การเตรียมตัวนอนโรงพยาบาลอาจเป็นส่วนสำคัญที่หลายๆ ครอบครัวอาจมองข้าม เพราะในบางสถานการณ์เราอาจจะมองว่าเมื่อผู้สูงอายุนอนโรงพยาบาล จะได้อยู่ใกล้ชิดผู้เชี่ยวชาญ จึงไม่จำเป็นต้องใส่ใจรายละเอียดมากนัก แต่รู้หรือไม่ว่า การที่ผู้สูงอายุหรือคนป่วยนอนโรงพยาบาลนั้นเป็นประสบการณ์ที่ค่อนข้างตึงเครียด สร้างความลำบากให้กับตัวผู้ป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ ในการอยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย และความกดดันต่างๆ
ดังนั้น สำหรับครอบครัวที่ต้องดูแลผู้สูงอายุนอนโรงพยาบาล การเตรียมตัวอย่างรอบคอบจะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างราบรื่นและลดความวิตกกังวลลงไม่มากก็น้อย บทความนี้ SaiJai.co จะให้คำแนะนำที่มีประโยชน์เกี่ยวกับการเตรียมตัวนอนโรงพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุ พร้อมแนวทางการดูแลผู้สูงอายุระหว่างที่นอนโรงพยาบาลที่เหมาะสม ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย!
สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุต้องนอนโรงพยาบาล
การที่ผู้สูงอายุต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมักเกิดจากสาเหตุทางด้านปัญหาสุขภาพที่หลากหลาย เนื่องจากผู้สูงอายุมีร่างกายที่อ่อนไหวกว่าคนหนุ่มสาว ระบบการทำงานต่างๆ ก็จะแข็งแรงน้อยลง และเสี่ยงต่อการเกิดโรคและอาการเจ็บป่วยต่างๆ ได้ง่ายขึ้น โดยปัจจัยด้านสุขภาพที่มักทำให้ผู้สูงอายุเจ็บป่วยรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาล ได้แก่
-
การติดเชื้อ ผู้สูงอายุมักมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอกว่าเมื่อก่อน ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย เช่น ปอดอักเสบ การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หรือติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล
-
โรคหัวใจและหลอดเลือด ปัญหาด้านหัวใจ เช่น หัวใจวาย หลอดเลือดอุดตัน หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้สูงอายุต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพราะเป็นโรคที่ต้องได้รับการสังเกตอาการจากผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด
-
โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ถุงลมโป่งพอง โรคหืด หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) มักทำให้เกิดอาการหายใจลำบากจนต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล
-
โรคหลอดเลือดสมอง ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ซึ่งมักเกิดจากการอุดตันหรือความเสียหายของหลอดเลือดในสมอง ทำให้จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาทันที
-
ภาวะกระดูกพรุน ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดกระดูกหักจากการหกล้ม (กระดูกพรุนกว่าคนหนุ่มสาว) ซึ่งหากกระดูกแตกหรือหัก อาจต้องเข้ารับการรักษาและพักฟื้นในโรงพยาบาลเป็นเวลานานจนกว่ากระดูกจะกลับมาแข็งแรงและเคลื่อนไหวได้สะดวก
-
ปัญหาทางสมองและจิตใจ ยกตัวอย่างเช่น โรคสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์หรืออาการหลงลืมต่างๆ ทำให้ผู้สูงอายุเกิดความสับสน หรือมีปัญหาทางจิตใจ อาจต้องเข้ารับการรักษาเพื่อควบคุมอาการหรือรักษาอาการเฉียบพลันที่อาจเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม สาเหตุเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาสุขภาพที่มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ ซึ่งบางกรณีอาจจำเป็นต้องรักษาอย่างเร่งด่วนในโรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัยและให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการรักษา ทั้งนี้ แนะนำให้ตรวจสุขภาพผู้สูงอายุเป็นประจำเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที และป้องกันไม่ให้โรคใดๆ ก็ตามที่แอบแฝงอยู่รุนแรงขึ้นจนต้องนอนโรงพยาบาล
การเตรียมตัวนอนโรงพยาบาล ต้องทำอย่างไร?
การเตรียมตัวนอนโรงพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้กระบวนการรักษาเป็นไปอย่างราบรื่น การเตรียมความพร้อมในแต่ละด้านอย่างละเอียดจะช่วยลดความกังวลของทั้งผู้ป่วยและครอบครัวได้ดี โดยจะมีรายละเอียดดังนี้
-
เตรียมเอกสารสำคัญของผู้สูงอายุ
เอกสารที่จำเป็นต้องเตรียมไปด้วยประกอบด้วยบัตรประจำตัวประชาชน ประกันสุขภาพ บัตรทอง หรือเอกสารประกันอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเอกสารเหล่านี้จะถูกใช้ในการลงทะเบียนรับสิทธิการรักษาและความคุ้มครองตามแผนประกัน หากผู้สูงอายุมีประวัติทางการแพทย์ที่สำคัญ เช่น ประวัติการผ่าตัด โรคประจำตัว หรือผลการตรวจสุขภาพล่าสุด ควรเตรียมเอกสารเหล่านี้ติดตัวไปด้วย เพื่อให้แพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้รวดเร็วยิ่งขึ้นและช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดข้อผิดพลาดในการรักษาได้อีกด้วย
-
พกยาประจำตัวของผู้สูงอายุไปด้วย
การนำยาที่ผู้สูงอายุใช้อยู่เป็นประจำติดตัวไปด้วยสำคัญมากเช่นกัน ซึ่งครอบครัวหรือผู้ดูแลควรทำรายการยาที่ผู้สูงอายุใช้อยู่เป็นประจำเผื่อเอาไว้เสมอ พร้อมระบุขนาดและเวลาที่ทานอย่างละเอียด เพราะรายการยานี้จะเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจสอบและจัดการเรื่องการใช้ยาให้เหมาะสมอย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้สูงอายุมียาที่ต้องใช้เป็นประจำแต่ทางโรงพยาบาลไม่มีเตรียมไว้ ทั้งนี้ ครอบครัวควรเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการแพ้ยาหรือผลข้างเคียงของยาที่เคยเกิดขึ้นด้วย เพื่อให้แพทย์ระมัดระวังในการสั่งยาใหม่หรือปรับเปลี่ยนแผนการรักษา
-
เตรียมของใช้ส่วนตัว
ผู้สูงอายุมักรู้สึกสบายใจกว่าเมื่อได้ใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า ชุดนอน อุปกรณ์ทำความสะอาดร่างกาย รองเท้า เครื่องนอน หรืออื่นๆ ครอบครัวควรเตรียมตัวนอนโรงพยาบาลพร้อมของใช้เหล่านี้อย่างรอบคอบ จะได้สะดวกต่อการเข้ารับรักษา และหากผู้สูงอายุต้องใช้แว่นตา เครื่องช่วยฟัง หรือไม้เท้า ควรแน่ใจว่าอุปกรณ์เหล่านี้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งาน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุหรือความไม่สะดวกในขณะที่คนป่วยนอนโรงพยาบาลด้วย
-
เตรียมพร้อมเรื่องการสื่อสาร
การสื่อสารกับครอบครัวและทีมแพทย์เป็นบทบาทที่สำคัญมากของผู้ดูแลผู้สูงอายุหรือครอบครัว โดยควรเตรียมโทรศัพท์มือถือที่ผู้สูงอายุคุ้นเคยกับการใช้งานพร้อมที่ชาร์จแบตเตอรี่ หากผู้สูงอายุมีปัญหาด้านการได้ยินหรือการพูด ควรเตรียมอุปกรณ์เสริม เช่น สมุดโน้ตสำหรับเขียนข้อความ หรือบัตรคำสำหรับใช้ในการสื่อสารกับทีมแพทย์ สิ่งนี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกปลอดภัย ไม่รู้สึกกดดันหรือตึงเครียดกับการสื่อสารสิ่งที่ต้องการ เพราะผู้สูงอายุมีความสามารถในการสื่อสารได้เองแม้คนดูแลหรือครอบครัวไม่ได้อยู่ใกล้ๆ
-
เตรียมความพร้อมทางจิตใจ
