ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว และหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญคือการดูแล “ผู้ป่วยติดเตียง” ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากสถิติพบว่า ในจำนวนประชากรผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคน มีผู้ป่วยติดเตียงประมาณร้อยละ 1.5 และคาดการณ์ว่าในปี 2574 อาจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3 หรือประมาณ 4 แสนคนต่อปี สถานการณ์นี้ทำให้การเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อที่เราจะสามารถรับมือกับการดูแลผู้ป่วยติดเตียงได้อย่างถูกต้อง ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย
ผู้ป่วยติดเตียงคืออะไร?
ผู้ป่วยติดเตียง (Bedridden) คือ บุคคลที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ตามปกติ แม้จะเป็นการทำกิจวัตรประจำวันก็ตาม โดยผู้ป่วยติดเตียงจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวอยู่บนเตียงเป็นระยะเวลานาน ต้องพึ่งพาการดูแลจากผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว บุคลากรทางการแพทย์ หรือผู้ชำนาญการที่รับดูแลผู้ป่วยติดเตียง
โดยทั่วไปแล้ว สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยต้องนอนติดเตียงนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายสาเหตุ โดยเฉพาะกรณีที่เกิดจากโรคร้ายแรงต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง พาร์กินสัน อัมพฤกษ์-อัมพาต หรือโรคร้ายแรงอื่น ๆ ที่เข้าสู่ขั้นระยะสุดท้าย ไปจนถึงการประสบอุบัติเหตุรุนแรงจนทำให้ต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือเคลื่อนไหวเองไม่ได้
ผู้ป่วยติดเตียงเหล่านี้ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด และต้องเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างพักฟื้น ซึ่งก็มีความเสี่ยงอยู่หลายประการ โดยเฉพาะการเกิดแผลกดทับในผู้ป่วยติดเตียงที่มักพบได้บ่อยครั้งและทำให้เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย

ผู้ป่วยติดเตียง มีกี่ประเภท?
การแบ่งประเภทผู้ป่วยติดเตียงมีความสำคัญต่อการดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยให้เราเข้าใจระดับความเข้มงวดในการดูแลรักษาแล้ว ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเราวางแผนการดูแลได้อย่างเหมาะสมด้วย โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก
1. กลุ่มสีเขียว (ระดับต้น)
- สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้บ้าง ยังสามารถขยับแขนขา พลิกตัว หรือลุกขึ้นนั่งได้ด้วยตนเอง แต่อาจต้องการความช่วยเหลือในการทรงตัวหรือการเคลื่อนที่อย่างมั่นคง
- ช่วยเหลือตัวเองได้ในบางกรณี ยกตัวอย่างเช่น สามารถรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือทำกิจวัตรส่วนตัวบางอย่างได้ แต่อาจต้องการความช่วยเหลือในกรณีที่กิจวัตรมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น การอาบน้ำ การแต่งตัว เป็นต้น
- เสี่ยงต่อการหกล้มและอุบัติเหตุได้ค่อนข้างง่าย จึงต้องจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย และอาจต้องมีผู้ดูแลคอยระวังขณะเคลื่อนไหว หรืออาจจจะต้องมีอุปกรณ์ผู้ป่วยติดเตียงคอยประคับประคองการเคลื่อนไหว
2. กลุ่มสีเหลือง (ระดับกลาง)
- มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยมักมีปัญหาเรื่องการควบคุมกล้ามเนื้อ ทำให้การเคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่วและต้องการความช่วยเหลือจากผู้ดูแลมากกว่ากลุ่มสีเขียว
- เคลื่อนไหวร่างกายได้ไม่มาก สามารถขยับแขนขาได้เล็กน้อย แต่ไม่สามารถพลิกตัวหรือลุกนั่งได้ด้วยตนเอง
- ต้องการความช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวันส่วนใหญ่ ไม่สามารถรับประทานอาหาร อาบน้ำ หรือเข้าห้องน้ำได้ด้วยตนเอง ต้องมีคนคอยดูแลการเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด
- มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับสูง ต้องได้รับการพลิกตัวและเปลี่ยนท่าทางอย่างสม่ำเสมอทุก 2-3 ชั่วโมง
3. กลุ่มสีแดง (ระดับรุนแรง)
- ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้เลย ผู้ป่วยอยู่ในภาวะอัมพาตหรือไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ ต้องนอนติดเตียงตลอดเวลา
- ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง จำเป็นต้องมีผู้ดูแลคอยเฝ้าระวังและให้การช่วยเหลือตลอดเวลาอย่างใกล้ชิดไม่ขาด
- เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง เช่น ปอดอักเสบ ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
- เหมาะสำหรับการดูแลในศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงมากกว่า เนื่องจากมีโอกาสติดเชื้อสูง จึงต้องการการดูแลจากทีมแพทย์และพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะมากกว่า
การดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่ถูกต้อง ทำอย่างไรบ้าง?
