ลมหายใจเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิต เมื่อปอดไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เครื่องช่วยหายใจจึงเปรียบเสมือนปอดเทียมที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่
ในยามที่ร่างกายอ่อนแอ ผู้สูงอายุอาจเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บหลากหลายซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้ เครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทำหน้าที่แทนปอด ช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้
เครื่องช่วยหายใจ เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาในการหายใจ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการรักษาโรคให้เป็นไปตามแพทย์ และช่วยประคองชีวิตของผู้ป่วยเอาไว้ให้ได้ อย่างไรก็ตาม หลายคนยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใส่เครื่องช่วยหายใจ โดยเฉพาะข้อสงสัยว่าผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจมีโอกาสรอดหรือไม่? ซึ่งจะมากน้อยแค่ไหนนั้น เรามาติดตามดูในบทความนี้กันได้เลย
ทำความรู้จัก! เครื่องช่วยหายใจ (Ventilator) คืออะไร?
เครื่องช่วยหายใจ (Ventilator) คืออุปกรณ์ที่ช่วยนำออกซิเจนเข้าสู่ปอดของผู้ป่วย ในสถานการณ์ที่ผู้ป่วยไม่สามารถหายใจเองได้หรือหายใจลำบาก ซึ่งมีโอกาสที่ร่างกายจะได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ การใช้เครื่องช่วยหายใจจะช่วยป้องกันผลข้างเคียงหรืออาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างที่สมองขาดออกซิเจนได้ มักถูกนำมาใช้บ่อยครั้งเมื่อต้องมีการผ่าตัดสำหรับผู้ประสบอุบัติเหตุหรือเป็นโรคร้ายแรงที่ทำให้ปอดไม่สามารถทำงานได้
ทั้งนี้ เครื่องช่วยหายใจไม่ใช่เครื่องที่มีไว้สำหรับการรักษาโรคโดยตรง แต่จะเป็นเครื่องมือสำหรับการพยุงอาการเอาไว้ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงพอจะรับการรักษาต่างๆ ต่อไป ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น เนื่องจากการมีออกซิเจนที่เพียงพอในเลือด จะทำให้ระบบการฟื้นฟูตัวเองทำงานได้ดี และช่วยป้องกันภาวะหยุดหายใจได้อีกด้วย
เครื่องช่วยหายใจมีกี่แบบ?
เครื่องช่วยหายใจมีหลายแบบที่ถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการทางการแพทย์ที่แตกต่างกัน โดยสามารถแบ่งตามจุดประสงค์ในการใช้งานของเครื่องช่วยหายใจ ออกเป็นทั้งหมด 5 แบบดังต่อไปนี้
1. เครื่องช่วยหายใจสำหรับการรักษาในโรงพยาบาล (Hospital Ventilators)
เครื่องช่วยหายใจกลุ่มนี้จะถูกออกแบบมาเพื่อใช้โรงพยาบาลโดยเฉพาะ ทำให้มีฟังก์ชั่นค่อนข้างหลากหลาย ความละเอียดในการใช้งานสูง และมีขนาดเครื่องที่ใหญ่กว่าเครื่องชนิดอื่นๆ เพราะจะต้องนำมาใช้กับผู้ป่วยที่ความรุนแรงของโรคสูง หรือต้องดูแลการหายใจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ป่วยระดับวิกฤต (ICU) หรือนำมาใช้ภายในห้องผ่าตัด บางชนิดก็สามารถเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของโรงพยาบาลเพื่อความสะดวกในการใช้งานด้วย
2. เครื่องช่วยหายใจสำหรับการขนส่ง (Transport Ventilators)