ความกังวลหรือความกลัวของผู้สูงอายุเกี่ยวกับการเป็นคนป่วยนอนโรงพยาบาลอาจทำให้การรักษายากขึ้น ดังนั้น การพูดคุยอธิบายขั้นตอนต่างๆ ให้ผู้สูงอายุเข้าใจ รวมถึงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาและบุคลากรที่จะทำหน้าที่ดูแลตัวผู้สูงอายุระหว่างนอนโรงพยาบาล จะช่วยให้ท่านรู้สึกมั่นใจและสงบใจมากขึ้น หรือจะเลือกนำสิ่งของที่ผู้สูงอายุคุ้นเคยและชื่นชอบ เช่น หนังสือที่ชอบ รูปถ่ายครอบครัว หรือหมอนใบโปรดไปด้วย จะช่วยสร้างความผ่อนคลายและทำให้รู้สึกเหมือนอยู่บ้าน การสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองและไม่เครียดระหว่างที่คนป่วยนอนโรงพยาบาลจะช่วยให้ผู้สูงอายุรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้ดีขึ้น
สิ่งที่ควรทำเมื่อนำผู้สูงอายุไปถึงโรงพยาบาล
เมื่อถึงโรงพยาบาล การดูแลและจัดการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้การรักษาของผู้สูงอายุเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างความสบายใจให้ทั้งสมาชิกในครอบครัวและตัวผู้สูงอายุเอง โดยมีขั้นตอนหลักที่ควรปฏิบัติเมื่อนำผู้สูงอายุมาถึงโรงพยาบาลดังนี้
-
ลงทะเบียนเข้ารับการรักษา
เมื่อมาถึงโรงพยาบาล ครอบครัวควรจัดการลงทะเบียนผู้ป่วยที่แผนกต้อนรับทันที พร้อมนำบัตรประจำตัวประชาชนและเอกสารประกันสุขภาพที่เตรียมมาเพื่อให้สามารถลงทะเบียนได้ครบถ้วนถูกต้อง และควรแจ้งเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับข้อมูลประวัติการรักษาหรือโรคประจำตัวของผู้สูงอายุนอนโรงพยาบาลอย่างละเอียด รวมถึงเอกสารหรือบันทึกเกี่ยวกับยาที่ใช้เป็นประจำ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถจัดการเอกสารได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำทันท่วงทียิ่งขึ้น
-
แจ้งข้อมูลทางการแพทย์ที่จำเป็น
เมื่อพบแพทย์ ควรแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุ ณ ตอนนั้นอย่างละเอียด เช่น อาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น โรคประจำตัวที่มีอยู่ และยาที่ใช้อยู่เป็นประจำ (แม้จะแจ้งเจ้าหน้าที่แล้ว แต่บางสถานการณ์ก็จำเป็นต้องแจ้งแพทย์โดยตรงเพื่อความรวดเร็ว) ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์ประเมินอาการและวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง หากผู้สูงอายุมีข้อจำกัดในการทานยาหรือแพ้ยาชนิดใด ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบทันทีด้วยเช่นกัน
-
จัดเตรียมของใช้ส่วนตัวและย้ายเข้าห้องพักผู้ป่วย
หลังจากการลงทะเบียนและได้รับคำสั่งจากแพทย์ ให้ดำเนินการย้ายผู้สูงอายุไปยังห้องพักผู้ป่วย โดยควรนำของใช้ส่วนตัวที่เตรียมมาจัดวางในห้องอย่างเป็นระเบียบ เช่น ชุดนอน ผ้าเช็ดตัว และอุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ ที่จำเป็นต่อคนป่วยนอนโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงได้ง่ายและรู้สึกสะดวกสบาย นอกจากนี้ ควรตรวจสอบความปลอดภัยในห้องพัก เช่น การจัดวางเตียงที่เหมาะสม อุปกรณ์ช่วยเดิน หรือระบบเรียกพยาบาลที่สามารถใช้งานได้ง่าย เผื่อกรณีฉุกเฉินด้วย
-
สื่อสารกับทีมแพทย์และพยาบาลเสมอ
การสื่อสารกับทีมแพทย์และพยาบาลเป็นสิ่งสำคัญในการติดตามอาการและทำตามแผนการรักษา ครอบครัวหรือผู้ดูแลควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับแผนการรักษาดังกล่าว เช่น การให้ยา การตรวจเพิ่มเติม การตรวจร่างกายรายวัน การสังเกตอาการหรือการดูแลเฉพาะด้านที่ต้องระวัง หากมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับกระบวนการรักษา ควรสอบถามทันทีเพื่อทำความเข้าใจและเพื่อความปลอดภัยของผู้สูงอายุที่นอนโรงพยาบาลเองด้วย
