ศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียง เป็นสถานที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้หรือสามารถช่วยเหลือตนเองได้น้อย โดยมีบุคลากรทางการแพทย์คอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมงซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวที่มีผู้ป่วยติดเตียงได้มาก แต่ทั้งนี้ การจะใช้บริการศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงจะต้องอาศัยการเตรียมตัวก่อน ซึ่งจะมีรายละเอียดต่างๆ มากมายที่ต้องรู้! ในบทความนี้ Saijai ขอชวนมาทำความรู้กับศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ว่าเป็นอย่างไร มีกี่ประเภท พร้อมการเตรียมตัวสำหรับใช้บริการศูนย์อย่างเหมาะสม และรายละเอียดอื่น ๆ ที่จำเป็น มาดูกันเลย!
ศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงคืออะไร?
ศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียง คือ สถานที่สำหรับให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียงโดยเฉพาะ ซึ่งมักจะเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่จำเป็นต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ก็ไม่สามารถให้การดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้านได้อย่างทั่วถึงด้วยข้อจำกัดหลายอย่างที่ไม่สามารถมอบคุณภาพชีวิตที่ดีเพียงพอต่อผู้ป่วย ศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงจึงเปรียบเสมือนบ้านที่มีพยาบาลวิชาชีพคอยดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมงนั่นเอง
ทั้งนี้ ศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงบางที่อาจจะมีการจัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนกับภายในโรงพยาบาลจริงๆ ก็ได้ บางที่อาจจะมีพยาบาลหรือแพทย์เฉพาะทางที่ให้การดูแลครอบคลุมด้านต่าง ๆ นอกเหนือจากชีวิตประจำวัน ศูนย์ดูแลผู้ป่วยจะมีทั้งบริการดูแลระยะยาวและระยะสั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัว และเงื่อนไขของศูนย์นั้นๆ
ศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงมีกี่ประเภท แบบไหนบ้าง?
ศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงในประเทศไทยนั้นมีอยู่ด้วยกันหลากหลายรูปแบบ แต่จะจำแนกจากการให้บริการภายในศูนย์ว่ามีความเฉพาะเจาะจงด้านใด โดยจะขอยกตัวอย่างประเภทศูนย์ดูแลออกเป็น 4 แบบ ได้แก่
- ศูนย์ดูแลระยะสั้น (Short-term Care Facilities) เป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องการการดูแลหลังออกจากโรงพยาบาล ต้องการการฟื้นฟูในระยะเวลาสั้นๆ แล้วจึงสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ เช่น ผ่านการผ่าตัดบางอย่างมา หรือต้องการฟื้นตัวจากอุบัติเหตุ เป็นต้น
- ศูนย์ดูแลระยะยาว (Long-term Care Facilities) เป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือช่วยเหลือตัวเองได้น้อยมากๆ อย่างกลุ่มผู้ป่วยอัมพาต อัมพาตครึ่งซีก อัมพฤกษ์ หรืออื่นๆ ซึ่งไม่สามารถบำบัดเพื่อเคลื่อนไหวได้ง่าย
- ศูนย์ดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care Center) ส่วนใหญ่จะเป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือเป็นผู้ป่วยโรคร้ายแรงที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จึงต้องเน้นการดูแลเพื่อบรรเทาอาการและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
- ศูนย์ดูแลเฉพาะทาง (Specialized Care Centers) เป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่ให้การดูแลกลุ่มผู้ป่วยโรคเฉพาะทาง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญการดูแลผู้ป่วยเฉพาะทาง เช่น ศูนย์ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
ทั้งนี้ ศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงแต่ละประเภทอาจจะให้บริการรวมกัน เช่น ศูนย์ให้บริการทั้งดูแลผู้ป่วยระยะสั้นและระยะยาว หรือสามารถให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียงโรคอัลไซเมอร์ได้ แม้จะไม่ใช่ศูนย์ดูแลเฉพาะทาง เป็นต้น แนะนำให้ติดต่อสอบถามรายละเอียดโดยตรงกับศูนย์ที่สนใจจะได้คำตอบที่ชัดเจนกว่า
บริการที่มีในศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียง
ศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงนั้นมีบริการที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งการดูแลด้านกายภาพและจิตใจ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละที่ แต่โดยหลักๆ แล้ว ศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงจะให้บริการดังต่อไปนี้
- การดูแลการใช้ชีวิตประจำวันเบื้องต้น เช่น การอาบน้ำ การแต่งตัว การรับประทานอาหาร การเข้าใช้ห้องน้ำ เป็นต้น
- การดูแลทางการแพทย์ เช่น การให้ยา การทานยาประจำตัว การทำแผล และการติดตามอาการ
- การทำกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด เช่น การออกกำลังกาย การเข้าสังคม การทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ
- การดูแลด้านโภชนาการ หรือการจัดสรรอาหารแต่ละมื้อให้เหมาะสมกับร่างกายของผู้ป่วย
ข้อดีของการใช้บริการศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียง
การใช้บริการศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงมีข้อดีหลายประการทั้งสำหรับตัวผู้ป่วยเองและครอบครัว เพราะศูนย์จะให้การดูแลทางการแพทย์โดยพยาบาลวิชาชีพตลอด 24 ชั่วโมง มีการติดตามอาการ และให้การรักษาอย่างสม่ำเสมอ โดยจะมีข้อดีหลักๆ ของการใช้บริการศูนย์ ดังนี้
- ได้รับการดูแลทางการแพทย์อย่างมืออาชีพตลอด 24 ชั่วโมง
- ลดภาระของครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน
- มีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ครบครัน
- มีกิจกรรมฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจอย่างเต็มที่
- เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีและมีความสุขมากขึ้น
- มีการดูแลด้านโภชนาการที่ถูกต้อง
- สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย
- สามารถติดตามอาการและให้การรักษาได้อย่างสม่ำเสมอ
- ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
ก่อนเข้าศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงต้องเตรียมตัวอย่างไร?
การเตรียมตัวก่อนพาผู้ป่วยไปใช้บริการยังศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้สามารถดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น ทั้งยังช่วยให้ทีมแพทย์และพยาบาลสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม ช่วยให้ผู้ป่วยปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ดี และยังช่วยลดความกังวลและความเครียดที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตัวผู้ป่วยและครอบครัวด้วย แนะนำให้เริ่มเตรียมตัวดังต่อไปนี้
- รวบรวมเอกสารทางการแพทย์ทั้งหมด เช่น ประวัติการรักษา ผลการตรวจ และรายการยาที่ผู้ป่วยใช้อยู่แบบเป็นปัจจุบัน บัตรประกันสุขภาพหรือประกันสังคม เพื่อให้แพทย์สามารถวางแผนการดูแลได้อย่างถูกต้อง
- เตรียมของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น เช่น เสื้อผ้า ของใช้ในห้องน้ำ อุปกรณ์ทำความสะอาดส่วนตัว และอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยต่างๆ ซึ่งทางศูนย์อาจไม่มีให้บริการ (อาจสอบถามเพิ่มเติมกับทางศูนย์ก่อนว่ามีให้หรือไม่ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายอาจจะแตกต่างกันไป)
- จัดทำรายการข้อมูลติดต่อคนในครอบครัว เช่น ญาติ แพทย์ประจำตัว หรือผู้ใกล้ชิด เผื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่จะได้สามารถติดต่อครอบครัวผู้ป่วยได้
- สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับระเบียบและกฎของศูนย์ เช่น เวลาเยี่ยม สิ่งของที่อนุญาตให้นำเข้า
- ปรึกษากับทีมแพทย์เกี่ยวกับแผนการดูแลและการรักษาที่จะได้รับในศูนย์
- เตรียมเอกสารทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น หนังสือมอบอำนาจ พินัยกรรมชีวิต (ถ้ามี)
- วางแผนการเงินและตรวจสอบความคุ้มครองจากประกันสุขภาพ
- พูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวเกี่ยวกับการตัดสินใจพาผู้ป่วยเข้ารับการดูแลในศูนย์
- พูดคุยกับตัวผู้ป่วยเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าไปอยู่ในศูนย์ดูแล
ค่าใช้จ่ายในการใช้บริการศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียง
โดยทั่วไป ค่าใช้จ่ายสำหรับศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงอาจอยู่ในช่วงตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสนบาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับประเภทของศูนย์และบริการที่ต้องการ ระยะเวลาที่ต้องการเข้ารับบริการ สิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์อื่นๆ ที่เลือกใช้ และทำเลที่ตั้งของศูนย์ ทั้งนี้ ควรสอบถามรายละเอียดค่าใช้จ่ายจากศูนย์ดูแลโดยตรง และพิจารณาทางเลือกอื่นในการชำระเงินที่เหมาะกับกำลังจ่าย อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นอื่นๆ ในการเข้ารับบริการศูนย์ดูแลที่ต้องพิจารณาจะมีดังนี้
- ค่าห้องพัก (รายวันหรือรายเดือน)
- ค่าอาหารและการดูแลโภชนาการ
- ค่าบริการพยาบาลและการดูแลประจำวัน
- ค่ายาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เลือก
- ค่าบริการทางการแพทย์เฉพาะทาง (เช่น กายภาพบำบัด)
- ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น
- ค่าบริการซักรีดและทำความสะอาดเสื้อผ้า
- ค่ากิจกรรมและนันทนาการ (ถ้ามี)
- ค่าใช้จ่ายพิเศษอื่นๆ ตามความต้องการของผู้ป่วย
วิธีเลือกศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงให้สะดวก ปลอดภัย!
การเลือกศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่เหมาะสมเป็นการตัดสินใจสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและความสบายใจของครอบครัว ซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบจากทั้งตัวผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อให้ได้ศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่ตอบโจทย์เรื่องความต้องการทางการแพทย์ ความสะดวกสบาย และสอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่ด้วย เรามาดูกันว่าจะมีวิธีเลือกศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างไรบ้าง?
- ประเมินความต้องการทางการแพทย์ของผู้ป่วย ว่าจำเป็นต้องได้รับการบริการหรือการรักษาใดบ้าง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับโรคหรือสภาวะที่ผู้ป่วยเป็นอยู่
- ตรวจสอบใบอนุญาตและการรับรองมาตรฐานของศูนย์ เพื่อให้ได้ทราบว่าศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่เราเลือกมีมาตรฐานปลอดภัยจริงหรือไม่
- พิจารณาทำเลที่ตั้งและความสะดวกในการเดินทาง เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวสามารถเดินทางไปเยี่ยมผู้ป่วยที่ศูนย์ได้บ่อยๆ เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดี
- สอบถามเกี่ยวกับคุณสมบัติและประสบการณ์ของบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ ทีมพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร ว่ามีความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงจริงหรือไม่
- เยี่ยมชมศูนย์ด้วยตนเองเพื่อสังเกตการณ์ ตั้งแต่สภาพแวดล้อม บรรยากาศ ปฏิสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่ ไปจนถึงความสะดวกสบายภายในศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงนั้นๆ
- สอบถามเกี่ยวกับอัตราส่วนบุคลากรต่อผู้ป่วย หากมีจำนวนที่เพียงพอก็จะสามารถให้การดูแลผู้ป่วยติดเตียงแต่ละท่านได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น
- ตรวจสอบบริการและกิจกรรมที่มีให้ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการบริการหรือกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งเป็นพิเศษ แนะนำให้สอบถามรายละเอียดนี้กับเจ้าหน้าที่ศูนย์โดยตรง
- พิจารณาค่าใช้จ่ายและตัวเลือกในการชำระเงิน เช่น มีบริการให้ผ่อนจ่ายหรือไม่ มีรับบัตรเครดิตไหม เป็นต้น สำหรับศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่มีตัวเลือกมากกว่า ก็อาจจะช่วยเพิ่มความสบายใจให้กับครอบครัว เผื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดจนทำให้ไม่สามารถชำระเงินตามงวดได้ในอนาคต
- อ่านรีวิวและขอคำแนะนำจากผู้ที่เคยใช้บริการ อาจจะเป็นคนใกล้ชิด หรือแพทย์ประจำตัวแนะนำมาอีกทีก็ได้ แนะนำให้ศึกษารายละเอียดการบริการของศูนย์ให้ดี เพราะจะได้เลือกที่ที่สบายใจที่สุด
- สอบถามเกี่ยวกับนโยบายการเยี่ยมและการมีส่วนร่วมของครอบครัว เพราะศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงบางที่จะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยหนาแน่นมาก แนะนำให้สอบถามโดยตรงเพื่อคำตอบที่แน่ชัด
- ตรวจสอบแผนฉุกเฉินและมาตรการความปลอดภัยของศูนย์ ว่ามีระบบรับรองที่ได้มาตรฐานหรือไม่ อาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือตัวแทนเพิ่มเติมเพื่อเฟ้นหาศูนย์ที่ตรงใจ
นอกจากศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียง มีตัวเลือกอื่นบ้างไหม? บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียงในปัจจุบันที่ได้รับความนิยม จะเป็นการจ้างคนดูแลผู้ป่วยติดเตียงหรือจ้างคนดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ซึ่งจะให้บริการโดยเจ้าหน้าที่พยาบาลวิชาชีพหรืออาจเป็นผู้ดูแลเฉพาะทางที่ได้รับการอบรมมาแล้ว โดยอาจเลือกเป็นบริการดูแลแบบรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือนก็ได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการให้บริการของผู้ดูแลนั้น ๆ เหมาะกับครอบครัวที่ไม่มีเวลาดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างเต็มที่! สำหรับใครที่กำลังหาจ้างคนดูแลผู้ป่วยติดเตียง สามารถค้นหาเจ้าหน้าที่โดยตรงที่ Saijai.co ได้เช่นกัน |
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียง
ศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงเป็นทางเลือกสำคัญสำหรับเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยและครอบครัวมักมีคำถามและข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับการใช้บริการเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่าย คุณภาพการดูแล หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ Saijai จึงขอส่งท้ายด้วยคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงดังนี้!
- ญาติสามารถมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยที่ศูนย์ได้หรือไม่?
ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการให้บริการของศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงนั้นๆ แต่โดยทั่วไปแล้วการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่ศูนย์จะอยู่ภายใต้การบริการของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะครอบคลุมบริการหลากหลายอยู่แล้ว ญาติจึงไม่จำเป็นต้องเข้ามาดูแลในส่วนนี้แต่อย่างใด ทว่าหากหมายถึงการดูแลระหว่างที่ผู้ป่วยอยู่บ้าน เจ้าหน้าที่ก็จะให้แนะนำในการดูแลผู้ป่วยทั้งทางกายและใจเช่นกัน
- ศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงรับดูแลผู้ป่วยทุกประเภทหรือไม่?
โดยทั่วไปแล้ว ศูนย์ดูแลสามารถรับดูแลผู้ป่วยติดเตียงได้หลากหลายกลุ่ม แต่จะเน้นไปที่กลุ่มติดเตียงระดับสีแดง ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สามารถช่วยเหลือหรือเคลื่อนไหวเองได้ ทั้งนี้ ต้องสอบถามกับศูนย์ดูแลที่เลือกว่าจำกัดการรับดูแลผู้ป่วยประเภทใดหรือไม่ เพราะบางศูนย์อาจจะรับแค่ผู้ป่วยบางกลุ่มหรือเป็นศูนย์พิเศษ เช่น ศูนย์สำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ อาจจะไม่รับดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ เป็นต้น
- มีบริการรับ-ส่งผู้ป่วยจากบ้านไปยังศูนย์หรือไม่?
ขึ้นอยู่กับบริการของศูนย์ว่ามีให้หรือไม่ แนะนำให้ญาติสอบถามข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ให้เรียบร้อย หากต้องการเลือกบริการแบบไปเช้ากลับเย็นหรือใช้บริการเฉพาะตอนกลางวัน (เรียกอีกอย่างว่า Day care คล้ายกับบริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านหรือ Senior Day Care) ทั้งนี้ ก็ควรเลือกศูนย์บริการที่ใกล้บ้านก่อนเสมอ เพื่อให้สามารถเดินทางไปรับ-ส่งได้สะดวก
สรุป
ศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับครอบครัวต้องการให้การดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างคุณภาพและเป็นมืออาชีพ โดยการเลือกใช้บริการศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ควรจะผ่านการพิจารณาจากผู้ป่วยและครอบครัวอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ป่วย ความพร้อมของครอบครัว และคุณภาพของการบริการที่จะได้รับ นอกจากนี้ ก็ต้องคำนึงถึงการเตรียมตัวที่ดีเพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างเต็มที่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ก็ไม่ควรลืมการเอาใจใส่ การเยี่ยมเยือน สร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกโดดเดี่ยวระหว่างอยู่ที่ศูนย์ด้วยนะ!
สำหรับผู้ที่กำลังมองหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงหรือบริการดูแลผู้สูงอายุ สามารถค้นหาข้อมูลได้ที่ Saijai.co แพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลบ้านพักและศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ได้มาตรฐาน เพื่อช่วยให้คุณสามารถเลือกสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนที่คุณรัก
แหล่งอ้างอิง
- ก่อนเข้าศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ต้องเตรียมอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่
- 4 ข้อสำคัญต้องเตรียมให้พร้อม ก่อนเข้าศูนย์รับดูแลผู้สูงอายุ มีอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่?
- ศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงราคาถูกเลือกยังไง ดูอะไรบ้าง
- What Caregivers Should Know About Nursing Home Care
- What is a Nursing Home? Services, Cost and Options
- A Guide to Nursing Homes – HelpGuide.org
- Long-Term Care Facilities: Assisted Living, Nursing Homes, and Other Residential Care | National Institute on Aging
- Nursing Homes: MedlinePlus
- What is a nursing home? – carehome.co.uk advice
- ศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียง มีกี่ประเภท?