะก็สามารถเรียนรู้วิธีการเปลี่ยนถุงด้วยตัวเองได้เช่นกัน
สายสวนปัสสาวะ มีทั้งหมดกี่ประเภท?
สายสวนปัสสาวะ โดยทั่วไปแล้ว สายสวนปัสสาวะมีหลายประเภท แต่ที่นิยมใช้มีทั้งหมด 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ สายสวนปัสสาวะแบบชั่วคราว สายสวนปัสสาวะแบบคาสาย สายสวนปัสสาวะแบบเหนือหัวหน่าว และสายสวนปัสสาวะแบบถุงยางอนามัย ซึ่งจะมีจุดประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับโรคหรืออาการที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ว่าต้องการการรักษาแบบไหน โดยจะมีรายละเอียดเบื้องต้นดังนี้
1. สายสวนปัสสาวะแบบชั่วคราว (Intermittent Catheter)
เป็นสายสวนปัสสาวะที่มีลักษณะเป็นท่อยางพลาสติก มีความยืดหยุ่นสูงและมีขนาดค่อนข้างเล็ก ถูกออกแบบมาเพื่อนำไปใช้แล้วทิ้งทันที ไม่สามารถใช้ซ้ำต่อได้ เนื่องจากมีจุดประสงค์ในการใช้แค่ชั่วคราว สามารถใส่สายสวนปัสสาวะได้ด้วยตนเองที่บ้าน มีความเสี่ยงในการติดเชื้อน้อยกว่าสายสวนปัสสาวะแบบคาตลอดชีพ แต่ก็มีข้อเสียคือ อาจจะรู้สึกเจ็บปวดเมื่อต้องใส่สายสวนปัสสาวะเอง และต้องมีการทำความสะอาดให้ดีทุกครั้งหลังใช้งาน ไม่เช่นนั้นก็อาจเสี่ยงติดเชื้อได้อยู่ดี
2. สายสวนปัสสาวะแบบคาตลอดชีพ (Indwelling Catheter)
เป็นสายสวนปัสสาวะที่มีลักษณะเป็นบอลลูนอยู่ส่วนปลายที่สอดเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ เพื่อให้ไม่เกิดการหลุดออกมาจากท่อปัสสาวะ ท่อจะเชื่อมต่อระบายของเหลวออกมาอีกปลายทางหนึ่งซึ่งต่อกับถุงเก็บปัสสาวะด้านนอกร่างกาย เหมาะกับผู้ป่วยที่ต้องปัสสาวะอย่างต่อเนื่องหรือไม่สามารถปัสสาวะได้เอง โดยไม่ต้องใส่หรือถอดสายปัสสาวะบ่อยๆ แต่หากใส่สายสวนปัสสาวะประเภทนี้แล้ว จะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการระคายเคือง อักเสบ หรือเกิดการบาดเจ็บภายใน เพราะอาจจะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
3. สายสวนปัสสาวะแบบเหนือหัวหน่าว (Suprapubic Catheter)
เป็นสายสวนปัสสาวะที่ถูกแบบออกมาเป็นท่อที่มีความยืดหยุ่นเช่นกัน แต่จะมีการสอดท่อผ่านบริเวณเหนือเนินหัวหน่าวเจาะเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะโดยตรง และระบายปัสสาวะออกมายังถุงเก็บปัสสาวะ โดยแพทย์จะทำการเปิดแผลเพื่อต่อท่อเข้าไปให้ เหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถใส่สายสวนปัสสาวะทางท่อปัสสาวะตามปกติได้ เหมาะกับผู้ป่วยที่ต้องใช้สายสวนปัสสาวะในระยะยาว และผู้ป่วยใส่สายสวนปัสสาวะ ผู้หญิงเช่นกัน โดยจะช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อได้ดีกว่าแบบคาตลอดชีพ ทว่าจะต้องผ่านการผ่าตัดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน จึงอาจจะมีการระคายเคืองบริเวณที่สอดใส่สายปัสสาวะไประยะหนึ่ง
4. สายสวนปัสสาวะแบบถุงยางอนามัย (Condom Catheter)
เป็นสายสวนปัสสาวะที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับผู้ป่วยเพศชายโดยเฉพาะ โดยจะมีลักษณะคล้ายปลอกถุงยางอนามัย มีท่อเชื่อมต่อจากส่วนปลายของถุงยางไปยังถุงเก็บปัสสาวะ เหมาะกับผู้ป่วยที่สามารถปัสสาวะได้เอง แต่ขาดความสามารถในการควบคุมการขับถ่าย ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้เลย ข้อดีของสายสวนปัสสาวะแบบถุงยางอนามัยคือ ไม่ต้องมีการสอดท่อเข้าไปในร่างกาย ทำให้ใช้งานง่ายและรักษาความสะอาดง่าย แต่ก็อาจจะมีการหลุดหรือรั่วไหลได้ง่ายกว่าแบบอื่น ทำให้เลอะเทอะเสื้อผ้าได้ รวมถึงผู้ป่วยใส่สายสวนปัสสาวะ ผู้หญิง ไม่สามารถเลือกสายสวนปัสสาวะประเภทนี้ได้
ทำไมเราต้องใช้สายสวนปัสสาวะ?