-
ตรวจสอบและปรับสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาล
ควรตรวจสอบสภาพแวดล้อมในห้องพักผู้ป่วยและปรับให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เช่น ปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสม นำสิ่งของที่ผู้สูงอายุชอบ เช่น หนังสือหรือหมอนส่วนตัวมาวางในห้อง เพื่อให้ผู้สูงอายุรู้สึกสบายและคุ้นเคย จะช่วยลดความเครียดของผู้สูงอายุและทำให้การพักฟื้นเป็นไปอย่างราบรื่น
การดูแลผู้สูงอายุในระหว่างการพักรักษาที่โรงพยาบาล
ระหว่างที่ผู้สูงอายุกำลังพักรักษาตัวในโรงพยาบาล การดูแลที่ใส่ใจทั้งทางกายและจิตใจเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก โดยมีหลายประเด็นที่ครอบครัวหรือผู้ดูแลควรให้ความสำคัญ เพื่อให้ผู้สูงอายุรู้สึกสบายและปลอดภัย รวมถึงสนับสนุนการรักษาของแพทย์ได้อย่างเต็มที่ด้วย ได้แก่
-
สร้างบรรยากาศที่คลายเครียด
ผู้สูงอายุมักมีความกังวลเมื่อต้องเป็นคนป่วยนอนโรงพยาบาล ผู้ดูแลและครอบครัวควรพูดคุยให้กำลังใจ และอธิบายขั้นตอนการรักษาให้ท่านเข้าใจอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยรู้สึกมั่นใจและผ่อนคลายมากขึ้น การอยู่เคียงข้างในช่วงเวลาสำคัญ เช่น การพบแพทย์หรือการตรวจร่างกาย จะช่วยลดความเครียดได้
-
ติดตามการใช้ยาและการรักษา
ครอบครัวหรือคนดูแลผู้สูงอายุควรติดตามการใช้ยาและการรักษาของผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิดเสมอ พร้อมทั้งแจ้งแพทย์หรือพยาบาลเกี่ยวกับอาการข้างเคียงหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการรักษา เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและปลอดภัย
-
ดูแลด้านโภชนาการด้วย
อาหารมีความสำคัญอย่างมากในระหว่างการพักรักษา เพราะสารอาหารที่เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายของผู้สูงอายุนอนโรงพยาบาลฟื้นตัวได้ดีขึ้น หากมีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับการกิน เช่น เบาหวาน ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเพื่อจัดเตรียมอาหารที่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้สูงอายุนอนโรงพยาบาล มักจะมีนักโภชนาการจัดเตรียมอาหารให้อยู่แล้ว ผู้ดูแลจึงไม่จำเป็นต้องเตรียมเอง และดูแลให้ผู้สูงอายุทานอาหารอย่างตรงเวลาก็เพียงพอ
-
รักษาความสะอาดและสุขอนามัย
ครอบครัวหรือผู้ดูแลควรดูแลสุขอนามัยของผู้สูงอายุ เช่น การเปลี่ยนเสื้อผ้า การอาบน้ำ การเช็ดตัวเป็นประจำ การแปรงฟัน บ้วนปาก หรือการทำความสะอาดส่วนอื่นๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อระหว่างการรักษา โดยเฉพาะกับผู้ป่วยนอนติดเตียงที่มักจะมีโอกาสเกิดแผลกดทับสูง นอกจากนี้ ควรรักษาความเป็นระเบียบในห้องพักเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการฟื้นฟูร่างกายด้วย
-
การเคลื่อนไหวและฟื้นฟูร่างกาย