เป็นเครื่องช่วยหายใจที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินในสถานการณ์ที่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังที่ต่างๆ หรือเพื่อย้ายจากสถานที่ห่างไกลมาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน ซึ่งระหว่างนี้ผู้ป่วยอาจจะประสบกับสภาวะที่ไม่สามารถหายใจได้เอง จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจสำหรับการขนส่งผู้ป่วย
3. เครื่องช่วยหายใจแบบเคลื่อนที่ (Portable Ventilators)
เครื่องช่วยหายใจแบบเคลื่อนที่จะถูกออกแบบมาให้มีขนาดเล็ก เพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก เหมาะสำหรับการใช้งานในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หรือการใช้ภายในบ้าน เครื่องช่วยหายใจประเภทนี้จะมีความแข็งแรงค่อนข้างสูง เพื่อให้ทนทานต่อการเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ต่างๆ หรือในช่วงเวลาที่เร่งรีบ จึงมักถูกนำไปใช้ในหน่วยกู้ภัยหรือทางการทหาร
4. เครื่องช่วยหายใจสำหรับใช้ที่บ้าน (Home Ventilators)
เครื่องช่วยหายใจแบบใช้ที่บ้าน จะถูกออกแบบมาคล้ายกับเครื่องช่วยหายใจในโรงพยาบาล ตัวเครื่องจะมีความเงียบ ขนาดเล็ก เคลื่อนย้ายได้ง่าย สามารถบำรุงรักษาเครื่องได้ง่ายกว่า มีระบบที่ไม่ซับซ้อนเท่ากับเครื่องช่วยหายใจที่อยู่ในโรงพยาบาลแต่ก็มีฟังก์ชั่นพื้นฐานสำหรับการใช้งาน เพราะต้องออกแบบให้คนทั่วไปสามารถใช้งานได้สะดวกนั่นเอง
ขั้นตอนการใส่ท่อช่วยหายใจ
การใส่ท่อช่วยหายใจเป็นขั้นตอนที่ต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ขั้นตอนนี้เริ่มจากการสอดท่อช่วยหายใจเข้าไปในหลอดลมของผู้ป่วย ซึ่งมักจะทำในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถหายใจเองได้อย่างเต็มที่ การใส่ท่อช่วยหายใจนั้นมีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงสูง จึงต้องมีการติดตามและดูแลอย่างใกล้ชิด เริ่มจากขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้
- การเตรียมตัวผู้ป่วย ก่อนใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการเตรียมตัวก่อนใช้งานเครื่องช่วยหายใจ ยกตัวอย่างเช่น การใช้ยาสลบหรือยาระงับความรู้สึก เพื่อให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บปวดหรือรู้สึกตึงเครียดระหว่างการสอดใส่เครื่องมือ นอกจากนี้ ก็รวมถึงการจัดท่านอนให้ผู้ป่วยอย่างเหมาะสม เพื่อลดโอกาสบาดเจ็บและเพิ่มความสะดวกในการใส่ท่อ
- การสอดท่อช่วยหายใจ เมื่อผู้ป่วยสลบและยาชาออกฤทธิ์เรียบร้อยแล้ว ท่อช่วยหายใจจะถูกสอดเข้าไปในหลอดลมผ่านทางปากหรือจมูก ขั้นตอนนี้แพทย์จะต้องทำด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บต่อหลอดลมและเนื้อเยื่อรอบข้าง โดยอาจจะมีการใช้ชุดส่องหลอดลม (ทางการแพทย์เรียกว่า ลาลิ้งโกสโคป : Laryngoscope) เข้ามาช่วยเพื่อให้แพทย์สามารถมองเห็นพื้นที่ภายในหลอดลมได้
- การตรวจสอบตำแหน่งของท่อ หลังจากใส่ท่อช่วยหายใจแล้ว จะต้องมีการตรวจสอบตำแหน่งของท่อเพื่อให้แน่ใจว่าท่ออยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง โดยฟังจากจังหวะ เสียง หรือการเคลื่อนไหวของร่างกายระหว่างการหายใจ เมื่อเข้าที่แล้วจะต่อด้วยการยึดท่อให้แน่นเพื่อป้องกันการเลื่อนหลุด จึงสามารถต่อเข้ากับเครื่องช่วยหายใจได้