การใช้สายสวนปัสสาวะมีความจำเป็นในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถขับถ่ายปัสสาวะได้ตามปกติ เช่น ในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการทำงานของกระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะ สายสวนปัสสาวะช่วยระบายปัสสาวะออกจากร่างกายและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการคั่งค้างของปัสสาวะ นอกจากนี้ ยังช่วยบรรเทาอาการปวดและความไม่สบายในผู้ป่วยที่มีการขับถ่ายปัสสาวะลำบาก โดยโรคหรืออาการที่ทำให้จำเป็นต้องใช้สายสวนปัสสาวะมีหลายกรณี เช่น
- ผู้ป่วยที่มีภาวะอุดกั้นของท่อปัสสาวะ เช่น มีแผลในทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต หรือมีก้อนเนื้อ
- ผู้ป่วยที่มีบาดเจ็บที่ไขสันหลัง ทำให้ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะได้
- ผู้ป่วยที่มีอาการกระเพาะปัสสาวะอ่อนแรง ทำให้ปัสสาวะลำบาก
- ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดบริเวณช่องท้องหรือกระเพาะปัสสาวะที่ต้องการการดูแลพิเศษ
- ผู้ป่วยที่มีภาวะเบาหวานหรือโรคไตที่มีผลต่อการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะ
- ใช้ระหว่างการทำคลอดกรณีฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง ทำให้ปัสสาวะผิดปกติระหว่างคลอดได้
- ผู้ป่วยที่ต้องรับยาเคมีบำบัดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
- ผู้ที่มีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และต้องการหาวิธีรักษา
ขั้นตอนการใส่สายสวนปัสสาวะ ต้องทำอย่างไร?
การใส่สายสวนปัสสาวะจะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังและถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อจนลุกลามไปกระตุ้นการเกิดโรคหรืออาการแทรกซ้อนอื่นๆ โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอาการรุนแรงได้ง่าย หรือแม้แต่ผู้ป่วยติดเตียงที่มีโอกาสติดเชื้อได้สูงกว่าปกติ โดยขั้นตอนการใส่สายสวนปัสสาวะด้วยตัวเองอย่างถูกต้องมีดังนี้
- เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม ได้แก่ สายสวนปัสสาวะ, ถุงรองรับปัสสาวะ, น้ำยาฆ่าเชื้อ, สำลี, ถุงมือปลอดเชื้อ และสารหล่อลื่น
- ทำความสะอาดมือและสวมถุงมือปลอดเชื้อ
- ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศภายนอกด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
- ภาชนะรองรับปัสสาวะ วางไว้บริเวณปลายของสายสวนปัสสาวะ
- ใช้สารหล่อลื่นทาบริเวณปลายสายสวนปัสสาวะ
- สอดสายสวนเข้าไปในท่อปัสสาวะอย่างนุ่มนวล จนกระทั่งมีปัสสาวะไหลออกมา
- สอดสายต่อไปอีกเล็กน้อยเพื่อให้แน่ใจว่าปลายสายอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ
- เชื่อมต่อสายสวนกับถุงรองรับปัสสาวะ (Urinary bag)
- จัดตำแหน่งถุงรองรับปัสสาวะให้อยู่ต่ำกว่ากระเพาะปัสสาวะ ไม่วางติดกับพื้น
- ยึดสายสวนให้อยู่กับที่เพื่อป้องกันการเลื่อนหลุด
- ทำความสะอาดเครื่องมือ และจัดเสื้อผ้าผู้ป่วยให้เรียบร้อย
ขั้นตอนของการใส่สายสวนปัสสาวะนั้นมีรายละเอียดเล็กน้อยอีกมาก ซึ่งต้องมาจากคำแนะนำของแพทย์หรือพยาบาลผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งของท่อปัสสาวะ ต้องสอดบริเวณใด หรือจะต้องเตรียมอุปกรณ์อื่น ๆ เพิ่มเติมหรือไม่ ขั้นตอนดังกล่าวที่ Saijai.co ยกมาเป็นเพียงวิธีเบื้องต้นเท่านั้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับข้อปฏิบัติและรายละเอียดที่ถูกต้อง
การดูแลผู้ป่วยที่ใส่สายสวนปัสสาวะ
การใส่สายสวนปัสสาวะนั้นเป็นวิธีการทางการแพทย์ที่ค่อนข้างมีความเสี่ยงสูง ดังนั้น ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยจะต้องทำความเข้าใจถึงขั้นตอนและข้อปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยใส่สายสวนปัสสาวะอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุซึ่งมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายและอาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรง เรามาดูกันว่าการดูแลผู้ป่วยใส่สายสวนปัสสาวะมีอะไรบ้าง
- ทำความสะอาดบริเวณรอบท่อสายสวนปัสสาวะเป็นประจำ ทำความสะอาดบริเวณรอบท่อสายสวนและอวัยวะเพศอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งด้วยน้ำอุ่นและสบู่ที่อ่อนโยน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเมื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ
- ตรวจสอบการไหลของปัสสาวะ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าปัสสาวะไหลลงถุงเก็บอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีการอุดตันของท่อหรือการหักงอของสายสวน ซึ่งอาจจะทำให้ปัสสาวะไหลย้อนกลับหรือเกิดการติดเชื้อได้
- ทำความสะอาดและเปลี่ยนถุงเก็บปัสสาวะอย่างสม่ำเสมอ ถุงปัสสาวะควรถูกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ เทปัสสาวะออกจากถุงรองรับเมื่อมีปริมาณ 2/3 ของถุง หรืออย่างน้อยทุก 8 ชั่วโมง หรือตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรคและการติดเชื้อจากแบคทีเรียในถุงเก็บปัสสาวะ
- ตรวจสอบสภาพของปัสสาวะ ควรตรวจสอบสี กลิ่น และปริมาณของปัสสาวะอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าปัสสาวะมีสีขุ่น มีเลือดปน หรือมีกลิ่นผิดปกติ ควรรีบแจ้งแพทย์เพราะอาจเกิดความผิดปกติภายในร่างกาย เกิดแผล หรือติดเชื้อได้
- สังเกตอาการของผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอาการที่อาจบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อ เช่น ไข้ หนาวสั่น หรือรู้สึกเจ็บบริเวณใส่สายสวน หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
- ระวังไม่ให้สายสวนตึงหรือเคลื่อนไหวบ่อย ตรวจสอบการวางตำแหน่งของสายสวนปัสสาวะให้เรียบร้อยเสมอเพื่อป้องกันการดึงหรือเคลื่อนของสายสวนที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือหลุดออกมาจากตำแหน่งที่ถูกต้องได้
- ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม การดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมช่วยในการขับถ่ายของเสียและป้องกันการสะสมของเชื้อโรคในกระเพาะปัสสาวะ
ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนจากการใช้สายสวนปัสสาวะ
การใส่สายสวนปัสสาวะเป็นวิธีการที่ช่วยระบายปัสสาวะในผู้ป่วยที่มีความจำเป็น แต่ก็มีความเสี่ยงและอาการแทรกซ้อนที่ควรระมัดระวังเช่นกัน การรู้เท่าทันและระมัดระวังความเสี่ยงเหล่านี้จะช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นและส่งเสริมสุขภาพที่ดีของผู้ป่วยได้ มาดูกันเลยว่าการใส่สายสวนปัสสาวะอาจก่อให้เกิดความผิดปกติแบบไหนบ้าง
- การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection – UTI) หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่มีการใส่สายสวนเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุด
- การอุดตันของสายสวน เกิดจากการสะสมของคราบปัสสาวะหรือการขยับของสายสวนอาจทำให้เกิดการอุดตัน ท่อมีรอยพับหรือรอยบีบ ทำให้ปัสสาวะไม่สามารถไหลออกมาได้ตามปกติ
- การบาดเจ็บที่ท่อปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะ เกิดจากการใส่หรือถอดสายสวนปัสสาวะอย่างไม่ระมัดระวัง อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อท่อปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะ เช่น การฉีกขาดหรือเลือดออก
- การเกิดแผลกดทับ สายสวนที่ถูกทิ้งไว้นานอาจทำให้เกิดแผลกดทับบริเวณที่ท่อสัมผัสกับร่างกาย เช่น บริเวณขาหนีบหรืออวัยวะเพศ
- การเกิดภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับ (Reflux) มักเกิดในกรณีที่ถุงปัสสาวะถูกยกสูงเกินไป อาจทำให้ปัสสาวะไหลย้อนกลับเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อภายในกระเพาะปัสสาวะได้
- การแพ้หรือระคายเคืองจากวัสดุของสายสวน ผู้ป่วยบางคนอาจแพ้หรือระคายเคืองจากวัสดุที่ใช้ทำสายสวน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคัน แดง หรือแผลอักเสบ กรณีนี้มักจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน แนะนำให้รีบแจ้งแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการ
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการใช้สายสวนปัสสาวะ
การใช้สายสวนปัสสาวะเป็นเรื่องที่ทำให้หลายคนรู้สึกกังวลและมีคำถามเกี่ยวกับวิธีการใช้ ความปลอดภัย และผลข้างเคียงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับสายสวนปัสสาวะอย่างถูกต้องจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวรู้สึกมั่นใจมากขึ้นในการดูแลรักษาและใช้งานสายสวนปัสสาวะอย่างเหมาะสม มาดูกันเลยว่า Saijai.co พกคำถามที่น่าสนใจอะไรมาบ้าง!