การเคลื่อนไหวบ้างระหว่างการรักษาจะช่วยป้องกันภาวะกล้ามเนื้อลีบ และช่วยให้ระบบไหลเวียนทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้ดีกว่าเดิม แต่ทั้งนี้ ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลก็ควรออกกำลังกายและเคลื่อนไหวตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น การเดินเบาๆ หรือยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และถ้าจำเป็น ควรเข้ารับการทำกายภาพบำบัดตามที่แพทย์สั่งด้วย
-
สนับสนุนทางจิตใจ
การดูแลจิตใจเป็นสิ่งสำคัญที่ห้ามมองข้ามสำหรับผู้สูงอายุนอนโรงพยาบาล เพราะต้องอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่ค่อนข้างตึงเครียด เต็มไปด้วยผู้ป่วยและครอบครัวอื่นๆ ที่มีความกังวลสูง ดังนั้น ผู้ดูแลหรือครอบครัวของผู้สูงอายุเองก็ควรให้กำลังใจกันอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงจัดหากิจกรรมที่ท่านชอบทำ เช่น การอ่านหนังสือหรือดูโทรทัศน์ เพื่อไม่ให้รู้สึกเบื่อและลดความเครียดระหว่างนอนโรงพยาบาล
-
สื่อสารกับทีมแพทย์อย่างต่อเนื่อง
ผู้ดูแลควรติดตามแผนการรักษาและติดต่อกับทีมแพทย์อย่างต่อเนื่อง หากมีการเปลี่ยนแปลงหรืออาการผิดปกติ ควรสอบถามและแจ้งทีมแพทย์ทันที เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัยต่อตัวผู้สูงอายุ
การเตรียมออกจากโรงพยาบาล
การเตรียมออกจากโรงพยาบาลเป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องทำอย่างรอบคอบเช่นกัน เพราะแม้ผู้สูงอายุจะฟื้นตัวจากอาการเจ็บป่วยจนสามารถออกจากโรงพยาบาลแล้ว แต่ท่านก็ต้องการการปรับตัวและบางกรณีอาจจะต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตใหม่ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีการฟื้นฟูสุขภาพที่ดีต่อไปหลังจากการรักษา โดยมีหลายประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ดังนี้
-
รับข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพหลังออกจากโรงพยาบาล
ก่อนที่จะออกจากโรงพยาบาล ครอบครัวหรือผู้ดูแลควรสอบถามแพทย์หรือพยาบาลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุหลังการรักษาผ่านพ้นไปแล้ว เช่น วิธีการใช้ยา ตารางการใช้ยา และอาการที่ควรเฝ้าระวังหลังจากนี้ หากมีการกำหนดแผนการดูแลหรือการติดตามสุขภาพ ควรจดบันทึกให้ชัดเจนเพื่อปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง และเพื่อให้แพทย์ดำเนินการติดตามการรักษาต่อไปได้อย่างแม่นยำ
-
จัดเตรียมอุปกรณ์และยา
เมื่อออกจากโรงพยาบาล ผู้สูงอายุอาจต้องใช้ยาเป็นประจำหรืออุปกรณ์ช่วยในการฟื้นฟูสุขภาพ เช่น ไม้เท้า รถเข็น หรืออุปกรณ์กายภาพบำบัดชนิดต่างๆ ขึ้นอยู่กับแผนการรักษา ครอบครัวควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นเหล่านี้ไว้ที่บ้าน และต้องจัดเตรียมให้แน่ใจว่าผู้สูงอายุจะได้รับยาอย่างครบถ้วนตามที่แพทย์สั่ง
-
เตรียมสภาพแวดล้อมที่บ้านให้เหมาะสม
กรณีที่ผู้สูงอายุไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเต็มที่ในช่วงแรกหลังออกจากโรงพยาบาล ครอบครัวควรจัดเตรียมพื้นที่ในบ้านให้เหมาะสมสำหรับการฟื้นฟู เช่น การจัดให้มีที่นั่งที่สะดวกต่อการเข้าถึง มีแสงสว่างเพียงพอ และไม่มีสิ่งกีดขวางในการเดิน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกสบายใจในการกลับมาอยู่บ้านมากยิ่งขึ้นด้วย (สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ การจัดห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุ)