- การติดตามอาการ หลังการใส่ท่อช่วยหายใจเสร็จสิ้น แพทย์จะทำการตั้งค่าเครื่องช่วยหายใจให้เหมาะสมกับการรักษา ผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจต้องได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น การติดเชื้อที่เกิดจากท่อช่วยหายใจ หรือการอุดตันของท่อ ระหว่างนี้แพทย์และพยาบาลจะต้องเตรียมตัวกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการใส่ท่อช่วยหายใจ
การใส่ท่อช่วยหายใจนั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยจะขึ้นอยู่กับทั้งขั้นตอนการใส่ท่อช่วยหายใจ รวมถึงสภาวะสุขภาพของผู้ป่วยด้วยว่ารุนแรงแค่ไหน หรือป่วยเป็นโรคอะไร โดยจะมีภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจดังนี้
- อาการแทรกซ้อนระยะสั้น ได้แก่
- ทางเดินหายใจได้รับบาดเจ็บ เช่น หลอดลม ปาก หรือเพดานปาก
- ผู้ป่วยสำลักหรือหายใจได้ไม่ถูก จากการใส่ท่อผิดตำแหน่ง เช่น สอดเข้าไปทางเดินอาหาร หรือสอดใส่ท่อช่วยหายใจลึกเกินไป
- เกิดการติดเชื้อ มักเกิดขึ้นได้ทั่วไป แพทย์ต้องให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- มีภาวะปอดพอง (Barotrauma) จากการตั้งแรงดันของเครื่องช่วยหายใจสูงเกินไป
- มีภาวะขาดออกซิเจน จากการใส่ท่อช่วยหายใจล่าช้าหรือใส่ไม่สำเร็จ
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ มักเกิดในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้ว
- อาการแทรกซ้อนระยะยาว ได้แก่
- ปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ (เกิดขึ้นบ่อย)
- มีภาวะปอดแฟบ (Atelectasis) เกิดจากการขยายตัวได้ไม่เต็มที่ของปอด
- มีภาวะลมรั่วในเยื่อหุ้มปอด (Pneumothorax) เพราะได้รับบาดเจ็บที่เยื่อดังกล่าว
- มีภาวะหลอดลมตีบตัน จากการบาดเจ็บบริเวณหลอดลมซ้ำๆ
- เสียงแหบหรือกลืนลำบาก จากการได้รับบาดเจ็บของกล่องเสียง
- ติดเชื้อในกระแสเลือด จากบริเวณที่อยู่ใกล้ท่อช่วยหายใจ
- มีปัญหาทางสุขภาพจิต เนื่องจากความเครียดระหว่างใส่ท่อช่วยหายใจ
- มีปัญหาหลังหยุดใช้เครื่องช่วยหายใจ เช่น หายใจเองลำบาก ต้องฝึกใหม่ หรืออวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการหายใจทำงานได้น้อยลง เพราะพึ่งพาเครื่องช่วยหายใจมานานเกินไป
- เกิดแผลกดทับบริเวณจมูกหรือปาก จากการใส่ท่อช่วยหายใจมานานเกินไป
- ไม่สามารถทานอาหารหรือดื่มน้ำได้เหมือนเดิม เพราะต้องใส่ท่อช่วยหายใจ
แม้จะเห็นได้ว่าผลข้างเคียงของการใส่ท่อช่วยหายใจมีอยู่หลายข้อ แต่ส่วนใหญ่แล้วสามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และรักษาความสะอาดของเครื่องมืออย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยให้การใส่ท่อช่วยหายใจมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นได้
สรุปข้อดี-ข้อเสียของการใส่เครื่องช่วยหายใจ
การใช้เครื่องช่วยหายใจหรือการใส่ท่อช่วยหายใจนั้น ต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียเหมือนกับอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ จุดเด่นของการใช้เครื่องช่วยหายใจนั้นมีเพียงการทำให้ค่าออกซิเจนในเลือดของผู้ป่วยคงที่และไม่เสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อนอื่นๆ แต่ทั้งนี้ เราก็ควรศึกษาข้อดีพร้อมข้อควรระวังของการใส่ท่อช่วยหายใจเอาไว้ เพื่อให้สามารถหาแนวทางรักษาที่เหมาะสมต่อไป ดังนี้
ข้อดีของการใช้เครื่องช่วยหายใจ | ข้อควรระวังของการใช้เครื่องช่วยหายใจ |
|
|
หลังใส่ท่อช่วยหายใจ โอกาสรอดมีมากน้อยแค่ไหน?