- การใส่สายสวนปัสสาวะจะทำให้เจ็บไหม?
ในการใส่สายสวนปัสสาวะครั้งแรก ผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่สบายหรือเจ็บเล็กน้อยระหว่างสอดสายสวนเข้าไปผ่านท่อเดินปัสสาวะ แต่หลังจากที่สายสวนถูกใส่เข้าไปเรียบร้อยแล้ว อาการเจ็บควรจะลดลง หากรู้สึกเจ็บมากหรือนานเกินไป ควรปรึกษาแพทย์ทันที เพราะอาจจะเกิดแผลขึ้นได้
- จะต้องเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะบ่อยแค่ไหน?
การเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะขึ้นอยู่กับประเภทของสายสวน โดยทั่วไป สายสวนแบบถาวรควรเปลี่ยนทุก 2-4 สัปดาห์ หรือเร็วกว่านั้นหากมีการติดเชื้อหรืออาการไม่พึงประสงค์ แต่สำหรับสายสวนปัสสาวะแบบอื่นๆ มักจะเป็นแบบใช้แล้วทิ้ง แนะนำให้ยึดคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก
- ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำหรือว่ายน้ำได้หรือไม่ ในขณะที่ใช้สายสวนปัสสาวะอยู่?
ผู้ป่วยที่ใส่สายสวนปัสสาวะอยู่กับตัว สามารถอาบน้ำได้ แต่ควรระวังไม่ให้ถุงปัสสาวะเปียกและควรทำความสะอาดบริเวณที่ใส่สายสวนหลังจากอาบน้ำ ส่วนการว่ายน้ำไม่แนะนำเพราะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อจากแบคทีเรียหรือสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ ในน้ำ
- ถ้าสายสวนปัสสาวะหลุดออกมาเอง ทำอย่างไรดี?
หากสายสวนปัสสาวะหลุดออกมาเอง ควรแจ้งให้แพทย์หรือผู้ดูแลสุขภาพทราบทันทีเพื่อให้ทำการใส่สายสวนใหม่ และไม่ควรพยายามใส่สายสวนด้วยตนเอง เพราะอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อ เป็นแผล หรืออักเสบภายในท่อเดินปัสสาวะได้
สรุป
การใส่สายสวนปัสสาวะ เป็นวิธีการทางการแพทย์ที่ช่วยในการรักษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลากหลายประเภท แต่ก็มาพร้อมกับความท้าทายในการดูแลและป้องกันภาวะแทรกซ้อน เพราะการใส่สายสวนปัสสาวะอาจทำให้เกิดแผล เกิดการเสียดสี อักเสบ หรือติดเชื้อได้ ดังนั้น การเข้าใจวิธีการใช้งานที่ถูกต้อง การรักษาสุขอนามัย และการสังเกตอาการผิดปกติอย่างเคร่งครัด จึงเป็นกุญแจสำคัญในการใช้สายสวนปัสสาวะอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
หากคุณกำลังมองหาบ้านพักผู้สูงอายุหรือบริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านสำหรับผู้ที่ต้องใช้สายสวนปัสสาวะ Saijai.co พร้อมให้คำแนะนำและช่วยคุณเลือกบริการที่เหมาะสมที่สุด เพราะเราเข้าใจความต้องการเฉพาะของผู้สูงอายุแต่ละท่าน และพร้อมสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ
เพราะเราเชื่อว่าผู้สูงอายุทุกท่านสมควรได้รับการดูแลด้วยความเอาใจใส่ เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีและมีความสุขในการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน