Palliative Care คือแนวคิดการดูแลสุขภาพประเภทหนึ่ง เน้นให้ความสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่เผชิญกับโรคร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งจะมีความแตกต่างจากการดูแลผู้ป่วยประเภทอื่นๆ แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าจริงๆ แล้วการดูแลแบบนี้คืออะไร และให้ประโยชน์ใดกับผู้ป่วยและครอบครัวบ้าง ในบทความนี้ Saijai รวบรวมข้อมูลเบื้องต้น เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองมาให้อ่านกัน!
Palliative Care คืออะไร?
Palliative Care คือ การดูแลแบบเฉพาะทางที่มุ่งเน้นบรรเทาอาการและความเครียดของผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘การดูแลแบบประคับประคอง’ ซึ่งจะไม่ได้มีเป้าหมายในการรักษาโรคให้หายขาด แต่มีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว โดยการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง จะครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ
หลักการพื้นฐานของการดูแลแบบประคับประคองคือ การบรรเทาอาการเจ็บปวดและอาการอื่นๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายกายและใจ ช่วยสนับสนุนจิตใจและอารมณ์ให้ดีขึ้น และยังมีการดูแลด้านจิตวิญญาณตามความเชื่อและศาสนาของผู้ป่วย ไปจนถึงการช่วยเหลือในด้านสังคม เช่น การจัดการเรื่องการเงินและสิทธิประโยชน์ทางสังคม เป็นต้น
ผู้ที่สามารถให้การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองได้ จะต้องเป็นทีมแพทย์ พยาบาล หรือผู้เชี่ยวชาญที่ได้ผ่านการอบรมมาเท่านั้น ซึ่งเราสามารถเลือกได้ว่าจะทำควบคู่ไปกับการรักษาโรคหรือไม่ เพราะกลุ่มผู้ให้การดูแลถูกอบรมมาให้ทำงานร่วมกับแพทย์ที่รักษาโรค เสมือนเป็นผู้สนับสนุนอีกทางหนึ่ง
ข้อดีของการดูแลแบบนี้คือ มันจะช่วยให้การรักษาโรคหรือชะลอความรุนแรงเป็นไปได้ดีขึ้น สร้างความสบายใจให้กับทั้งผู้ป่วยและคนรอบข้าง สามารถใช้ได้กับโรคทุกระยะ กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่มักจะใช้กับผู้ป่วยโรคร้ายแรงอย่างมะเร็ง อัลไซเมอร์ โรคปอด พาร์กินสัน และอื่นๆ อีกมากมาย
รู้ลึก! ประวัติของ Palliative Care เป็นมาอย่างไร? ต้นกำเนิดมาจากประวัติศาสตร์ที่มีการพัฒนาอันยาวนานหลายร้อยปี เริ่มขึ้นในช่วงยุคกลาง (Middle Ages) อันมีที่มาจากความรักของนางพยาบาล Dame Cicely Saunders ที่มีต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายรายหนึ่ง จนกระทั่งเขาเสียชีวิต และทิ้งเงินราว 500 ปอนด์เอาไว้สร้างโรงพยาบาลเพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานจากโรคร้ายแรงทั้งทางร่างกาย และจิตใจของคนที่กำลังจะตาย หลังจากนั้น คุณ Saunders ก็ได้มุ่งมั่นเพื่อจะเป็นแพทย์ และพยายามทำความเข้าใจความเจ็บปวดของผู้ป่วยที่เหลือเวลาใช้ชีวิตไม่มาก จนกระทั่งได้ก่อตั้งโรงพยาบาล St. Christopher’s Hospice ณ กรุงลอนดอน ปี ค.ศ. 1967 ถือเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่เน้นการดูแลแบบประคับประคอง ด้วยความเชื่อว่า หากผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีที่สุด จะนำไปสู่ความสุขจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงปี ค.ศ. 1987 การดูแลแบบประคับประคองได้รับการยอมรับมากขึ้น และพัฒนาแนวคิดเพื่อนำมาใช้กับผู้ป่วยหลากหลายโรค หลากหลายระยะ และในทุกวัย จนถึงปัจจุบัน การดูแลแบบประคับประคองได้รับการยอมรับและนำมาใช้ในระบบการดูแลสุขภาพทั่วโลกรวมถึงในไทยด้วย นอกจากนี้ ระบบยังมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปตามเวลาและปรับปรุงให้เข้ากับความต้องการของผู้ป่วยอยู่ตลอด ทำให้กระบวนการมีประสิทธิภาพและครอบคลุมหลายปัญหามากขึ้นนั่นเอง |
Palliative Care ดูแลใครบ้าง?
การดูแลแบบประคับประคองมีประโยชน์สำหรับกลุ่มผู้ป่วยหลากหลายกลุ่ม และครอบคลุมไปถึงครอบครัวและผู้ดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง หรือโรคที่รักษาไม่หาย ซึ่งผู้ที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองได้แก่:
- ผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บป่วยระยะสุดท้าย เช่น มะเร็งระยะสุดท้าย โรคหัวใจวาย โรคปอดเรื้อรังระยะสุดท้าย เป็นต้น การดูแลแบบประคับประคองจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและอาการไม่สบายอื่นๆ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต
- ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง รักษาไม่หาย ตัวอย่างโรคเช่น โรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคอื่นๆ ที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การดูแลแบบประคับประคองจะช่วยในการจัดการอาการต่างๆ ลดความทุกข์ทรมาน ความเครียด และวิตกกังวลจากโรค
- ครอบครัวและผู้ดูแล การดูแลแบบประคับประคองไม่ได้ดูแลเฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังให้การดูแลครอบครัวและตัวทีมผู้ดูแลเองด้วย โดยการให้คำปรึกษาและฟื้นฟูสุขภาพจิต ทำให้ครอบครัวและผู้ดูแลมีความเข้าใจและสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น
Palliative Care ให้การพยาบาลด้านใดบ้าง?
การดูแลแบบประคับประคองให้การดูแลอย่างครอบคลุมทุกมิติของชีวิตผู้ป่วย เพราะทุกๆ ด้านล้วนมีความสำคัญและมีบทบาทในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว โดยจะมีด้วยกันหลักๆ ทั้งหมด 4 ด้านดังนี้
1. การจัดการอาการป่วย (Symptom Management)โดยจะทำการบรรเทาอาการเจ็บปวดและอาการอื่นๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบาย เช่น ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หายใจลำบาก ท้องผูก กระตุ้นความอยากอาหาร ช่วยลดปัญหานอนหลับยาก เป็นต้น
2. การสนับสนุนทางจิตใจและอารมณ์ (Psychological and Emotional Support) ผู้ป่วยที่เผชิญกับโรคร้ายแรงมักจะมีอารมณ์ด้านลบและมีสภาวะทางจิตใจที่ผิดปกติ การให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาและการสนับสนุนทางอารมณ์จะช่วยป้องกันและลดปัญหาเหล่านี้ เช่น ลดความเครียด ลดความวิตกกังวล ลดปัญหาซึมเศร้าหรืออาการโศกเศร้าของผู้ป่วยและครอบครัว ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมีความมั่นใจและมีพลังใจในการเผชิญกับโรคต่อไปได้อย่างราบรื่น
3. การสนับสนุนทางจิตวิญญาณ (Spiritual Support) ในหลายกรณีของผู้ป่วยอาจจะมีความเชื่อส่วนตัวและความเชื่อทางศาสนาที่ต้องการปฏิบัติตาม ซึ่งถือเป็นที่พึ่งทางใจอย่างหนึ่ง การดูแลด้านจิตวิญญาณส่วนนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเผชิญกับโรคด้วยความสงบใจและมีความเชื่อมั่น
4. การสนับสนุนทางสังคม (Social Support) เป็นการช่วยเหลือในด้านการเงินและสิทธิประโยชน์ทางสังคมที่ผู้ป่วยควรจะได้รับ เช่น การจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ การให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งมักจะสร้างความยุ่งยากและวุ่นวายใจให้กับผู้ป่วยและครอบครัว ดังนั้น การสนับสนุนเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความเข้าใจและสามารถจัดการกับสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องได้ดียิ่งขึ้น
Palliative care กับ End of life care ต่างกันอย่างไร Palliative Care คือการดูแลที่มุ่งเน้นการประคับประคองผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรง แต่จะไม่ใช่การเตรียมตัวก่อนวาระสุดท้ายของชีวิต เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้ที่เกี่ยวข้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งอาจช่วยยืดระยะเวลาของอายุขัยให้ผู้ป่วยสามารถอยู่กับครอบครัวได้นานขึ้น End of life Care คือการดูแลที่มุ่งเน้นประคับประคองผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งมีเวลาอยู่ได้เพียง 3 เดือนถึง 1 ปี โดยจะให้การดูแลอย่างเต็มที่ที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างมีความสุขและได้ตายอย่างมีศักดิ์ศรี (ตามหลักสิทธิมนุษยชน) |
ทีมผู้ดูแล Palliative Care มีใครบ้าง?