การใส่ท่อช่วยหายใจเป็นขั้นตอนที่สามารถช่วยเพิ่มโอกาสรอดของผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายใจด้วยตัวเองได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ โอกาสรอดจะมากน้อยแค่ไหนนั้นยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่
- ความเร็วในการดำเนินการ เนื่องจากกระบวนการใส่ท่อช่วยหายใจมีองค์ประกอบหลายอย่าง ตั้งแต่การจัดท่าผู้ป่วย การให้ยาชาหรือยาสลบ การตั้งค่าเครื่องช่วยหายใจ หรือการทำ CPR กรณีผู้ป่วยหยุดหายใจ หรือหัวใจล้มเหลว ไปจนถึงการใส่ท่อช่วยหายใจ หากทีมมีความเชี่ยวชาญและสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและทันเวลา จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดได้สูงมากเช่นกัน
- สภาพร่างกายและอาการของผู้ป่วย ผู้ป่วยที่มีสภาพร่างกายแข็งแรงหรือไม่มีโรคประจำตัวที่รุนแรงมักจะมีโอกาสรอดสูงกว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรงอย่างโรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง หรือโรคเบาหวานที่ทำให้แผลหายช้า นอกจากนี้ ยังสัมพันธ์กับอายุของผู้ป่วย เนื่องจากยิ่งอายุมากขึ้นก็จะทำให้ความสามารถในการฟื้นตัวลดลง อย่างไรก็ตาม หากดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสมก็จะทำให้โอกาสรอดเพิ่มขึ้นได้
- ระยะเวลาในการใส่เครื่องช่วยหายใจ การใส่เครื่องช่วยหายใจเป็นเวลานานเกินไปนั้น อาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างได้ นั่นหมายความว่ายิ่งใส่เครื่องช่วยหายใจมานานเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างมากเท่านั้น ส่งผลให้โอกาสรอดลดลงเพราะร่างกายอาจจะอักเสบ บาดเจ็บ หรือติดเชื้อรุนแรง
- การรักษาและการดูแล การรักษาและการดูแลที่มีคุณภาพและถูกต้องสามารถช่วยเพิ่มโอกาสรอดของผู้ป่วยได้ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ การดูแลอย่างมีคุณภาพจากแพทย์และพยาบาล การติดตามอาการและตรวจสอบสภาพร่างกายอย่างใกล้ชิด จะช่วยให้รับมือกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายได้อย่างทันท่วงที
- ภาวะแทรกซ้อน จะเห็นได้ว่าภาวะแทรกซ้อนของการใส่ท่อช่วยหายใจนั้นมีอยู่หลายอย่าง ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดหลังใส่ท่อช่วยหายใจคือ ความสามารถและประสิทธิภาพในการป้องกันและจัดการภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม ร่วมกับการดูแลและติดตามอาการผู้ป่วยหลังใส่ท่อช่วยหายใจอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดพร้อมปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไปในตัวด้วย
การดูแลผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ ต้องทำอย่างไรบ้าง?
การดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วยหลังจากการใส่ท่อช่วยหายใจเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มโอกาสรอดและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งจะต้องมีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้ร่างกายของผู้ป่วยแข็งแรงและสามารถรับการรักษาได้อย่างเหมาะสม โดยเบื้องต้น เราสามารถดูแลผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจได้ ดังนี้
- การเฝ้าระวังอาการของผู้ป่วย พยาบาลหรือคนในครอบครัวที่มีผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ จะต้องทำหน้าที่ในการสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย เช่น มีไข้ ไอ หายใจลำบาก เสมหะมีการเปลี่ยนสี หรือมีเสียงผิดปกติภายในหลอดลม ซึ่งจะต้องแจ้งแพทย์ทันทีหากพบอาการดังกล่าว
- การดูแลรักษาความสะอาด พยาบาลหรือครอบครัวจะต้องทำความสะอาดท่อช่วยหายใจ เครื่องช่วยหายใจ และอุปกรณ์ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการล้างมือและสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรงเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- การดูแลสุขภาพช่องปาก ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจอาจไม่สามารถดูแลความสะอาดตัวเองได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะส่วนของสุขอนามัยในช่องปากที่เกี่ยวข้องกับท่อช่วยหายใจ ดังนั้น ผู้ดูแลจึงต้องช่วยทำความสะอาดช่องปากของผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อ
- การให้ยาและการรักษา ผู้ดูแลจะต้องให้ยาแก้ปวดและยาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถรับการรักษาได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
- ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต ผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ตลอดเวลานั้นมักจะมีความเครียดสูงกว่าปกติ เนื่องจากความเจ็บปวดหรือความไม่สบายตัว ดังนั้น ผู้ดูแลจึงต้องพูดคุยให้กำลังใจและอยู่เคียงข้างผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ
- การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย เมื่ออาการดีขึ้น ผู้ป่วยอาจจะต้องพึ่งพาเครื่องช่วยหายใจอยู่เนื่องจากอวัยวะที่เกี่ยวข้องทำงานน้อยมาเป็นเวลานาน ดังนั้น แพทย์จึงแนะนำให้มีการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายด้วย เช่น การบริหารกล้ามเนื้อ การฝึกหายใจ การบริหารปอด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจอีกต่อไป
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการใส่เครื่องช่วยหายใจ
การใส่เครื่องช่วยหายใจเป็นขั้นตอนการรักษาที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายใจได้ด้วยตัวเอง ซึ่งก็มีความเสี่ยงหลายประการที่อาจทำให้คนในครอบครัวที่มีผู้ป่วยประเภทนี้เป็นกังวล Saijai จึงขอรวมคำถามเพิ่มเติมที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับการใส่เครื่องช่วยหายใจมาให้ทุกท่านได้ลองอ่านกัน!
- ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจสามารถพูดได้หรือไม่?
ผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจจะสามารถพูดได้ตามปกติหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องช่วยหายใจ หากใส่เครื่องช่วยหายใจผ่านจากปากหรือจมูกเข้าไปยังหลอดลม ก็อาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถพูดได้อย่างคล่องแคล่วหรือพูดไม่ได้เลย แต่หากเป็นเครื่องช่วยหายใจแบบที่ไม่ต้องสอดเข้าไปในหลอดลมหรือที่เรียกว่าหน้ากากออกซิเจน ผู้ป่วยอาจสามารถพูดได้หากยังมีสติ
- ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ ทานอาหารได้ไหม?
การทานอาหารระหว่างใส่เครื่องช่วยหายใจจะสามารถทำได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วย ในบางเคส แพทย์อาจให้อาหารเหลวทางสายยางแทนการให้ผู้ป่วยเคี้ยวและกลืนเอง แต่หากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แพทย์อาจอนุญาตให้ทานอาหารอ่อนๆ ที่ง่ายต่อการกลืนได้
- ใส่เครื่องช่วยหายใจ นอนตะแคงได้ไหม?
การจัดท่านอนระหว่างใส่เครื่องช่วยหายใจนั้นจะขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์และสภาวะของผู้ป่วย แพทย์จะแนะนำท่าทางการนอนที่เหมาะสมให้ แต่โดยทั่วไปแล้วสามารถนอนตะแคงได้ ในท่าที่ศีรษะอยู่สูง
- ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ ถอดเครื่องช่วยหายใจได้หรือไม่?
แพทย์จะพิจารณาเป็นกรณีไป ขึ้นอยู่กับว่าปอดของผู้ป่วยสามารถกลับมาทำงานได้เองหรือไม่ เพราะหากปอดยังไม่สามารถทำงานเองได้ ก็จำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องช่วยหายใจต่อไปจนกว่าอาการจะดีขึ้น และหากปอดฟื้นตัวแล้ว แพทย์จะค่อยๆ ลดการทำงานของเครื่องช่วยหายใจ ร่วมกับการทำโปรแกรมกายภาพบำบัด ช่วยให้ปอดสามารถทำงานได้อย่างแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่ต้องพึ่งเครื่องช่วยหายใจอีกต่อไป
สรุป
การใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีภาวะหายใจล้มเหลว แม้โอกาสรอดชีวิตจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่การดูแลรักษาที่ถูกวิธี การให้กำลังใจ และไม่สูญเสียความหวังล้วนส่งผลดีต่อผู้ป่วยทั้งสิ้น
สำหรับผู้สูงอายุในครอบครัว การดูแลสุขภาพ ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งสำคัญเช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมโรคประจำตัว และพบแพทย์ตามนัดเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
สำหรับครอบครัวที่ต้องการ หาข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุหรือต้องการหาศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ได้มาตรฐาน Saijai.co แพลตฟอร์มค้นหาศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ พร้อมให้คำปรึกษาและช่วยคุณค้นหาศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ได้มาตรฐาน ใกล้บ้านคุณ
อย่าลืมดูแลสุขภาพของตัวเองและผู้สูงอายุในครอบครัวนะ 🙂
แหล่งอ้างอิง
- เครื่องช่วยหายใจคืออะไร สามารถช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้จริงไม่?
- การดูแลผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจอย่างถูกต้องและเหมาะสม
- เครื่องช่วยหายใจ และข้อควรรู้
- https://www.nksleepcare.com/what-is-ventilator/
- https://www.nhlbi.nih.gov/health/ventilator
- https://www.webmd.com/covid/coronavirus-ventilators
- https://www.healthline.com/health/ventilator#when-needed
- https://www.medicalnewstoday.com/articles/what-is-a-ventilator#types
- https://my.clevelandclinic.org/health/treatments/15368-mechanical-ventilation