ปัจจุบัน เรื่องของการดูแลสุขภาพไม่ได้มีความสำคัญแค่เรื่องของร่างกาย แต่การดูแลสุขภาพใจก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในผู้สูงวัยซึ่งเป็นวัยที่ไม่ควรละเลยเรื่องของการดูแลจิตใจเพราะอาจส่งผลร้ายได้มากกว่าที่หลายคนคิด ซึ่งผู้สูงอายุหลายคนเผชิญกับปัญหาหลายด้าน ทั้งความเครียด ความวิตกกังวล หรือความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลถึงอารมณ์ ผู้อยู่ในวัยเกษียณส่วนใหญ่จึงมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า และโรคจิตเวชอีกมากมายในผู้สูงอายุ
เพื่อให้ผู้ดูแล คนใกล้ชิดได้ตระหนักถึงการดูแลสุขภาพจิตกันมากขึ้น SaiJai.co มีข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าเพื่อรู้เท่าทันถึงสาเหตุ อาการ และวิธีดูแลรักษาจิตใจในผู้สูงอายุมาบอกกันในบทความนี้
โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุเป็นแบบไหน?
ภาวะซึมเศร้า หรือโรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุมักพบได้บ่อยตั้งแต่คนที่เข้าสู่วัย 60 ปี ขึ้นไป และแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบคือ อาการซึมเศร้าก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ และอาการที่เกิดขึ้นในช่วงที่อยู่วัยสูงอายุแล้ว โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นกับเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพบบ่อยในผู้ที่หย่าร้าง สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หรืออยู่ตัวคนเดียว นอกจากนี้ยังพบมากถึง 10-20% ของจำนวนประชากร ความรุนแรงของอารมณ์เศร้าอาจนำไปสู่การคิดสั้น หรือการทำร้ายตัวเองในผู้สูงวัยได้
อาการซึมเศร้าในผู้สูงอายุ
ผู้สูงวัยที่มีภาวะซึมเศร้าอาจจะไม่มีอาการที่แสดงออกชัดเจน เพราะโรคจิตเวชนี้จะทำให้ผู้สูงอายุมีอารมณ์เศร้าได้ทั้งแบบเล็กน้อยไปจนถึงอารมณ์ที่รุนแรงมาก บางคนอาจมีอาการทางจิตเวชอื่นๆ ร่วมด้วย และหลายคนไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ อาการซึมเศร้าจึงไม่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนจากภายนอก แต่ต้องคอยสอบถาม และสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรมของผู้สูงวัยร่วมด้วย โดยสัญญาณเตือนว่าอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะนี้คือ
- รู้สึกเบื่อหน่าย ลำบากใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม พูดน้อยลง การดูแลตัวเองลดลง เบื่ออาหาร
- อารมณ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น มีเหตุผลน้อยลง บ่นมากขึ้น มีความสนุกกับสิ่งที่เคยชอบลดลง หงุดหงิดง่าย
- มีปัญหาเรื่องความจำ สมาธิสั้น
- มีปัญหาการนอน นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึกบ่อย
- เหนื่อยไร้เรี่ยวแรง อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย รู้สึกว่าทำอะไรก็อ่อนล้าจนจะขาดใจ
- ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ อยากทำร้ายตัวเอง บ่นเสมอว่าตายไปก็คงจะดี
สาเหตุของการเกิดโรคซึมเศร้าผู้สูงอายุ
การเกิดอาการเกี่ยวกับโรคทางจิตเวชนั้นอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองเป็นหลัก แต่ในบางคนอาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากปัจจัยนี้โดยตรง เพราะยังมีสาเหตุที่มาจากปัจจัยกระตุ้นทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม ตามรายละเอียดต่อไปนี้
1. สาเหตุจากปัจจัยทางกาย
สำหรับปัจจัยทางการที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า และโรคจิตเวชในผู้สูงอายุนั้นประกอบไปด้วยพฤติกรรม การใช้ชีวิต และเรื่องของความเจ็บป่วย เช่น
- ผู้ป่วยโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคที่มีอาการปวดเรื้อรังควบคุมไม่ได้ โรคที่ทำให้พิการหรือทุพพลภาพ
- ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม โรคพากินสัน หรือมีภาวะสมองฝ่อก่อนเวลาอันควร
- ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำหรือมีการรับประทานยาบางชนิด
- ผู้มีภาวะขาดวิตามิน B12, Folate และมีภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์
- ผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดัน หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง
2. สาเหตุจากปัจจัยทางจิตสังคม
ผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้าจากปัจจัยนี้ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายนอกร่างกาย อาจเป็นเหตุการณ์ หรือสถานการณ์บางอย่างที่มีผลกระทบต่อจิตใจและอารมณ์โดยตรง เช่น
- สูญเสียคู่ชีวิต คนในครอบครัว หรือบุคคลอันเป็นที่รัก
- ผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้
- ผู้ที่มีรายได้น้อยและมีปัญหาหนี้สิน
- การสูญเสียสถานะในครอบครัว หรือในสังคม
ผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อผู้สูงอายุมีภาวะซึมเศร้า
เมื่ออยู่ในภาวะซึมเศร้าแล้ว ผู้สูงอายุหลายคนจะเริ่มมีผลกระทบกับการใช้ชีวิตในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาพจิตผู้ป่วยซึมเศร้ามักจะหมดความสนใจในตัวเอง กินน้อยลง ไม่นอน ไม่ออกกำลังกาย เบื่อหน่ายกับทุกสิ่งในชีวิต หากภาวะนี้เกิดขึ้นกับผู้ที่มีโรคประจำตัวเดิมอยู่แล้วบางคนก็เลือกที่จะไม่ทานยาตามสั่ง ทำให้โรคมีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ผู้วัยที่มีอาการซึมเศร้าขั้นรุนแรงอาจจะรู้สึกไม่อยากอยู่และพยายามหาวิธีทำร้ายตัวเอง รวมถึงความรู้สึกหมดคุณค่าไม่อยากทำให้ครอบครัวต้องลำบากใจดูแล ดังนั้นเมื่อมีความรู้สึกว่าเข้าข่ายภาวะซึมเศร้าควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาดีที่สุด
แนวทางการรักษาโรคซึมเศร้า
เมื่อประเมินแล้วว่าเข้าข่ายที่จะมีภาวะซึมเศร้า ผู้ดูแลหรือตัวผู้สูงอายุควรเข้ารับการรักษาด้วยการปรึกษาแพทย์เพื่อให้ทราบถึงปัญหา และสาเหตุของความเจ็บป่วย ทั้งนี้สามารถแบ่งการรักษาออกเป็นสองรูปแบบตามสาเหตุปัจจัย ดังนี้
- ถ้าสาเหตุของโรคจิตเวชในผู้สูงอายุมาจากเรื่องจิตสังคม ครอบครัวและผู้ดูแลควรให้ความสนใจผู้ป่วยมากขึ้น รวมถึงการปรับเปลี่ยนความคิด ทัศนคติ และให้มองว่าโรคนี้ก็เป็นอาการเจ็บป่วยอย่างหนึ่งที่เป็นได้ก็หายได้ หรือหากมีอาการรุนแรงร่วมกับการนอนไม่หลับ คิดสั้น แพทย์อาจจะใช้การรักษาด้วยยาร่วมด้วย เมื่อความรุนแรงของอาการซึมเศร้าลดลงก็สามารถลดจำนวนยาหรือไม่ต้องใช้ยาได้
- หากสาเหตุของภาวะซึมเศร้ามาจากโรคเกี่ยวกับจิตเวชโดยตรง ต้องให้จิตแพทย์วินิจฉัยอาการ และความรุนแรง หากควบคุมตัวเองไม่ได้อาจต้องใช้ยาทางจิตเวชโดยตรงเพื่อบรรเทาอาการ
ดูแลสุขภาพจิตใจผู้สูงวัยอย่างไร ให้ห่างไกลโรคซึมเศร้า
สำหรับบ้านที่มีผู้สูงวัยแล้วรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ หรือต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์เศร้า การดูแลสุขภาพจิตใจเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อป้องกันภาวะซึมเศร้าสามารถใช้แนวทางต่อไปนี้ในการดูแลสุขภาพจิตผู้สูงวัยได้
- หากิจกรรมที่มีความเพลิดเพลินทำร่วมกัน ส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัวและช่วยให้ผู้สูงวัยรู้สึกว่าตนเองยังมีความสำคัญต่อครอบครัว
- ไม่ควรแสดงออกให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าการดูแลเป็นเรื่องยาก หรือเป็นภาระเพราะจะทำให้เกิดความรู้สึกหมดคุณค่า
- ควรซักถามเรื่องสุขภาพ ความเป็นอยู่ แลกเปลี่ยนเรื่องเล่าสนุกๆ ระหว่างกัน ยอมรับการตัดสินใจและให้เกียรติอยู่เสมอ
- สังเกตพฤติกรรม ความเปลี่ยนแปลง และภาวะทางอารมณ์อยู่เสมอ หากรู้สึกว่าผู้สูงวัยเริ่มมีอารมณ์เศร้ามากกว่าปกติควรสอบถามหรือรับฟังความรู้สึกเสมอ
สรุป ปัญหาสุขภาพจิต ภัยร้ายที่แก้ได้ด้วยการดูแลใจ
ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นโรคที่ดูรุนแรงหรือส่งผลต่อการเสียชีวิตในทุกคน แต่ก็เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก และอาจบานปลายไปสู่ปัญหาใหญ่ได้ไม่ต่างจากความเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆ ดังนั้นการให้ความสำคัญกับการดูแลจิตใจ ปรับเปลี่ยนทัศนคติในด้านต่างๆ ฝึกยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ได้ วิธีเหล่านี้ก็จะช่วยให้ห่างไกลจากปัญหาสุขภาพจิต และโรคจิตเวชอื่นๆ ในผู้สูงอายุได้
สำหรับครอบครัวที่มีผู้สูงอายุและต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด การค้นหาบ้านพักคนวัยเกษียณ หรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี พร้อมกับการดูแลด้านจิตใจในสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร ซึ่งที่ SaiJai.co เราได้รวบรวมศูนย์ดูแลผู้สูงวัยจากหลายพื้นที่มาให้คุณได้เลือกหาตามต้องการ พร้อมทั้งยังมีบทความสุขภาพเพื่อให้ผู้สูงอายุได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่างๆ และนำไปใช้ในการดูแลสุขภาพตัวเองได้อย่างเหมาะสมด้วย