การดูแลผู้ป่วยติดเตียงต้องใส่ใจในหลายด้าน โดยเฉพาะสำหรับกรณีผู้ป่วยติดเตียงไม่มีคนดูแลที่ต้องการการเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย มาดูกันว่ามีวิธีการดูแลผู้ป่วยติดเตียงเบื้องต้นอย่างไรบ้าง
1. การดูแลสุขอนามัยของร่างกาย
- คอยทำความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ควรเช็ดตัวหรืออาบน้ำให้ผู้ป่วยทุกวัน โดยใช้น้ำอุ่นและสบู่อ่อน ระวังไม่ให้น้ำเข้าตาหรือจมูก และเช็ดตัวให้แห้งสนิทเพื่อป้องกันการหมักหมมอับชื้น
- เปลี่ยนผ้าปูที่นอนและเสื้อผ้าเป็นประจำ ควรเปลี่ยนผ้าปูที่นอนและเสื้อผ้าทุกครั้งที่เปียกชื้นหรือสกปรก เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับและการติดเชื้อ
- ดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน ทำความสะอาดฟันและช่องปากอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้น้ำยาบ้วนปากที่เหมาะสมกับสุขภาพของผู้ป่วย และสังเกตความผิดปกติในช่องปากอย่างเคร่งครัด
- ระวังการเกิดแผลกดทับเสมอ คอยหมั่นตรวจสอบร่างกายและผิวหนังบริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับของผู้ป่วยทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณที่มีกระดูกชิดกับผิวหนังมาก เช่น ก้นกบ ส้นเท้า และสะโพก
2. ดูแลโภชนาการของผู้ป่วย
- ดูแลและจัดเมนูอาหารผู้ป่วยติดเตียงให้เหมาะสม อาหารทุกเมนูควรมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เน้นโปรตีนสูงเพื่อป้องกันการสูญเสียกล้ามเนื้อ และช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย
- เลือกอาหารที่ย่อยง่าย อ่อนนุ่ม เคี้ยวง่าย หรืออาจจะเลือกเมนูแบบบดละเอียดตามความเหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารที่แข็งหรือเหนียวเกินไป เพราะมีโอกาสย่อยยาก ทำให้ผู้ป่วยท้องอืดหรือไม่สบายตัวได้
- ระวังผู้ป่วยสำลักอาหาร ผู้ดูแลจะต้องจัดท่าให้ผู้ป่วยนั่งตัวตรงขณะรับประทานอาหาร และให้อาหารช้า ๆ ทีละคำแบบพอดีคำ ไม่ใหญ่เกินไปเพื่อให้เคี้ยวได้ง่าย ไม่เสี่ยงสำลัก
- ให้ผู้ป่วยได้ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ โดยให้น้ำดื่มสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว หรือตามที่แพทย์แนะนำ
3. ดูแลสภาพแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วยให้เหมาะสม
- เลือกใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับผู้ป่วยติดเตียง เช่น เตียงที่ปรับระดับได้ ที่นอนลมหรือที่นอนป้องกันแผลกดทับ รวมถึงอุปกรณ์ช่วยเหลือในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ราวกั้นเตียง เครื่องดูดเสมหะ ซึ่งจะช่วยให้การดูแลผู้ป่วยมีความสะดวกและปลอดภัยต่อร่างกายผู้ป่วยมากขึ้น
- จัดห้องให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก ด้วยการติดตั้งพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศที่เหมาะสม เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทสม่ำเสมอ และหมั่นทำความสะอาดห้องเพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรค ฝุ่นละออง และกลิ่นอับ
- ควบคุมอุณหภูมิห้องให้เหมาะสม แนะนำให้อยู่ระหว่าง 25-27 องศาเซลเซียส ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป และควบคุมความชื้นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วย เพื่อป้องกันปัญหาการอับชื้นของผิวหนังใต้ร่มผ้าและช่วยป้องกันการติดเชื้อหรืออักเสบในระบบทางเดินหายใจ