จากที่ได้อธิบายไปเบื้องต้นว่า สมาชิกทีมดูแลตามหลักประคับประคองนั้นประกอบไปด้วยคนหลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่แพทย์ พยาบาล และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ซึ่งจำนวนหรือความเชี่ยวชาญก็จะแตกต่างกันออกไปตามโรค ความร้ายแรง และสภาพจิตใจของผู้ป่วย แต่โดยรวมแล้วจะมีทีมดังนี้
- แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลแบบประคับประคอง มีหน้าที่ในการดูแลและวางแผนการดูแลแบบประคับประคองให้เป็นตามหลัก ซึ่งจะต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตแบบองค์รวมของผู้ป่วย และต้องให้การสนับสนุนคนอื่นๆ ในทีมด้วย
- แพทย์เฉพาะทางที่เกี่ยวข้อง เช่น จิตแพทย์ แพทย์ระบบประสาท เป็นต้น มีหน้าที่ในการรักษาแบบประคับประคองโรคหรืออาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการดูแลแบบประคับประคอง
- แพทย์ประจำตัวผู้ป่วย มีหน้าที่ในการรักษาโรคที่ผู้ป่วยกำลังเป็นอยู่ โดยจะต้องทำงานร่วมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลแบบประคับประคอง เพื่อให้การสนับสนุนข้อมูล
- ทีมพยาบาล มีหน้าที่ในการดูแลชีวิตประจำวันของผู้ป่วย เช่น การให้ยา การปลอบประโลมผู้ป่วยและครอบครัว ติดตามอาการ วิเคราะห์และประเมินอาการผู้ป่วย ดูแลเรื่องความเจ็บปวด และให้การพยาบาลเบื้องต้น
- ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง เช่น นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักกายภาพบำบัด เภสัชกร นักกิจกรรมบำบัด นักดนตรีบำบัด นักโภชนาการ ฯลฯ มีหน้าที่ในการบำบัดและให้ความช่วยเหลือในด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย
- ที่ปรึกษา เช่น ที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ปรึกษาด้านจิตวิญญาณและความเชื่อ (ส่วนนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อทางศาสนาของผู้ป่วยและครอบครัว) มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางสังคมและจิตวิญญาณ
- ผู้ดูแลสุขภาพ อาจเป็นสมาชิกในครอบครัว หรืออาสาสมัครจากองค์กรภายนอกก็ได้ มีหน้าที่ในการช่วยให้ขั้นตอนการดูแลแบบประคับประคองเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องการดูแลตัวเองที่บ้าน
ขั้นตอนการดูแลของ Palliative Care
กระบวนการขั้นตอนดูแลตามหลักการดูแลแบบประคับประคองคือขั้นตอนที่ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน เนื่องจากเป็นการดูแลเสริมเพิ่มเติมเข้าไปกับการรักษาโรค ซึ่งผู้ป่วยและครอบครัวสามารถเลือกได้ว่าต้องการการดูแลประคับประคองหรือไม่ โดยทั่วไปจะมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. ประเมินความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัว
การทราบความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญในการวางแผนการดูแลแบบประคับประคอง โดยแพทย์หรือทีมดูแลจะทำการสัมภาษณ์ผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อทำความเข้าใจถึงอาการโรคและความต้องการของผู้ป่วย ซึ่งมักจะใช้แบบสอบถามและเครื่องมือประเมินอาการเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและแม่นยำ
2. วางแผนการดูแลที่เหมาะสมและตอบโจทย์ส่วนบุคคล
ขั้นตอนนี้จะเป็นการจัดทำแผนการดูแลที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วยในทุกด้านของชีวิต โดยแผนจะต้องมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามอาการและสถานการณ์ต่าง ๆ ของผู้ป่วย ทุกฝ่ายจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้การดูแลที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุม
ประโยชน์ของ Palliative Care
การดูแลแบบประคับประคองคือการดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก แต่ก็จะครอบคลุมถึงบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและต้องใช้ชีวิตกับผู้ป่วยด้วย โดยจะมีประโยชน์ต่อผู้คนเหล่านี้มากมายหลายด้าน ได้แก่
1. ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
Palliative Care คือหลักการดูแลเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น โดยจะให้การดูแลผู้ป่วยประคับประคองอย่างสุดความสามารถ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่กับโรคนั้นๆ ได้โดยไม่เกิดความเครียดสูง อาการถูกบรรเทาลง จนผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข จากความรู้สึกที่ถูกดูแลอย่างใส่ใจเสมอ
2. ช่วยลดความเครียดระหว่างการรักษา
ในส่วนของการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาและช่วยปรับปรุงอารมณ์ สิ่งนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น ทั้งอาการเจ็บปวดจากโรค ความเครียด ความวิตกกังวล หรือความซึมเศร้า โศกเศร้าเสียใจ ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจและมีพลังใจในการเผชิญกับโรคที่กำลังเป็นอยู่ได้ดียิ่งขึ้น
3. ช่วยให้ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างดีขึ้น
ในหลายกรณี คนทั่วไปอาจไม่เข้าใจอาการหรือความเป็นไปได้ของโรคต่างๆ จึงทำให้เกิดการสื่อสารขัดแย้ง เกิดความเข้าใจผิด หรือเกิดอารมณ์ด้านลบที่ไม่พึงประสงค์ การดูแลผู้ป่วยประคับประคองที่เน้นสนับสนุนการสื่อสารที่เปิดเผยและตรงไปตรงมา จะช่วยให้คนรอบข้างเข้าใจอาการ สถานการณ์ ความเป็นไปได้ต่างๆ และความต้องการของผู้ป่วย นำไปสู่การดูแลที่ตอบโจทย์ผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น และจะช่วยให้คนรอบข้างสามารถรับมือกับสถานการณ์ใดๆ ได้ดีขึ้น
4. ช่วยสนับสนุนการรักษาโรคตามระบบ
ทีมดูแลทุกฝ่ายในระบบนี้นั้นล้วนต้องทำงานและให้ข้อมูลกับแพทย์ประจำตัวผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการของโรค สุขภาพกาย สุขภาพจิต และชีวิตประจำวัน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนจำเป็นต่อการรักษาโรคของผู้ป่วย ช่วยให้แพทย์ประจำตัวและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการดูแลผู้ป่วยประคับประคองสามารถจัดวางแผนการรักษาแบบประคับประคองอย่างเหมาะสมได้สะดวกขึ้น
5. ช่วยยืดอายุขัยของผู้ป่วย
ในบางกรณีของผู้ป่วยในระบบนี้มักมีโอกาสเจอขั้นตอนการรักษาที่ยุ่งยากและก่อให้เกิดความเครียดสูง ซึ่งการดูแลแบบประคับประคองจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถก้าวข้ามช่วงเวลาอันยากลำบากนั้นได้อย่างราบรื่น โดยจะยังคงดูแลสุขภาพจิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นด้วย เมื่อใจพร้อม ร่างกายก็พร้อม กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่ระบบนี้ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ เสมอ
6. ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจของผู้ป่วยและครอบครัว
ยกตัวอย่างเดียวกันกับการยืดอายุขัย บางครั้งผู้ป่วยและครอบครัวอาจจะต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากต่อการตัดสินใจเพื่อไปสู้ขั้นตอนอื่นๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจรักษา การตัดสินใจด้านการเงิน หรือสังคม การให้ข้อมูลและการสนับสนุนในทุกๆ ด้านของการดูแลแบบประคับประคองคือตัวช่วยที่จะทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ และความเป็นไปได้ทั้งหมดอย่างถ่องแท้ อันจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ง่ายขึ้นนั่นเอง
การให้บริการ Palliative Care ในไทยมีที่ไหนบ้าง?