-
กำหนดตารางการติดตามผล
ส่วนใหญ่แล้ว มักจะมีการติดตามอาการหลังออกจากโรงพยาบาลเสมอ โดยเฉพาะผู้สูงอายุนอนโรงพยาบาลจากการเป็นโรคเรื้อรังหรือโรคร้ายแรง ดังนั้น ครอบครัวควรดูแลตารางการนัดหมายกับแพทย์เพื่อไปเข้ารับการตรวจติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ การตรวจสุขภาพเป็นระยะๆ จะช่วยให้แพทย์และครอบครัวสามารถเฝ้าระวังอาการหรือความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน และช่วยให้การฟื้นฟูหลังจากนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
-
การเตรียมความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิด
ควรมีการเตรียมความช่วยเหลือจากสมาชิกในครอบครัวหรือผู้ดูแลในช่วงแรกหลังออกจากโรงพยาบาล เพื่อให้แน่ใจว่าผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ได้อย่างถูกต้อง เช่น การช่วยทำอาหารหรือการทำความสะอาดบ้าน โดยเฉพาะกับครอบครัวที่ไม่มีเวลาหรือไม่สามารถให้การดูแลผู้สูงอายุหลังออกจากโรงพยาบาลได้อย่างเต็มที่
-
การให้การสนับสนุนทางจิตใจ
แม้จะออกจากโรงพยาบาลมาแล้ว ผู้สูงอายุก็อาจยังรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลเมื่อกลับบ้าน ครอบครัวจึงควรให้การสนับสนุนทางจิตใจอย่างใกล้ชิด โดยการพูดคุยและให้กำลังใจ ให้ท่านรู้สึกว่าตนเองไม่ได้เผชิญกับปัญหานี้เพียงลำพัง หรือจะเป็นการจัดกิจกรรมที่ทำให้ผู้สูงอายุท่านรู้สึกดีขึ้น เช่น การทำอาหารร่วมกัน หรือการพูดคุย การทำกิจกรรมเน้นความสนุกสนาน จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในบ้าน ทำให้ผู้สูงอายุสบายใจมากยิ่งขึ้น
สรุป เตรียมตัวนอนโรงพยาบาลไม่ยาก แค่ต้องให้ความใส่ใจ
การเตรียมตัวนอนโรงพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุ เป็นกระบวนการที่ต้องการการวางแผนและการดูแลอย่างดีจากครอบครัวหรือผู้ดูแลใกล้ชิด เพื่อให้ผู้สูงอายุรู้สึกปลอดภัยและสะดวกสบายในระหว่างการรักษา ซึ่งจะต้องใส่ใจตั้งแต่การเตรียมตัวนอนโรงพยาบาล การปฏิบัติตัวระหว่างผู้สูงอายุเข้ารับการรักษา ไปจนถึงการดูแลผู้สูงอายุหลังจากออกโรงพยาบาล
แต่ทั้งนี้ SaiJai.co เราเข้าใจดีว่าในบางสถานการณ์ ครอบครัวก็อาจจะไม่สามารถให้การดูแลผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ หรือไม่ทราบแนวทางการดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกต้องเท่าที่ควร ดังนั้น เราจึงรวบรวมบริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ไปจนถึงศูนย์พักฟื้นผู้สูงอายุเอาไว้ เพื่อให้ทุกครอบครัวที่มีผู้สูงอายุต้องดูแลสามารถเข้าถึงแหล่งให้ความช่วยเหลือเหล่านี้อย่างง่ายๆ แค่ไม่กี่คลิก! ดูเลยที่ SaiJai.co
แหล่งอ้างอิง
- https://www.tokiomarine.com/th/th/life/about-us/media-centre/need-to-prepare-when-staying-hospital.html
- https://www.snmri.go.th/visit-doctor/
- https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/our-services/opd-ipd/prepare/
- https://www.griswoldcare.com/blog/how-to-get-the-elderly-admitted-to-the-hospital/
- https://news.unchealthcare.org/2015/07/5-tips-for-elderly-loved-on-emergency-department/