- จัดวางสิ่งของให้เป็นระเบียบ โดยจัดวางเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ให้กีดขวางทางเดิน มีแสงสว่างเพียงพอ และติดตั้งระบบกริ่งเรียกฉุกเฉินที่ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงได้ง่าย ควรจัดวางของใช้จำเป็นไว้ใกล้มือผู้ป่วย และติดตั้งราวจับในจุดที่จำเป็น เพื่อให้มีความปลอดภัยมากขึ้น
4. ดูแลการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
- พลิกตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันแผลกดทับและกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ควรใช้เทคนิคที่ถูกต้องและใช้หมอนหรืออุปกรณ์รองรับตามความเหมาะสม โดยจัดท่านอนที่หลากหลาย เช่น นอนตะแคง 30 องศา นอนคว่ำ (หากทำได้) และนอนหงาย สลับกันไป
- ทำกายภาพบำบัดตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและป้องกันข้อติด กิจกรรมอาจรวมถึงการบริหารข้อต่อ การนวดกระตุ้นกล้ามเนื้อ การฝึกการทรงตัว และการฝึกการหายใจ
- จดบันทึกพัฒนาการของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยบันทึกความก้าวหน้าในการทำกายภาพบำบัด สังเกตการตอบสนองของร่างกาย และรายงานให้แพทย์ทราบเพื่อปรับแผนการรักษาให้เหมาะสม
5. ใส่ใจสุขภาพจิตและอารมณ์ของผู้ป่วยด้วย
- พูดคุยและให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอ ด้วยความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ ใช้น้ำเสียงที่อบอุ่น พูดคุยเรื่องที่ผู้ป่วยสนใจ แบ่งปันข่าวสารและเรื่องราวเชิงบวก เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกมีกำลังใจในการต่อสู้กับโรคหรืออาการที่เป็นอยู่
- สร้างโอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นให้ผู้ป่วย โดยเปิดโอกาสให้พบปะญาติมิตร ได้พูดคุยทางโทรศัพท์หรือวิดีโอคอลกับคนที่รัก รวมถึงการพาออกไปเดินเล่นเพื่อสูดอากาศข้างนอกห้องบ้างหากสภาพร่างกายผู้ป่วยติดเตียงเอื้ออำนวย
- เสริมสร้างคุณค่าทางชีวิตให้กับผู้ป่วย ด้วยการให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลตนเอง ไม่บังคับหรือตัดสินใจเองโดยไม่สอบถามความต้องการของผู้ป่วย รับฟังความคิดเห็น และชื่นชมเมื่อมีพัฒนาการที่ดีขึ้น
- ไม่สร้างความเครียดและความวิตกกังวลให้ผู้ป่วย โดยสังเกตอาการซึมเศร้าหรือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ สอนเทคนิคผ่อนคลายความเครียด เช่น การหายใจลึก ๆ การทำสมาธิ การฟังเพลงผ่อนคลาย หรือการทำกิจกรรมที่ช่วยให้จิตใจสงบ
สรุปบทความ
การดูแลผู้ป่วยติดเตียงเป็นภารกิจที่ต้องอาศัยความเข้าใจ ความอดทน และการเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ การรู้จักประเภทของผู้ป่วยและวิธีการดูแลที่ถูกต้องจะช่วยให้ผู้ดูแลสามารถวางแผนการดูแลได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ หากรู้สึกว่าการดูแลเป็นภาระที่หนักเกินไป อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหรือศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่มีความพร้อม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างถูกต้องที่สุด
หากคุณกำลังมองหาความช่วยเหลือเพิ่มเติมหรือต้องการข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์ดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่มีคุณภาพ SaiJai.co เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถช่วยคุณได้! ที่นี่คุณสามารถค้นหาและเปรียบเทียบศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ได้มาตรฐาน รวมถึงบริการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน เพื่อให้คุณมั่นใจว่าคนที่คุณรักจะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด
เพราะสุดท้าย การดูแลผู้ป่วยติดเตียง เราไม่เพียงรักษาร่างกาย แต่ต้องเยียวยาหัวใจด้วยความรักและความเข้าใจ