ในปัจจุบัน บริการดูแลแบบประคับประคองนั้นได้รับการยอมรับและแพร่หลายไปทั่วโลก ซึ่งก็รวมถึงในประเทศไทยด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาพร้อมดูแลแบบประคับประคองนั้นยังค่อนข้างน้อยมากๆ และหลายคนอาจยังไม่รู้ว่ามีการดูแลผู้ป่วยรูปแบบนี้อยู่ จึงต้องมีการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจว่า Palliative Care คืออะไรหรือมีประโยชน์อย่างไรให้มากขึ้น
โรงพยาบาลหลายแห่งในประเทศไทยตอนนี้มีหน่วยให้บริการอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ ราว 17 แห่ง และในโรงพยาบาลและชุมชนต่างจังหวัดจำนวนหนึ่ง ซึ่งครอบครัวสามารถค้นหาสถานพยาบาลที่ให้บริการได้โดยตรง และยังมีแผนขยายขอบเขตการอบรมหลักสูตรระบบอยู่เรื่อยๆ คาดว่าจะมีศูนย์บริการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Palliative Care
Q: เราสามารถรับการดูแลแบบประคับประคองที่บ้านได้อย่างไร?
A: ขอบเขตพื้นที่การดูแลแบบประคับประคองขึ้นอยู่กับพื้นที่บ้านของเราว่าอยู่ไกลจากศูนย์หรือไม่ เพราะหากระยะทางไกลเกินไปหรือเดินทางไปมาลำบาก กระบวนการดูแลผู้ป่วยประคับประคองอาจทำได้ไม่เต็มที่ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรวบรวมข้อมูลว่าสามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้หรือไม่
Q: Palliative Care ราคาเท่าไหร่?
A: ค่าใช้จ่ายในการดูแลแบบประคับประคองนั้นไม่คงที่ เพราะต้องประเมินจากอาการและสถานการณ์ของผู้ป่วยและครอบครัว ทั้งนี้ ระบบจะให้ความสำคัญกับการลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ไม่จำเป็นของผู้ป่วยได้ในระดับหนึ่ง หากมีความกังวล สามารถแจ้งความประสงค์กับที่ปรึกษาที่เกี่ยวข้องก่อนได้
Q: การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง เริ่มทำได้เมื่อไหร่?
A: สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ค้นพบว่าผู้ป่วยต้องเผชิญกับโรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต รักษาไม่หาย หรือโรคร้ายแรง ซึ่งจะให้การดูแลเพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนทางจิตใจ จนกระทั่งผู้ป่วยเสียชีวิต ก็จะการดูแลเยียวยาจิตใจครอบครัวและคนรอบข้างต่อไป
สรุป
Palliative Care คือส่วนสำคัญของการดูแลทางการแพทย์ที่มุ่งเน้นการบรรเทาอาการเจ็บป่วยและความทุกข์ในผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรง การเผชิญกับความท้าทายและการสร้างโอกาสในการพัฒนาการดูแลแบบประคับประคองจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวในช่วงเวลาที่ยากลำบากให้ได้มากยิ่งขึ้น แต่หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่าสถานพยาบาลแห่งใดให้บริการระบบนี้บ้าง สามารถค้นหาสถานพยาบาลเบื้องต้นผ่าน Saijai.co ได้เลย!
แหล่งอ้างอิง
- การดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care | คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง - การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) สำหรับผู้ป่วยและครอบครัว | โรงพยาบาลพญาไท
- การดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายแบบ Palliative care คืออะไร และมีหลักการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างไร?
- The history of palliative care
- ดูแลผู้ป่วย….ระยะประคับประคอง (Palliative Care) | PRINC Hospital Paknampo
- Palliative Care: What It Is, Examples, Benefits, More
- Palliative Care: What it Is & What’s Included
- Palliative care – Mayo Clinic
- What is Palliative Care?
- การดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care | คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง